แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากปัญหาโควิด-19 อย่างยั่งยืน (2)

27 ก.พ. 2566 | 05:22 น.

ในบทความนี้จะกล่าวถึงการจัดการปัญหาในระดับ Known-unknowns หรือ การถอดแบบวิกฤติการณ์โควิด-19 ออกมาเป็นต้นแบบในการจัดการกับวิกฤติการณ์ที่คล้ายคลึงกับโควิด-19 ในอนาคต

เมื่อพิจารณาย้อนหลังถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันจะพบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดสามารถจำแนกออกได้เป็นการแพร่ระบาดรวม 5 ระลอก แบ่งได้เป็น

1. การแพร่ระบาดครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศ

2. การแพร่ระบาดครั้งที่ 2 เกิดจาก Cluster ที่สมุทรสาคร และเชียงใหม่/เชียงราย

3. การแพร่ระบาดครั้งที่ 3 เกิดจาก Cluster หลากหลายกลุ่ม

4. การแพร่ระบาดครั้งที่ 4 เกิดจากสายพันธุ์ Delta

5. การแพร่ระบาดครั้งที่ 5 เกิดจากสายพันธุ์ Omicron

รูปแสดงสถานการณ์การแพร่ระบาด ทั้ง 5 ระลอก

เมื่อนำเอาแต่ละช่วงของการแพร่ระบาดมาถอดเป็นบทเรียนที่คล้ายคลึงกัน จะพบว่า การตัดสินใจเชิงนโยบาย หรือ policy decision จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาของการแพร่ระบาด ซึ่งแยกออกได้เป็น 4 ส่วน ดังนี้

1. ช่วงก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง

ในช่วงก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาด โจทย์ในเชิงนโยบายที่สำคัญ จะเป็นโจทย์ทางด้านสุขภาพเป็นหลัก โดยภาครัฐจะต้องเลือกพิจารณาถึงขนาดและความรุนแรงของปัญหาเพื่อวางกลยุทธ์ในการรับมือที่เหมาะสม

ทางเลือกในเชิงนโยบาย สามารถแยกออกได้เป็น 2 เส้นทางที่สำคัญ คือ หากพิจารณาว่าเป็นปัญหาที่ขนาดไม่ใหญ่ สามารถที่จะควบคุมปัญหาได้โดยง่าย ก็จะเน้นไปที่การใช้อำนาจของ พ.ร.บ. โรคติดต่อ (2558) ซึ่งให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาผ่านการออกมาตรการทางด้านการควบคุมการแพร่ระบาดเป็นการเฉพาะเพื่อจัดการกับปัญหา

ในทางตรงกันข้าม หากพิจารณาว่าประเด็นปัญหาเป็นปัญหาที่ขนาดใหญ่ ไม่สามารถที่จะควบคุมได้โดยง่าย ภาครัฐควรจะเน้นไปที่การใช้อำนาจของ พรก. ฉุกเฉิน (2548) ซึ่งให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เข้ามาจัดการปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพ และควรจัดตั้งทีมทางด้านสุขภาพเป็นการเฉพาะเพื่อรับมือประเด็นทางด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง

การพิจารณาทางเลือกในส่วนนี้ ควรจะต้องอาศัยข้อมูลในทางวิชาการเข้ามาประกอบการตัดสินใจ เช่น โมเดลประมาณการสถานการณ์การแพร่ระบาด SEIR Model ร่วมกับข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดในระดับนานาชาติ

2. ช่วงที่การแพร่ระบาดเริมเพิ่มสูงขึ้นในวงกว้าง

เมื่อการแพร่ระบาดเริ่มเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงมากขึ้น โจทย์ในเชิงนโยบายจะมีความซับซ้อน และต้องดำเนินการในหลากหลายกิจกรรม ดังนี้

หนึ่ง การจัดตั้งทีมทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม เพื่อเข้ามารวบรวมข้อมูล และจัดทำนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ช่วยบรรเทาสถานการณ์ผลกระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

สอง การพิจารณาโจทย์ในเรื่องของการควบคุมการแพร่ระบาดซึ่งแบ่งออกได้เป็น โจทย์ในการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อลดการแพร่ระบาด โดยเน้นไปที่หลักการ “สุขภาพต้องมาก่อนเสรีภาพ” เช่น มาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ มาตรการเคอร์ฟิว มาตรการยกเว้นการเดินทางข้ามพื้นที่ มาตรการยกเว้นการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในบางสาขา (เช่น ผับ บาร์ คาราโอเกะ) รวมไปถึงการกำหนดรูปแบบการดำเนินกิจกรรม เช่น จำนวนผู้รับบริการที่เหมาะสม ซึ่งการกำหนดนโยบายในส่วนนี้ ต้องอาศัยการร่วมมือกันระหว่างทีมทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพ ในการกำหนดความเหมาะสมของการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และออกมาตรการเยียวยาที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับความเป็นธรรม และยินดีที่จะทำตามมาตรการของภาครัฐ และโจทย์ในการกำหนดรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ช่วยลดการแพร่ระบาด เช่น มาตรการ DMHTTA (อยู่ห่างไว้ ใส่แมสก์กัน หมั่นล้างมือ วัดอุณหภูมิ ตรวจหาเชื้อ และใช้แอพพลิเคชั่น) มาตรการ Fit to fly มาตรการ Travel Bubble

