นโยบายกำแพงภาษีของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สร้างความสั่นสะเทือนไปทั้งโลก ซึ่งไทยหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบ และอาจเสียเปรียบการแข่งขันกับประเทศในแถบอาเซียน เพราะเมื่อดูไส้ในสินค้ายังแยกย่อยภาษี แม้ว่าจะเป็นประเภทเดียวกัน แต่อัตราภาษีแต่ละประเทศแตกต่างกัน
ขณะท่าทีของ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี นอกจากจะผนึกความร่วมมือกับประเทศอาเซียน เดินหน้าเจรจากับผู้นำสหรัฐฯ แล้ว ยังต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นการด่วน ภายหลัง ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประเมินเศรษฐกิจโลกฉบับเดือนเมษายน 2568 ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของ “ประเทศไทย” ในปี 2568 จาก 2.9% เหลือเพียง 1.6% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ตํ่าที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน (ไม่รวม สิงคโปร์ และ บรูไน ส่วน เมียนมา เป็นเคสเฉพาะที่เกิดสงครามกลางเมืองภายในและแผ่นดินไหวรุนแรง) หลังจากก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดจีดีพี ปี 2568 จาก 2.9% เหลือ 1.8% โดยมีสมมติฐานจาก “ภาษีทรัมป์”
ล่าสุด มูส์ดี้ (Moody) หน่วยงานวัดระดับ หรือสถานะทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก เคยจัดเครดิตเรตติ้งให้แก่ประเทศไทยที่ระดับ Baa1 ที่เรียกว่า มีเสถียรภาพ (Stable) เปลี่ยน มาเป็น ติดลบ (Negative)
เมื่อแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศเป็นเช่นนี้ ขุนคลัง ที่ชื่อ “พิชัย ชุณหวชิร” นั่งนิ่งไม่ไหว เร่งระดมหาแหล่งเงินกู้ในประเทศ วงเงิน 5 แสนล้านบาท เป็นการด่วน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ไม่ให้ “ดิ่งลงก้นเหว” ประเมินว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะทำเกิดแรงขับเคลื่อน โดยจะโฟกัสเม็ดเงิน 3 ส่วน คือ 1.การกระตุ้นการบริโภค 2.การลงทุนในประเทศ 3.การออกซอฟต์โลน ที่ต้องออกเป็น พระราชบัญญัติ ผลักดันเข้าสู้สภาฯ สมัยหน้า
ขณะเดียวกัน เท่าที่สอบถาม หน่วยงานราชการจะเสนอโครงการเพื่อเข้าร่วมใช้งบ กระจายเม็ดเงินลงระบบเศรษฐกิจฐานราก เช่น แหล่งนํ้า ถนน ซึ่งทุกกระทรวง ทบวง กรม ต่างพูดเป็นเสียงเดียวว่า ไม่ทราบเรื่องและไม่ทราบเงื่อนไขในรายละเอียด ดังนั้น จึงประเมินไม่ได้ว่าจะเสนอของบเพื่อกระต้นเศรษฐกิจจ้างงานจ้างอาชีพอย่างไร
และในทางปฏิบัติ หากกู้เกินเพิ่มเติม มา 5 แสนล้านบาท จะพยุงเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน หลังจากก่อนหน้านี้ โครงการแจกเงิน10,000 บาท สำหรับผู้สูงอายุกับคนพิการไปแล้ว และเดินหน้าแจกต่อ เพื่อเป็นพายุหมุนเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้หมุนจริง ซึ่งการกู้เงินครั้งนี้ก็เช่นกัน ต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ต้องการให้รัฐบาลกู้เงินมาแจกแล้วไม่ออกดอกออกผล และในที่สุดกลายเป็นหนี้ที่ประชาชนคนเสียภาษีต้องแบกรับภาระ
ขณะท่าทีของ “ลวรณ แสงสนิท” ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันฐานะการคลังไทยว่า ยังมีความเข้มแข็ง การกู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะกระทบหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นประมาณ 3% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 64.21% โดยเรื่องเพดานหนี้ไม่ใช่สาระสำคัญ เนื่องจากหลายประเทศมีหนี้สาธารณะสูงถึง 80-100% และยังไม่ได้มีการสรุปว่า จะใช้โครงการใดบ้าง
หลังจากนี้จะต้องรอดูการสรุปโครงการก่อน น่าจะมีความชัดเจนในเดือนพฤษภาคม 2568 ที่สำคัญแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ ยังไม่สรุปว่าจะเป็นการกู้หรือไม่ แต่สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งเกลี่ยเงินงบประมาณ, งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.5 แสนล้านบาทที่เหลืออยู่ รวมทั้งใช้สถาบันการเงินของรัฐเข้ามาปล่อยสินเชื่อเพื่อเติมเงินเข้าเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง
โดยสรุปเงินกู้ กระตุ้นเศรษฐกิจ 5 แสนล้านบาท จะเกิดขึ้นหรือไม่และเดินไปทางไหนต้องติดตาม!!
หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,093 วันที่ 4 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2568