ปฐมบทแห่งแผนทีไออีบี (4) ภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าหรือไม่?

17 ก.ย. 2560 | 23:07 น.
TP07-3297-1 ความเดิมจากตอนที่แล้ว ผมได้ทิ้งประเด็นด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศโดยเฉพาะภาคใต้ และทางเลือกเชื้อเพลิงใดจะเหมาะสมกับการผลิตไฟฟ้า ในตอนนี้ ผมจะขอขยายความถึงมูลเหตุ และเล่าถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ที่สำคัญของการใช้พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ว่ามีเพียงพอหรือไม่อย่างไร รวมถึงทางเลือกเชื้อเพลิงที่จะเหมาะสมกับโรงไฟฟ้าในพื้นที่ด้วย

โดยปัจจุบันในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งครอบคลุม 14 จังหวัดนั้น ตามข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พบว่า ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ 3,089 เมกะวัตต์ และมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีก อยู่ที่ 2,713 เมกะวัตต์ ซึ่งจะฉายภาพให้เห็นได้ว่ามีความเสี่ยงจากกำลังผลิต และการใช้ใกล้เคียงกันระดับปริ่มนํ้า

ในภาคใต้จะมีโรงไฟฟ้าหลักที่สามารถสั่งการได้ (Firmed) และเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมงรวม 2,406 เมกะวัตต์ โดยมาจากโรงไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช กำลังผลิตไฟฟ้า 930 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจะนะ 2 หน่วย ในจังหวัดสงขลา กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 1,476 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้ง 2 โรงไฟฟ้าใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก นอกจากนั้น จะเป็นโรงไฟฟ้าจากพลังงานนํ้า เช่น ที่โรงไฟฟ้าพลังนํ้าเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี โรงไฟฟ้าเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องปริมาณนํ้าที่ไม่เพียงพอในบางฤดูกาลและไม่สามารถเดินเครื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมง และกลุ่มโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุน เวียน (SPP) กำลังผลิตประมาณ 29 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าประเภทที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าตามสั่งการได้ (Non firm) และภาคใต้ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางเฉลี่ยวันละ 200-600 เมกะวัตต์ ซึ่งมีความเสี่ยงจากระยะทางส่งที่ยาวไกล

สำหรับโรงไฟฟ้ากระบี่ในปัจจุบัน ซึ่งใช้เชื้อเพลิงนํ้ามันเตา ก็จะมีต้นทุนการผลิตสูง และจะใช้เป็นโรงไฟฟ้าเดินเครื่องเสริมระบบ เฉพาะกรณีที่มีการซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าหรือแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติตามแผน ซึ่งไม่สามารถรองรับการช่วยระบบฉุกเฉินได้

จะเห็นได้ว่า การผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ จะพบความเสี่ยงต่อการใช้ไฟฟ้าไม่เพียงพอ หากขาดการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพึ่งพาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติจาก 2 โรงไฟฟ้าใหญ่ ซึ่งในแต่ละปีจะต้องพบความเสี่ยงจากการหยุดซ่อมบำรุงทั้งจากตัวโรงไฟฟ้าเอง การหยุดซ่อมบำรุงประจำปีจากแหล่งก๊าซในอ่าวไทย และเหตุการณ์ที่ต้องหยุดเดินเครื่องฉุกเฉินของแหล่งก๊าซ อย่างที่เกิดขึ้นล่าสุดในกรณีแหล่งเจดีเอ เอ 18 จะเห็นได้ว่าเพิ่มความเสี่ยงจากการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอเพิ่มมากขึ้นทุกปี

นอกจากนี้ ผมจะขอขยายภาพความเสี่ยงจากกรณีโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ให้เห็นภาพยิ่งขึ้น โดยเมื่อมองจากแผนที่ภาคใต้ จะเห็นว่าในฝั่งตะวันออก ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าที่เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ อย่างโรงไฟฟ้าขนอม และโรงไฟฟ้าจะนะ ซึ่งจะต้องรับก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเจดีเอเป็นหลัก และหากแหล่งก๊าซเกิดซ่อมบำรุงดังกล่าว จะทำให้โรงไฟฟ้าจำเป็นต้องหยุดเดินเครื่อง และหากจะนำนํ้ามันดีเซลมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทน โรงไฟฟ้าก็จะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากการไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อรองรับเชื้อเพลิงดังกล่าว

