ทำไมต้อง‘เหล็ก’

08 มี.ค. 2561 | 23:05 น.
TP10-3346-1B การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผลหลักๆนอกเหนือจากการใช้มาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย และการลงทุน ก็คือการกระตุ้นการก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ จีนก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้การกระตุ้นการก่อสร้างมาอย่างต่อเนื่อง และเห็นชัดเจนมากในช่วงระหว่างและหลังวิกฤติการเงินโลกในปี 2008 จีนได้สนับสนุนให้เกิดการก่อสร้างทั้งหลายไม่ว่าจะที่อยู่อาศัย ทางด่วน รถไฟความเร็วสูง และเป็นการกระตุ้นที่มีขนาดใหญ่มหาศาล

ซึ่งไม่เพียงแต่จีนเท่านั้น ทั่วโลกก็ใช้มาตรการในทำนองนี้เช่นกัน อย่างในสหรัฐอเมริกา นอกเหนือจากใช้กลไกดอกเบี้ยตํ่าหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ก็มีการออกนโยบายก่อสร้างถนน สะพาน และการก่อสร้างอะไรๆหลายๆอย่างเช่นกันครับ

การก่อสร้างทั้งหลายทั้งมวลนั้นแน่นอนว่า “เหล็ก” ต้องเข้ามามีบทบาทในการก่อสร้างแทบจะทุกๆอย่าง ไม่ว่าจะอาคาร สะพาน ทางรถไฟ และจากการกระตุ้นการก่อสร้างระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคนี้เอง ที่ทำให้จีนต้องผลิตเหล็กออกมาเพื่อรองรับโครงการเหล่านั้นเป็นปริมาณมหาศาล และผลิตเหล็กออกมาจนเข้าข่าย “โอเวอร์ซัพพลาย” หรือภาวะอุปทานล้นตลาดนั่นเอง

TP10-3346-B ว่ากันว่า จากปี 2003 จีนผลิตเหล็ก ได้ที่ราว 278 ล้านตัน มาถึงปี 2016 ปริมาณเหล็กที่จีนผลิตได้นั้นพุ่งขึ้นเป็น 1,120 ล้านตัน อุปทานเหล็กของจีนเพิ่มขึ้นมากกว่า 300% ครับ

และจีนนี่แหละครับ ที่ถูกชาติตะวันตกมองว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเหล็กล้นตลาดโลก เหล็กราคาถูกจากจีนไหลไปทั่วโลกด้วยเช่นกัน เหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยคิดเป็น 1 ใน 3 ก็มาจากจีนครับ ปัญหาเหล็กจีนราคาถูกทุ่มตลาดในหลายประเทศถูกมองว่า เป็นปัญหาโลก ในปี 2016 นั้น ทั่วโลกสามารถผลิตเหล็กได้ทั้งหมด 1,670 ล้านตัน แต่กระนั้นปริมาณเหล็กที่ผลิตออกมาทั่วโลกก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หากยังจำกันได้ ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ นายทรัมป์ได้พูดถึงนโยบายเศรษฐกิจสำคัญไว้ไม่กี่อย่าง อย่างแรก ก็คือ การปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลเพื่อจูงใจให้เอกชนสหรัฐฯกลับมาตั้งฐานการผลิตในประเทศดังเดิม ซึ่งทรัมป์ ก็ทำไปแล้ว และอีกนโยบายสำคัญก็คือ การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันการทุ่มตลาดจากสินค้าราคาถูกจากจีน และได้ยกตัวอย่าง “เหล็ก” นั่นเอง

และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้ประกาศเตรียมที่จะขึ้นภาษีเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศแล้วเป็น 25% และขึ้นภาษีอะลูมิเนียม 10% ซึ่งหากมีการประกาศใช้เป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ ก็จะถือว่าเป็นมาตรการกีดกันการค้าที่เป็นตัวเป็นตนมาตรการแรกของสหรัฐฯภายใต้การกุมบังเหียนของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ครับ

TP10-3346-3B แต่นโยบายนี้ ทรัมป์เลือกที่จะใช้นโยบายหว่านแห คือเรียกเก็บจากทุกประเทศที่ส่งออกเหล็กไปยังสหรัฐฯเท่าๆ กันที่ 25% ผลจากนโยบายนี้ก็จะไปกระทบบรรดาพันธมิตรของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะยุโรป หรือ ออสเตรเลีย รวมถึงไทย ที่ส่งออกเหล็กแปรรูปไปยังสหรัฐฯด้วย

โดนัลด์ ทรัมป์ ถึงกับใช้อำนาจตามมาตรา 232 ก่อนหน้านี้ ให้ทำการสอบสวนครับว่าการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศนั้นกำลังเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติหรือไม่ และนี่ก็คือที่มาว่า เพราะเหตุใดทรัมป์ จึงเตรียมใช้ “กำปั้นเหล็ก” ทุบสินค้าเหล็กราคาถูกจากต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาการทุ่มตลาดในสหรัฐฯ แม้ว่าบรรดาพันธมิตรของสหรัฐฯจะได้รับผลกระทบไปด้วย และถือว่าเป็นการใช้มาตรการที่เสี่ยงอย่างมากที่สหรัฐฯเองจะถูกตอบโต้จากประเทศอื่นๆ

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2 กลับมาที่จีนครับ ต้องบอกว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ จีนเองก็พยายามลดการผลิตเหล็กลง ไม่ว่าจะเป็นการควบรวมกิจการเหล็กขนาดเล็กเข้ากับบริษัทใหญ่ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่ได้ผลนัก และแน่นอนว่า นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลกระทบต่อเหล็กราคาถูกจากจีนโดยตรงด้วย แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาไม่กี่ปีนั้น ปริมาณการส่งออกเหล็กของจีนไปยังสหรัฐฯจะเริ่มลดลงบ้างแล้วครับ

แล้วเหล็กจีนจะไปไหน .... คำถามนี้ไทยเองก็ต้องถามตัวเอง และรับมือได้แล้วล่ะครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว