รุมต้านเงินดิจิทัล“ได้ไม่คุ้มเสีย”อันตรายต่อเศรษฐกิจ

11 ต.ค. 2566 | 08:00 น.

นักวิชาการ-กูรูด้านเศรษฐกิจ-ส.ว. รุมต้าน “แจกเงินดิจิทัล” 10,000 บาท ได้ไม่คุ้มเสีย หวั่นกระทบเศรษฐกิจ-ประชาชนระยะยาว เปรียบยื่นน้ำผึ้งเคลือบยาพิษให้ประชาชน "กรณ์" เตือน"อันตรายต่ออนาคตเศรษฐกิจไทย

เป็นเรื่องที่จะดำเนินการได้ไม่ใช่ง่าย ๆ เลย สำหรับนโยบายแจกเงินดิจทัล 10,000 บาท ของ รัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน

เพราะมีหลายฝ่ายเริ่มทยอยออกมาส่งเสียงดังๆ ท้วงติง คัดค้าน เป็นวงกว้าง หลังรัฐบาลบรรจุให้เป็น 1 ใน 5 นโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการหลังการเข้าบริหารประเทศ เพื่อหวังให้เม็ดเงินทำหน้าที่เป็นตัวกระตุกเศรษฐกิจของประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง 

เบื้องต้นมีกระแสข่าวคือ วันที่ 1 ก.พ. 2567 นี้ ประชาชนคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน จะได้รับเงินผ่านกระเป๋าดิจิทัล คนละ 10,000 บาทกันถ้วนหน้า รวมวงเงิน 560,000 ล้านบาท

เงินดิจิทัลได้ไม่คุ้มเสีย  

คนที่ออกมาต่อต้านและมีน้ำหนักมากที่น่าจะรับฟังในการคัดค้านเรื่องนี้ ก็ประกอบด้วย นักวิชาการ 99 คน อาทิ นายวิรไท สันติประภพ, ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, รศ.ดร.อัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ดร.บัณฑิต นิจถาวร อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

นอกจากนั้น ยังมีนักวิชาการร่วมลงชื่อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดไม่ต่ำกว่า 130 ราย และมีชื่อของ ศ.ดร.เมธี ครองแก้ว อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมด้วย

โดยทั้งหมดร่วมลงชื่อออกแถลงการณ์คัดค้าน และเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ด้วยเหตุผลที่ว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย”   

“กรณ์”ชี้อันตรายต่อศก. 

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านในเรื่องนี้ โดยชี้ว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลเป็นนโยบายที่คิดมาไม่ละเอียด หวังผลทางการเมืองมากกว่าการพัฒนา และเป็นแนวนโยบายที่อันตรายต่ออนาคตเศรษฐกิจของเราอย่างมาก

“เพื่อไทยยังสามารถปรับแนวคิด และเบนทรัพยากรไปสู่การแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน และการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อช่วยภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป ในการเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในด้านเทคโนโลยี ด้านสังคมสูงอายุ และด้านพลังงานหมุนเวียน หรือยังไม่ต้องรีบกู้เงินก้อนนี้ก็ได้ เก็บกระสุนไว้ก่อน ไว้จำเป็นจริงๆ ค่อยว่ากัน”

นายกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลนี้มีความมั่นคงมากกว่าที่คนคิด เพราะแรงเสียดทานทางการเมืองหายไปมาก จากการผสมผสานข้ามขั้ว หากใช้ทุนทางการเมืองในทางที่บ้านเมืองได้ประโยชน์ ความกังขาในที่มาของรัฐบาลจะถูกมองข้าม

เพราะผมเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่พร้อมยอมรับทุกรัฐบาลที่สร้างประโยชน์ให้กับเขา ทุกรัฐบาลมีตำนาน เขาเรียกว่า legacy ขึ้นอยู่กับท่านนายกฯ ว่าคนจะจำรัฐบาลนี้อย่างไร" อดีต รมว.คลัง ระบุ 

น้ำผึ้งเคลือบยาพิษ

ขณะที่เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ช่วงหารือ พบว่า มี ส.ว.หลายคนทักท้วงถึงการเดินหน้าทำโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาล เนื่องจากกังวลถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและประชาชนระยะยาว พร้อมเสนอแนะให้ถอยโครงการดังกล่าว

นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. หารือว่า โครงการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล มองว่าเป็นโครงการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ม.162 เนื่องจากไม่ชี้แจงรวมถึงแถลงแหล่งที่มาของเงินทุนที่จะนำมาใช้ รวมถึงสุ่มเสี่ยงขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 ซึ่งกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพการเงินการคลังของรัฐ 

นอกจากนั้นแล้ว ส่อขัดกับกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ  ที่กำหนดว่า ครม.ต้องไม่บริหารราชการแผ่นดิน ที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจระยะยาว

อย่างไรก็ดี ทราบว่ารัฐบาลจะให้ธนาคารออมสินรับโครงการดังกล่าวไปดำเนินการแทนโดยใช้เงินของธนาคาร รวม 5.6 แสนล้านบาท และรัฐบาลจะชดเชยให้ภายหลัง ตนพิจารณาพ.ร.บ.ธนาคารออมสิน แล้วมองว่าการดำเนินการดังกล่าวจะขัดกับกฎหมายของธนาคาร

“ผมขอให้รัฐบาลพิจารณาให้รอบคอบ หากจะทำเพราะได้หาเสียงไว้ ควรพิจารณาข้อกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญและกฎหมายการเงินการคลัง หากทำผิดพลาดใครจะรับผิดชอบ แม้จะบอกว่าประชาชนต้องรับผิดชอบ

