เงินดิจิทัล 10,000 เสี่ยงผิดพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ?

15 ต.ค. 2566 | 04:24 น.

เงินดิจิทัล 10,000 บาท หนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งเป้าผลักดันโครงการออกมาให้ได้ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคม

ท่ามกลางเสียงคัดค้านของนักเศรษฐศาสตร์ ที่มองว่าการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทเป็นนโยบายที่ "ได้ไม่คุ้มเสีย" เพราะใช้งบประมาณจำนวนมากกว่า 5 แสนล้านบาท แถมยังสร้างบรรทัดฐานแจกเงิน เพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงวินัยและเสถียรภาพการคลังในระยะยาว

ขณะที่องค์กรตรวจสอบอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ “ป.ป.ช.” และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ “สตง.” ก็ตั้งทีมขึ้นมาตรวจสอบนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยพุ่งเป้าไปที่ความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาการทุจริต หรือส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืนของฐานะทางการเงินการคลังของรัฐตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

โดยเฉพาะกรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดนำเงินนอกงบประมาณ ที่ไม่ถูกนับรวมอยู่ในบัญชี "หนี้สาธารณะ" มาใช้ในการดำเนินโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ด้วยการขยายกรอบวงเงินการก่อหนี้การใช้เงินนอกงบประมาณ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 จากปัจจุบันกำหนดเพดานไว้ที่ 32% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ปรับเพิ่มเป็น 45%

เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลมีภาระผูกพันจากการดำเนินโครงการนโยบายของรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยรวมกว่า 1,039,920 ล้านบาท มีวงเงินคงเหลือใช้ได้เพียง 18,000 ล้านบาท ไม่พอที่จะนำไปแจกเงินดิจิทัล จึงต้องขยายกรอบการก่อหนี้การใช้เงินนอกงบประมาณเพิ่มเป็น 45% ซึ่งจะทำให้วงเงินเพิ่มการก่อหนี้ในปีงบประมาณ 2567 เพิ่มจาก  1,072,000 ล้านบาท เป็น 1,566,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 494,000 ล้านบาท

เมื่อรวมกับงบประมาณที่รัฐบาลได้จัดสรรเพื่อชำระคืนหนี้ในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 104,472 ล้านบาท จะทำให้วงเงินคงเหลือที่สามารถใช้ได้ 598,472 ล้านบาท 

จากนั้นก็จะให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เข้าใจว่าเป็นธนาคารออมสิน ไปกู้เงินจากตลาดเงินมาสำรองจ่ายไปก่อน แล้วรัฐบาลจะทยอยตั้งงบประมาณจ่ายหนี้คืนให้ภายหลัง ซึ่งตามแผนที่วางไว้จะจ่ายหนี้คืนให้หมดภายในปี 2570


 

นับเป็นวิธีเสกเงินที่แยบยล แต่สุ่มเสี่ยงต่อการไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 อย่างยิ่ง 

เศรษฐา ทวีสิน

หากเจาะลึกในเนื้อหา พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จะพบว่ากฎหมายฉบับนี้กำหนดหน้าที่ของรัฐ และคณะรัฐมนตรี ต้องรักษาวินัยเกี่ยวกับเงินแผ่นดินไว้อย่างเคร่งครัด และที่สำคัญคือต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว ดังนี้

หน้าที่ของรัฐ

มาตรา 6 รัฐต้องดําเนินนโยบายการคลัง การจัดทํางบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ตามหลักการรักษาเสถียรภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และหลักความเป็นธรรมในสังคม และต้องรักษาวินัยการเงินการคลังตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

มาตรา 7 การกู้เงิน การลงทุน การตรากฎหมาย การออกกฎ หรือการดําเนินการใด ๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย

มาตรา 8 รัฐพึงเสริมสร้างวินัยให้ประชาชนเสียภาษีอากรให้ครบถ้วนตามกฎหมาย

หน้าที่คณะรัฐมนตรี

มาตรา 9 คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้อย่างเคร่งครัด

ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทํางบประมาณ การจัดหารายได้การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ

คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว

พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 9 วรรค2

นอกจากนี้ในมาตรา 28 ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้เงินนอกงบประมาณ โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐสำรองจ่ายเงินไปก่อน แล้วรัฐบาลตั้งงบประมาณจ่ายหนี้คืนให้ภายหลังทำได้เฉพาะ 3 กรณีเท่านั้น คือ

1.เพื่อฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ

2.เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

3.เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยหรือการก่อวินาศกรรม

คำถามที่ตามมาจากการดำเนินนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท คือ

นโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีการรักษาวินัยการเงิน การคลังเกี่ยวกับเงินแผ่นดินไว้อย่างเคร่งครัด?

นโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองให้กับพรรคเพื่อไทย ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว?

นโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่จะใช้เงินนอกงบประมาณ โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐสำรองจ่ายเงินไปก่อน แล้วรัฐมาตั้งงบประมาณชดเชยให้ภายหลัง สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กฎหมายบัญญัติให้นำมาใช้ได้เฉพาะ การฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยหรือการก่อวินาศกรรม?

คือคำถามที่รัฐบาลต้องตอบสังคมให้ชัดเจน