ผงะ! 'เหล็ก' 60 ล้านตัน จ่อทะลัก 'อาเซียน'

09 มี.ค. 2561 | 07:55 น.
1443

ปริมาณเหล็ก 50-60 ล้านตัน มุ่งสู่ประตูอาเซียน หลังอเมริกาจ่อเก็บภาษีอากรขาเข้าเหล็กทุกประเภท 25% วงการเหล็กแนะรัฐเร่งดูแลมาตรการที่ค้าง ห่วงเหล็กกลุ่มที่ไม่มีมาตรการทางการค้าสู้ไม่ได้

ผู้ผลิตเหล็กภายในประเทศเตรียมรับมือกับการต่อสู้ในอุตสาหกรรมเหล็กอีกครั้ง หลังจากที่พักยกกับการรับมือเหล็กนำเข้าจากจีนไปชั่วขณะ ล่าสุด กำลังจะกลับไปสู่โหมดเดิมและอยู่ในสถานการณ์ที่น่าห่วงยิ่งขึ้น เพราะปริมาณเหล็กจากทั่วโลกไม่เฉพาะแต่จีนที่จะมุ่งหน้าบุกตลาดอาเซียน หากต้องเผชิญกับผลกระทบจากมาตรา 232 ของสหรัฐอเมริกา ต่ออุตสาหกรรมเหล็กไทย


appchina-steel

ต่อเรื่องนี้ นายวิกรม วัชรคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลการพิจารณาทางเลือกการไต่สวนการนำเข้าสินค้าเหล็กของสหรัฐอเมริกา ที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ตามมาตรา 232 ของกฎหมาย Trade Expansion Act of 1962 กรณีสินค้าเหล็ก ที่ในเบื้องต้น สหรัฐอเมริกากำลังพิจารณาดำเนินการ 3 ส่วนหลัก คือ

1.จะเก็บภาษีอากรนำเข้าเหล็กทุกชนิดเพิ่มขึ้น 25%
2.กำหนดโควต้าการนำเข้าที่ 63% ของระดับการนำเข้าในปี 2560
3.กำหนดภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก 53% ในทุกผลิตภัณฑ์สำหรับการนำเข้าจาก 12 ประเทศ ซึ่งรวมไทยด้วย

แม้ว่าล่าสุดยังไม่มีการพันธงว่า ใน 3 มาตรการนี้ สหรัฐฯ จะใช้มาตรการไหนหรือไม่ใช้มาตรการใดเลย และขึ้นอยู่กับการเจรจากับแต่ละประเทศ แต่ก็เป็นประเด็นที่กำลังสร้างความวิตกกังวลต่อผู้ผลิตเหล็กในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทย

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงที่รอการพิจารณาดำเนินมาตรการดังกล่าว กลุ่มเหล็กมีข้อกังวลว่า ถ้าผลการพิจารณาเกิดขึ้นจริง นับจากนี้ไป ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะรับศึกหนัก เนื่องจากจะมีปริมาณเหล็กมากว่า 50-60 ล้านตัน ทะลักเข้ามายังตลาดอาเซียน ซึ่งรวมถึงไทยด้วย โดยปริมาณเหล็กดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ส่วน ที่ต้องจับตา คือ

1.ปริมาณเหล็กจากจีนและจากประเทศอื่น ๆ รวมกัน เข้ามาในตลาดอาเซียนด้วยยอดรวมราว 40 ล้านตันต่อปี
2.เป็นปริมาณเหล็กที่เคยมุ่งเข้าสู่ตลาดอเมริกา จำนวน 27.03 ล้านตัน จะมีแนวโน้มทะลักเข้ามายังตลาดอาเซียนแทน รวมถึงประเทศไทยและตลาดอื่น ๆ ทั่วโลก

หลังจากที่อเมริกาพิจารณา 3 มาตรการดังกล่าว จะทำให้ 8 ประเทศ ประกอบด้วย เกาหลีใต้ ตุรกี ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน รัสเซีย เวียดนาม อินเดีย ที่เคยมียอดส่งออกเหล็กไปยังอเมริกา ส่งเข้ามาขายยังตลาดอาเซียนและประเทศอื่น ๆ ในโลกมากขึ้น


appWR1

“รัฐบาลจะต้องเร่งในการดูแลมาตรการเก่า ๆ ที่ค้างอยู่ เช่น การดำเนินมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ เอดีท่อเหล็ก เร่งประกาศออกมาให้เร็วขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วจะกระทบต่อผู้ผลิตไทย นอกจากนี้ ภายในอาทิตย์หน้าจะมีการประชุมของสมาคมเหล็กโลกด้านเศรษฐกิจที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ก็จะมีการยกประเด็นผลกระทบจากมาตรา 232 ของสหรัฐอเมริกา ต่ออุตสาหกรรมเหล็ก หารือด้วย”

นายกรกฎ ผดุงจิตต์ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า รัฐบาลไทยและกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กจำเป็นต้องเร่งผลักดันมาตรการช่วยเหลือ โดยเฉพาะกับเหล็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะส่งเข้ามาตีตลาดไทยมากขึ้นในอนาคต คือ กลุ่มเหล็กเส้น เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เนื่องจากไม่มีมาตรการทางการค้า รวมถึงเหล็กชนิดอื่น ๆ ที่ยังไม่มีมาตรการใด ๆ ปกป้อง


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8-10 มี.ค. 2561 หน้า 02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทำไมต้อง ‘เหล็ก’
ผู้ผลิตเหล็กหวั่น มาตรา 232! ดัน ‘เหล็กนอก’ ทะลักเข้าไทย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว