โครงการสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex กำลังเป็นประเด็นร้อนในสังคมไทย ด้วยเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มุ่งหวังจะใช้เป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ล่าสุดรัฐบาลเปิดให้ “คนกลาง” เป็นผู้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย แทนที่จะเป็นผู้จัดเอง เพื่อป้องกันข้อครหาว่ามี “ธง” กำหนดไว้ล่วงหน้า
เมื่อพิจารณาเนื้อหาเอกสารจากสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ที่รวบรวมข้อมูลผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบของการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร แสดงให้เห็นว่า ประเด็นนี้มีทั้งโอกาสและความท้าทาย การเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ในแง่โอกาส Entertainment Complex สามารถเป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้กับประเทศ ช่วยลดการรั่วไหลของเงินที่คนไทยนำไปเล่นพนันในประเทศเพื่อนบ้าน สร้างงาน สร้างรายได้ และหากบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ยังสามารถลดปัญหาการพนันผิดกฎหมายที่แพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งจากสถิติระหว่างปี 2564-2565 มีคดีเกี่ยวกับการพนันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 59.88
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่สำคัญที่สุด คือ การบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ เพราะปัญหาของประเทศไทยไม่ใช่เพียงการไม่มีกฎหมาย แต่เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่หละหลวม ขาดประสิทธิภาพ จนทำให้สาธารณชนไม่มั่นใจว่า จะสามารถควบคุมผลกระทบทางลบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เอกสารของวุฒิสภาชี้ชัดถึงปัญหาในการปราบปรามการพนันผิดกฎหมาย ว่า แม้จะมีการเข้าทลายบ่อน จับกุม หรือปิดเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่ผิดกฎหมาย แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถจับกุมและลงโทษเจ้ามือ เจ้าของบ่อนพนัน เจ้าของสถานที่ หรือแม้แต่เจ้าของเว็บไซต์พนันได้ ส่วนหนึ่งอาจเพราะกฎหมายล้าหลัง ไม่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน และที่สำคัญคือ ขาดความศักดิ์สิทธิ์ในการบังคับใช้
การทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ต้องประกอบด้วยหลายองค์ประกอบ ทั้งการมีบทลงโทษที่เหมาะสม การไม่มีข้อยกเว้นหรือช่องโหว่ให้ผู้มีอิทธิพลหลบเลี่ยง การบังคับใช้อย่างเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ รวมถึงระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ
หากไม่สามารถสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับกฎหมายได้ ความเสี่ยงด้านลบจาก Entertainment Complex ก็มีโอกาสเกิดขึ้นสูง ไม่ว่าจะเป็นการฟอกเงิน การทุจริตคอร์รัปชัน หรือผลกระทบทางสังคมต่างๆ
นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร และ นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พยายามสร้างความเชื่อมั่นว่าจะควบคุมผลกระทบด้านลบอย่างเข้มงวด แต่คำถามที่ต้องตอบให้ชัดเจนคือ รัฐบาลมีกลไกอย่างไร ในการทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ปราศจากการแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลทางการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ หรือ กลุ่มทุน
หัวใจสำคัญของความสำเร็จคือ “ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย” รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถออกแบบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่มีการใช้อำนาจ หรือ อิทธิพลแทรกแซง และมีบทลงโทษที่เด็ดขาดต่อผู้กระทำผิดทุกระดับโดยไม่มีข้อยกเว้น เพราะหากกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ ทุกมาตรการป้องกันที่ร่างไว้อย่างดีก็จะกลายเป็นเพียงตัวอักษรไร้ความหมาย
หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษกิจ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,094 วันที่ 8 - 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568