สาม ระบบการศึกษามีแนวโน้มที่จะต้องเรียนแบบ on-line หรือแบบทางไกล ทำให้ทีมที่ดูแลทางด้านสังคม ต้องออกมาตรการในการดูแลกลุ่มที่เปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ขาดสารอาหารเนื่องจากยากจนและต้องพึ่งพาอาหารกลางวันที่โรงเรียน เด็กที่ไม่สามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์ได้ รวมไปถึงเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา

สี่ กลุ่มแรงงานมีแนวโน้มที่จะย้ายถิ่นสูง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน และปัญหาการว่างงานแฝง (มีงานทำแต่ไม่ได้ทำงาน หรือทำงานแต่ไม่ได้มีรายได้) ทีมเศรษฐกิจและสังคมต้องเข้าไปดำเนินการช่วยลดทอนปัญหาให้เบาบางลง โดยทำการสำรวจสถานการณ์และจัดสรรแรงงานไปยังสาขาที่ขาดแคลน รวมไปถึงการอาศัยโอกาสในช่วงนี้เร่งฝึกฝนฝีมือแรงงานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในตลาดแรงงานในอนาคต

ห้า การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวจะเกิดปัญหา เนื่องจากพรมแดนมีแนวโน้มที่จะถูกปิด และแรงงานต่างด้าวไม่ได้รับสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล รวมไปถึงการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ทีมสังคมต้องเข้ามาดำเนินการร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า (เช่น การต่อใบอนุญาตทำงาน พาสปอร์ต) และผลักดันให้แรงงานต่างด้าวได้รับการคุ้มครองสิทธิทางด้านสุขภาพเช่นเดียวกันกับคนไทย มาตรการในลักษณะนี้ คล้ายคลึงกับกรณีของสหรัฐฯ ที่มีการฉีดให้กับคนบนผืนแผ่นดินทุกคนไม่ว่าจะเข้าเมืองมาแบบผิดกฎหมายหรือไม่ก็ตาม

หก เศรษฐกิจในภาพรวมในระยะนี้มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาในวงกว้าง ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการในการกระตุ้นไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่วิกฤติ ทีมเศรษฐกิจต้องทำหน้าที่ในสองส่วนที่สำคัญ คือ การวิเคราะห์ความเหมาะสมของการกู้เงินเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งต้องพิจารณาถึงผลได้ในระยะสั้น เทียบกับ ต้นทุนทางด้านการคลังในระยะยาว และความเสี่ยงต่อฐานะทางการคลังของประเทศ และการวิเคราะห์ความเหมาะสมในระดับนโยบายที่ต้องมีการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ คุ้มค่างบประมาณ และมีประสิทธิผล คือ ตรงไปยังกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบในระดับที่สูง โดยมีตัวอย่างนโยบายที่เหมาะสม เช่น โครงการคนละครึ่ง การเติมเงินในบัตรสวัสดิการของรัฐ และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และมีตัวอย่างที่ไม่เหมาะสม คือ โครงการช้อปดีมีคืน

เจ็ด ในช่วงที่วิกฤติมีความรุนแรง มักจะพบกลุ่มผู้ที่แสวงหาโอกาสจากวิกฤติโดยการเอารัดเอาเปรียบคนอื่นในสังคม เช่น การกักตุนสินค้าและบริการที่จำเป็น เช่น อาหาร ยารักษาโรค หน้ากากอนามัย เจลทำความสะอาด ทีมสังคมต้องติดตามสถานการณ์ให้เท่าทันและออกมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยด่วนเพื่อลดผลกระทบในทางสังคมที่เกิดขึ้น

แปด การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินในประเทศ โดยการพิจารณาคงสถานะหนี้ไม่ให้กลายเป็นหนี้สูญ การสนับสนุนการให้สินเชื่อฉุกเฉินอย่างเหมาะสม เช่น การใช้กลไก บสย. และการจัดการของธนาคารพาณิชย์ในการพิจารณาลูกหนี้ที่เหมาะสมที่จะให้กู้ฉุกเฉิน รวมไปถึงการออกมาตรการเพื่อรักษาความเชื่อมั่น เช่น กองทุนรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดสารหนี้ (BSF)

เก้า การวางระบบสุขภาพเพื่อรองรับปริมาณการใช้งานให้เพียงพอและไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการสำหรับการดูแลรักษาโรคอื่นๆ โดยมีการพิจารณาใช้โรงพยาบาลสนาม ระบบ Hospitel ศูนย์พักคอย และการกักตัวที่บ้าน (home isolation) เข้ามาช่วยในการลดปริมาณผู้ป่วยในระบบ และควรวางระบบจัดการเพื่อลดความเสี่ยงสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนการเร่งจัดหาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคและยารักษาโรค การเร่งพิจารณาความเหมาะสม การเร่งพัฒนาระบบข้อมูล (เช่น หมอพร้อม) และการเร่งปรับมาใช้กับประชาชน

