เหรียญสองด้าน“ปลดล็อกแอลกอฮอล์-ช่วยเหยื่อเมาแล้วขับ”

14 พ.ค. 2568 | 06:20 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ค. 2568 | 06:45 น.

เหรียญสองด้าน“ปลดล็อกแอลกอฮอล์-ช่วยเหยื่อเมาแล้วขับ” : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,096

ถือเป็นรัฐบาลที่มีการปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์มากที่สุดชุดหนึ่ง เห็นได้จากในช่วงระยะเวลาเพียง 4-5 เดือนที่ผ่านมา มีการปรับแก้กฎหมายแทบจะทุกเดือน

สดๆ ร้อนๆ กับการที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการ ร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังเสนอ ทั้งในเรื่องของการขยายโอกาสให้โรงเบียร์ Brew Pub เบียร์สดและคราฟต์เบียร์ สามารถบรรจุถัง Keg ออกขายนอกสถานที่ได้ ช่วยสร้างรายได้ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสุรารายย่อย สามารถขยายตลาดทางการค้าและมีการเติบโตทางธุรกิจได้ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ยังอนุมัติให้แก้ไขปัญหาสุราชุมชนไกลแหล่งนํ้า โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้งโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลาง สามารถตั้งอยู่ห่างจากแหล่งนํ้าสาธารณะน้อยกว่า 100 เมตรได้ โดยให้มีระบบบำบัดนํ้าเสียที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม

ขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ สามารถตั้งโรงอุตสาหกรรมขนาดกลางได้ทันที โดยไม่ต้องรอเป็นโรงอุตสาหกรรมขนาดเล็ก 1 ปี เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการค้าให้กับผู้ประกอบการสุรารายย่อย

ขณะที่สัปดาห์ก่อนคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ปรับปรุงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2567 โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไป และราชกิจจานุเบกษา ได้ออกเป็นประกาศ เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกฮอลล์ พ.ศ. 2568

สาระสำคัญและกลายเป็นข้อถกเถียงอย่างหนัก คือ ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และ วันออกพรรษา ยกเว้นการขาย

1. ในอาคารที่ให้บริการแก่ผู้โดยสารภายในสนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ

2. ในสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ

3. ในสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่หรือบริเวณที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว (ตามที่สธ. กำหนดโดยคำแนะนำของกระทรวงมหาดไทย)

4. ในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

และ 5. ในสถานที่ซึ่งใช้จัดกิจกรรมพิเศษระดับชาติหรือนานาชาติ และมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกัน (ตามที่สธ.กำหนดโดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ สภาผู้แทนราษฎร์ ก็มีมติเห็นชอบพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับที่ ... พศ.. ... ซึ่งมาตราที่คนสนใจและจับตามองมากที่สุด เห็นจะเป็น มาตรา 32 ห้ามผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสดงชื่อ หรือ เครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งที่ประชุมสภาฯ ได้ลงมติไม่เห็นด้วย 371 เสียง เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง ส่งผลให้เป็นการปลดล็อก และ สามารถประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะ เหล้า-เบียร์ ได้

 รวมถึงการที่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีมติเห็นชอบให้อนุญาตจัดกิจกรรมที่สามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ภายในสถานีรถไฟหัวลำโพงในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ตามที่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ ให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการพิจารณาอนุญาต

เหรียญมีสองด้าน เมื่อปลดล็อกกฎหมายเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว การเพิ่มมาตรการช่วยเหลือ “เหยื่อ” จาก “เมาแล้วขับ” คืออะไร เมื่อต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินแบบประเมินค่าไม่ได้ ...

หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,096 วันที่ 15 - 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2568