ส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดไม่เกินม.ค.65

16 ต.ค. 2562 | 05:55 น.

กพอ.แถลงการประชุมครั้งที่ 10 รฟท.เผยพร้อมส่งพื้นที่ - รื้อย้ายสาธารณูปโภคครบภายใน ม.ค.65

 

ส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดไม่เกินม.ค.65

วันนี้( 16 ต.ค.62)  ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 10/2562 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาและรับทราบความคืบหน้า โดยมีรายละเอียดสำคัญ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนาม  (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เผยว่า การประชุมในวันนี้ กพอ.เห็นชอบ แผนการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โดยแผนการส่งมอบพื้นที่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญาในระยะเวลาดังนี้

ส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดไม่เกินม.ค.65

1.พื้นที่โครงการฯ พญาไท - สุวรรณภูมิ หรือเส้นทางแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ระยะทาง 28 กม.พร้อมส่งพื้นที่ทันทีในวันที่เอกชนคู่สัญญาชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนแก่ รฟท. โดยต้องชำระภายใน 2 ปี (ภายในตุลาคม 2564)

2.พื้นที่โครงการฯ สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม.พร้อมส่งพื้นที่ภายใน 1 ปี 3 เดือน หรือไม่เกิน 2 ปีหลังจากลงนามสัญญาร่วมทุน (ภายในมกราคม 2564)

3.พื้นที่โครงการฯ พญาไท - ดอนเมือง ระยะทาง 22 กม.พร้อมส่งพื้นที่ภายใน 2 ปี 3 เดือน หรือไม่เกิน 4 ปีหลังจากลงนามสัญญาร่วมทุน (ภายในมกราคม 2565)

 

โดยหากเป็นไปตามแผนโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 สอดรับกับการสร้างสนามบินอู่ตะเภาอย่างไรก็ตามหากกรณีส่งคืนพื้นที่ช้าและรื้อย้ายไม่ทันตามกำหนด จะขยายเวลาให้เอกชนทำงาน

นายวรวุธ มาลารองผู้ว่าการ ในฐานะรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)  เผยว่า ด้านแผนการรื้อย้ายสาธารณูปโภค หน่วยงานในพื้นที่เขตทางรถไฟ ต้องรับผิดชอบรื้อย้ายโดยเร็ว ซึ่งแผนดังกล่าวจากพญาไท - สุวรรณภูมิ และจากลาดกระบัง - อู่ตะเภา จะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี 3 เดือนหรือไม่เกิน 2 ปี หลังจากลงนามสัญญา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นี้ได้แก่ กปน. กปภ. กฟผ. กฟน. กฟภ. ปตท. และบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด ต้องรับผิดชอบรื้อย้าย

 

ด้านพื้นที่จากพญาไท - ดอนเมือง จะเร่งรัดดำเนินการรื้อย้ายแล้วเสร็จภายใน 2 ปี 3 เดือน หรือไม่เกิน 4 ปี หลังจากลงนามสัญญา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นี้ได้แก่ กปน. กทม. กฟน. กฟผ.  ปตท. บริษัท ขนส่งน้ำมันท่อ จำกัด และ รฟท. ต้องรับผิดชอบรื้อย้าย ทั้งนี้ทุกการรื้อย้ายสาธารณูปโภคจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของ กบอ. โดย สกพอ. และ รฟท.

การประชุมเพื่อพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะช่วยให้เกิดความชัดเจนในการส่งคืนพื้นที่และรื้อย้ายสาธารณูปโภคที่เป็นอุปสรรคสำคัญในโครงการ ที่สำคัญการประชุมในครั้งนี้ยังเป็นแผนแรกของไทยที่มีรายละเอียดการส่งพื้นที่และการรื้อย้ายที่ชัดเจน และจะเป็นโมเดลให้โครงการในอนาคตนำไปปรับใช้ เราเชื่อมั่นว่าสามารถเซ็นสัญญาร่วมกับเอกชนได้ตามกำหนดนายคณิต เผยทิ้งท้าย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

● รฟท.ไม่กังวลเซ็นไฮสปีด ยันเดินตามTOR

● รฟท.ยันไม่แก้สัญญาไฮสปีดทำไปจ่ายไป