แต่ผมมองว่าผู้รับผิดชอบคือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง ในฐานะประธานวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมถึง ครม. ผมขอให้ดูโครงการรับจำนำข้าวเป็นตัวอย่าง ขอให้นำความเห็นผู้ที่คัดค้านไปปรับปรุงแก้ไข” นายเฉลิมชัย กล่าว

เช่นเดียวกับ นายถวิล เปลี่ยนศรี ส.ว. ที่ย้ำว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลเป็นนโยบายที่เป็นปัญหา และไม่ถูกต้องด้วยกาลเทศะ เพราะภาวะเศรษฐกิจไทยไม่อยู่ในภาวะที่ต้องกระตุ้นมากนัก

ดังนั้น ควรเน้นเสถียรภาพมากกว่าการสร้างภาระหนี้สินให้รัฐในอนาคต อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ รวมถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยท้วงติง ตนมองว่ารัฐบาลควรรับฟังเหตุผล

“รัฐบาลยืนยันทำโครงการ โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของประชาชน ผมว่าไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง หากสิ่งใดเป็นพิษต้องไม่ตามใจประชาชน นายกฯ เหมือนหมอที่รักษาไข้ราษฎร หมอให้ยาพิษเคลือบน้ำผึ้งกับคนไข้ไม่ได้ ประชาชนย่อมไม่รู้ถึงพิษที่เกิดขึ้นจากนโยบายนี้ 

ผมเสนอแนะว่า รัฐบาลต้องกล้าหาญและยอมรับสารภาพความจริงกับประชาชนว่าไม่ทำโครงการนี้ ความมุ่งมั่นทำโครงการนี้ไม่ใช่เรื่องกล้าหาญ แต่เป็นเรื่องดื้อรั้นไม่มีเหตุผล ดังนั้นยังมีเวลาจะทบทวน ผมหวังนายกฯ จะรับฟังเสียงท้วงติง” นายถวิล กล่าว

                            รุมต้านเงินดิจิทัล“ได้ไม่คุ้มเสีย”อันตรายต่อเศรษฐกิจ

ค้านเหวี่ยงแหทุกกลุ่ม

ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. หารือว่า สินทรัพย์ หรือ เงินดิจิทัลที่ ใช้ตลาดเก็งกำไรทั่วโลก เป็นความเสี่ยงหากรัฐบาลจะเข้าไปรับประกันมูลค่าและนำเข้าสู่การซื้อขายเงินคริปโต เพราะมีกรณีของบิตคอยน์ ที่พบว่า มีมูลค่าขึ้นสูงสุด  6.9 หมื่นเหรียญสหรัฐ แต่วันนี้เหลือ 2.7หมื่นเหรียญสหรัฐ และบิตคอยน์นั้นเชื่อว่า อยู่ในกกลุ่มของฟอกเงินของนักพนัน ผู้ค้าของเถื่อน หลบเลี่ยงภาษีทั่วโลก ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรมองแค่ผลบวกอย่างเดียว  และไม่ควรเอาประเทศไปเสี่ยงในวงการดังกล่าว

“ผมไม่เห็นด้วยที่จะแจกเงินแบบเหวี่ยงแหทุกกลุ่ม เพราะเป็นนโยบายที่ไม่สร้างความเป็นธรรม และทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง ดังนั้นรัฐบาลควรจะทำคือ เน้นการใช้จ่ายภาครัฐ การส่งออก รวมถึงเน้นการลงทุนภาครัฐ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์

+++

ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน 

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนักวิชาการออกมาคัดค้านนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่า เรื่องดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล ขณะนี้อย่านึกว่าเศรษฐกิจของเราดี เพราะเมื่อเทียบกับต่างประเทศหลังยุคโควิดเขาฟื้นตัวเกินหน้าเราไปแล้ว ขณะที่ของเราค่อยๆ ขยับช้าๆ แสดงว่าเศรษฐกิจเราไม่ได้ดี

อย่างที่พูดกันความสำคัญเรื่องนี้ต้องถามประชาชน มาตรการสำคัญคือทำอย่างไรให้สังคมส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นมาตรการหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเศรษฐกิจโดยรวม ที่ผ่านมาเราลดค่าใช้จ่ายประชาชนด้านพลังงานไปแล้ว การพักหนี้เกษตรกรก็ตามมา อีกด้านหนึ่งเราพยายามสร้างรายได้

เมื่อถามย้ำว่าจะมีการทบทวนการจ่ายให้คนอายุ 16 ปีทุกคนหรือไม่ เพราะบางคนเป็นลูกคนรวย หรือจะเปลี่ยนวิธีจ่ายเงินมาใช้ทางเป๋าตังที่มีฐานข้อมูลอยู่แล้วหรือไม่ นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า จะเปลี่ยนทำไม หลักการสำคัญตอนคิดนโยบายเพื่อให้ประโยชน์ทั้งหมด และได้มีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ 

“เราต้องมาดูว่าจะบริหารจัดการกันอย่างไร ทิศทางเราเห็นแล้วแต่รายละเอียดที่เกี่ยวกับข้อจำกัดทั้งเรื่องกฎหมาย การบริหารการเงินจะต้องทำอย่างไร ที่ผ่านมารัฐบาลไทยรักไทย ทำให้ประเทศที่เป็นหนี้สินประเทศเกือบล้มละลาย กลับมาคืนหนี้ได้ก่อนกำหนด 2 ปี ซึ่งเราคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังอย่างดีและสร้างรายได้จนประเทศพ้นวิกฤติ ยืนยันเราเป็นห่วงที่สุดเรื่องวินัยการเงินการคลัง”

ส่วนจะตอบประชาชนอย่างไรกับการแจกเงินให้ลูกเศรษฐี นพ.พรหมินทร์ ตอบว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นมีสิทธิเท่ากัน แต่คนเลือกไม่รับก็ไม่เป็นไร