และเมื่อมองกลับมาที่ฝั่งตะวันตกหรือฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นเหมือนห้องรับแขกในด้านการท่องเที่ยวของไทย จากทรัพยากรทางทะเลที่สวยงามอย่างจังหวัดกระบี่ และภูเก็ต ก็พบกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะมีเพียงโรงไฟฟ้ากระบี่ ที่ใช้นํ้ามันเตาเป็นเชื้อเพลิงเป็นโรงไฟฟ้าหลัก มีกำลังผลิต 315 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้กว่า 800 เมกะวัตต์ และในพื้นที่ซึ่งมีการท่องเที่ยวเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ภาคใต้บริเวณนี้ อาจต้องพบกับความเสี่ยงด้านไฟฟ้าไม่เพียงพอเพิ่มขึ้น

ผมจะขอแยกประเด็นความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ และขอแสดงทรรศนะเพื่อชวนให้ท่านผู้อ่านได้คิดตามไป เพื่อให้รู้ถึงเหตุผลและความจำเป็นต่างๆ โดยขอแยกเป็น 4 ประเด็น ได้แก่

1. ภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าหรือไม่ จากสถานการณ์ปัจจุบัน เห็นว่าควรอย่างยิ่ง เพราะจากเหตุผลที่ผมไล่ เลียงภาพของการผลิตไฟฟ้า และการใช้ในพื้นที่ภาคใต้ จะเห็นได้ว่า ภาคใต้ถึงเวลาแล้วที่ควรจะมีโรงไฟฟ้าในพื้นที่เพิ่มเติม เพราะกำลังผลิตในปัจจุบันจะไม่เพียงพอในอนาคต ที่เศรษฐกิจใน พื้นที่ภาคใต้จะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

2. ถ้าควรมีโรงไฟฟ้า จะต้องตั้ง บริเวณใด จึงจะเหมาะสม สำหรับบริเวณที่เหมาะสมซึ่งควรมีโรงไฟฟ้า คือฝั่งอันดามัน จากสาเหตุที่ได้กล่าวมาข้างต้นคือ ในพื้นที่บริเวณนี้มีความเปราะบางจากการที่มีเพียงโรงไฟฟ้ากระบี่ที่ใช้เชื้อเพลิงนํ้ามันเตาเป็นโรงไฟฟ้าหลัก รวมทั้งเมื่อมองถึงโอกาสของภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง ทำให้เพิ่มความจำเป็นในการตั้งโรงไฟฟ้าเป็นอย่างยิ่ง เพื่อลดผลกระทบความเสี่ยงจากการใช้ไฟฟ้าไม่เพียงพอในพื้นที่

3. ควรใช้เชื้อเพลิงใด จากการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากโรงไฟฟ้าหลักโดยเฉพาะที่โรงไฟฟ้าขนอม และโรงไฟฟ้าจะนะ เมื่อเกิดเหตุต้องหยุดซ่อมบำรุงจากแหล่งก๊าซ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเกิดความเสี่ยงอย่างมาก ดังนั้นจึงควรกระจายความเสี่ยงด้วยการเพิ่มทางเลือกเชื้อเพลิง ซึ่งเชื้อเพลิงปัจจุบันที่มีความเสี่ยงน้อย และสามารถช่วยให้โรงไฟฟ้าเดินเครื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมง และมีความมั่นคงในการจัดหานั้น คำตอบยังคงอยู่ที่ เชื้อเพลิงถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด

4. ถ้าหากไม่ได้ตั้งโรงไฟฟ้าที่ จ.กระบี่ จะเป็นที่ใด กรณีที่หากไม่สามารถเกิดโรงไฟฟ้าที่ จ.กระบี่ ได้ ในความคิดเห็นของผม เชื่อว่าบริเวณที่มีการสำรวจและมีความเหมาะสม ได้แก่ พื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP 2015 เช่นกัน

โดยทั้ง 4 ประเด็นดังกล่าวถือเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า กระทรวงพลังงานในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง พร้อมจะได้นำเสนอสถานการณ์ข้อเท็จจริงต่อภาพรวมพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้า โดยอนาคตของการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่นั้น จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านด้วยความระมัดระวัง โดยการดำเนินการใดๆ จะเกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด และยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ

ในตอนต่อไป ผมจะได้กลับมาเล่าถึงภาพรวมของแผนทีไออีบีอีกครั้ง โดยเฉพาะแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 5 แผนหลักของแผนทีไออีบี ที่มีความสำคัญไม่แพ้กับแผนอื่นๆ โปรดติดตามครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,297 วันที่ 17 - 20 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1