ปฏิรูปภาษีความมั่งคั่งก้าวสำคัญสู่ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

17 พ.ค. 2568 | 00:00 น.

ปฏิรูปภาษีความมั่งคั่งก้าวสำคัญสู่ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4097

ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลก ยังเผชิญกับความผันผวนและเศรษฐกิจไทยเติบโตตํ่า การปฏิรูปภาษี กลายเป็นวาระแห่งชาติที่ไม่อาจมองข้ามได้ กระทรวงการคลังได้ประกาศแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ของรัฐต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จาก 14% เป็น 18% เพื่อให้ภาครัฐมีรายได้ที่เพียงพอสำหรับรองรับภาระค่าใช้จ่าย และสามารถสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน 

แนวทางการปฏิรูปภาษีครั้งนี้ เน้นยํ้าการลดความเหลื่อมลํ้าในสังคม โดยศึกษาการจัดเก็บ “ภาษีความมั่งคั่ง” หรือ Net Wealth Tax ซึ่งจะเป็นการเก็บภาษีจากผู้ที่ถือครองทรัพย์สินจำนวนมาก เพื่อให้ระบบภาษีสะท้อนความมั่งคั่งที่แท้จริงของแต่ละบุคคล การปฏิรูปในลักษณะนี้ถือเป็นการเฉือนเนื้อเจ้าสัว ที่ครอบครองทรัพย์สินมหาศาล โดยไม่สอดคล้องกับภาระภาษีที่เหมาะสม และจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม

กระทรวงการคลังยังให้ความสนใจและศึกษาการใช้ “Negative Income Tax” (ภาษีรายได้เชิงลบ) เพื่อดูแลและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างเป็นระบบมากขึ้น

โดยแนวคิดนี้ คือ การจัดเก็บภาษีจากผู้ที่มีรายได้เกินเกณฑ์ ในขณะที่รัฐจะให้สวัสดิการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้ตํ่ากว่าเกณฑ์ ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมลํ้า และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

การขยายฐานภาษีสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เช่น ธุรกิจออนไลน์และคริปโตเคอเรนซี เป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการเพิ่มรายได้ของรัฐ กระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาปรับปรุงระบบบริหารจัดเก็บภาษีให้มีความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น รวมถึงการศึกษารูปแบบการจัดเก็บภาษีแบบเหมาจ่ายสำหรับผู้มีรายได้ตํ่ากว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบธุรกิจรายเล็กเข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง 

กรมสรรพากรเองก็เผชิญความท้าทายในการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2568 จากการประเมินเบื้องต้น พบว่า การจัดเก็บรายได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ยังตํ่ากว่าเป้าหมายประมาณ 90,000 ล้านบาท กรมจึงเร่งดำเนินงานอย่างเข้มข้น ทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภายนอกกว่า 80 แห่ง เพื่อดึงผู้มีเงินได้ที่ยังไม่เข้าสู่ระบบภาษีอีกประมาณ 4 ล้านคน เข้าสู่ฐานภาษีอย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังผลักดันบริการดิจิทัล ที่ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีเป็นไปอย่างไร้รอยต่อในยุค Tax Administration 3.0 ซึ่งเป็นการบูรณาการระบบภาษีเข้ากับระบบธุรกิจ และชีวิตประจำวันของผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บข้อมูลเป็นแบบเรียลไทม์ และลดแรงเสียดทานในการปฏิบัติตามกฎหมาย 

การปฏิรูปภาษีครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับรัฐเท่านั้น แต่ยังเป็นการวางรากฐานเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมไทย ลดความเหลื่อมลํ้า และกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกและความท้าทายใหม่ๆ ที่ประเทศไทยต้องเผชิญ 

การเดินหน้าปฏิรูปภาษี จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตและพัฒนาไปสู่อนาคตที่มั่นคงและเท่าเทียม

หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,097 วันที่ 18 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2568