 3. ช่วงที่การแพร่ระบาดถึงจุดสูงสุดและเริ่มลดลง

สถานการณ์การแพร่ระบาดในระยะนี้เข้าสู่จุดสูงสุดและมีแนวโน้มลดลง โจทย์ของภาครัฐเริ่มเปลี่ยนจากการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อผลทางด้านการลดการแพร่ระลาด มาเป็นการลดระดับมาตรการควบคุมเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถกลับมาอยู่รอด ในช่วงนี้ วาทกรรมทางสังคมจะเปลี่ยนเป็น “คนจะไม่ตายเพราะโรคระบาด (ป่วยตาย) แต่จะตายเพราะโรคเศรษฐกิจ (อดตาย)”

โจทย์ของภาครัฐในส่วนนี้ แยกออกเป็น

หนึ่ง โจทย์ทางด้านเศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยนเป็นปัญหาเฉพาะจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเปราะบาง เนื่องจากการฟื้นตัวจากสถานการณ์วิกฤติมักจะฟื้นตัวในระดับที่แตกต่างกัน ทีมเศรษฐกิจจึงต้องเร่งให้การช่วยเหลือกลุ่มที่ฟื้นตัวได้ช้า หรือไม่สามารถฟื้นตัวได้เอง เช่น กลุ่มคนยากจน กลุ่มแรงงานที่ตกงาน กลุ่มเด็กจบใหม่ รวมไปถึงกลุ่มที่เผชิญกับปัญหาวิกฤติซ้ำซ้อน เช่น คนขับแท็กซี่ที่ต้องเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพสูง

สอง ในภาคการศึกษา การเรียน On-line หรือการเรียนทางไกลเป็นเวลานานทำให้มีโอกาสที่เด็กจะเกิดปัญหา learning loss ขึ้น ทีมสังคมจึงต้องออกนโยบายทางด้านการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยเร่งด่วน

สาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจตามมาด้วยการย้ายงานของแรงงานที่จะกลับเข้าสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอีกครั้ง ในภาคปฏิบัติพบว่าการย้ายแรงงานกลับมาได้อย่างไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่จะทำงานให้กับธุรกิจที่กำลังฟื้นตัว ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้การเคลื่อนย้ายแรงงานทำให้เร็วและตรงจุดมากยิ่งขึ้น

สี่ ในทางสาธารณสุข การลดมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดต้องอาศัยการวิเคราะห์ทางด้านระบาดวิทยา ร่วมกับการวิเคราะห์ผลได้ทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ต้องอาศัยหลักวิชาการในการเลือกการลดมาตรการที่ไม่จำเป็นลง (เช่น การวัดอุณหภูมิ) และการเลือกลดมาตรการที่ไม่ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดมากนัก แต่มีแนวโน้มที่จะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้ในระดับสูง (เช่น สถานที่ออกกำลังกาย สวนสาธารณะ โยคะ)

ห้า การพิจารณาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยควรจะทำการทดลองในรูปแบบของ Sand box ในบางพื้นที่เสียก่อน เพื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงของการแพร่ระบาด ความรัดกุมของระบบในการรองรับความเสี่ยง ผลดีต่อเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ตลอดจนผลกระทบในแง่บวกและลบอื่นๆ ที่คาดและไม่ได้คาดว่าจะเกิดขึ้น

หก ทีมเศรษฐกิจควรเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ ผ่านการลดดอกเบี้ย ลดหนี้ ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ หรือการแก้ไขสัญญาเพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจในช่วงแห่งการฟื้นฟูหนี้

 4. ช่วงที่การแพร่ระบาดลดลงเป็นอย่างมาก

ในช่วงนี้เป็นการเปลี่ยนผ่านของสังคมเข้าสู่สถานการณ์ปกติ คือ ไม่มีมาตรการในการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่อาจจะยังคงมาตรการทางด้านสุขภาพเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

นโยบายที่สำคัญในช่วงนี้

หนึ่ง การเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ต้องมีการพิจารณาอย่างเหมาะสมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดและความพร้อมของประชาชนและสังคมในการใช้ชีวิตแบบสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ

สอง ยกเลิก พรก. ฉุกเฉิน แยกทีมเศรษฐกิจออกมาดูแลจัดการเรื่องนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งควรจะประกอบไปด้วย

1. นโยบายเพื่อขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ

2. นโยบายปรับปรุงผลิตภาพในการทำธุรกิจแบบเดิมๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูง เช่น ท่องเที่ยว อาหาร ขนส่ง ดิจิทัล

3. การจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษีที่มีลักษณะก้าวหน้าเพื่อนำมาชดเชยหนี้ที่ก่อขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

4. การสนับสนุนการแก้หนี้ของประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อปรับสมดุลเข้าสู่สภาวะปกติ

5. พิจารณาปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำซึ่งมักจะถูกดองไม่ให้ปรับขั้นในช่วงวิกฤติให้กลับมาเพิ่มขึ้นให้ทันกับเงินเฟ้อและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