แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากปัญหาโควิด-19 อย่างยั่งยืน (1)

25 ม.ค. 2566 | 05:56 น.

การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากปัญหาโควิด-19 อย่างยั่งยืน ต้องอาศัยการจัดการใน 3 มิติ ได้แก่ known-knowns, known-unknowns และ unknown-unknowns

การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากปัญหาโควิด-19 อย่างยั่งยืน ต้องอาศัยการจัดการใน 3 มิติ ได้แก่ known-knowns, known-unknowns และ unknown-unknowns

Known-knowns คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วและต้องการข้อเสนอเพื่อตอบสนองต่อปัญหาดังกล่าว หรือก็คือ โควิด-19 ไทยต้องทำอะไรบ้างเพื่อการเติบโตหลังโควิด-19

Known-unknowns คือ ปัญหาในอนาคตที่เกิดขึ้นในลักษณะคล้ายคลึงกัน สามารถนำเอาบทเรียนการจัดการวิกฤตไปประยุกต์ใช้ได้ และ

Unknown-unknowns คือ ปัญหาในอนาคตที่ไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า ต้องการการเตรียมความพร้อมในเชิงหลักการเพื่อประยุกต์พลิกแพลงรับมือวิกฤติ

ในบทความแรกนี้จะอธิบายถึงการจัดการปัญหาในระดับ Known-knowns ซึ่งประกอบไปด้วยข้อเสนอเพื่อดำเนินการในระดับนโยบายและในระดับโครงสร้าง

ในระดับนโยบาย เพื่อที่จะผลักดันประเทศไทยกลับสู่เส้นทางการเป็นประเทศรายได้สูงภายในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะต้องอาศัยการผลักดันภาคเศรษฐกิจประเทศให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่ประเทศไทยมีความเข็มแข็ง ได้แก่

ภาคท่องเที่ยว การพัฒนาภาคท่องเที่ยวในเชิงปริมาณไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ต้องอาศัยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่คุ้มค่าต่อการจ่ายที่สูงขึ้น (value for money) นั่นหมายถึง การเปลี่ยนแปลงจากแหล่งท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นที่ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศาสนา มาเป็นโมเดลท่องเที่ยวที่หลากหลาย ได้แก่ การท่องเที่ยวชุมชนแบบจองล่วงหน้า โมเดลการขยายกิจกรรมมูลค่าเพิ่มจากฐานเดิมที่มีอยู่ โมเดลท่องเที่ยวสายมู โมเดลการท่องเที่ยวแบบสันทนาการ โมเดลการท่องเที่ยวโดยอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง (AR/VR) โมเดลการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กีฬาโมเดลการท่องเที่ยวเพื่อการศึกษา โดยการสร้างกิจกรรมต้องคำนึงถึงอุปสงค์เป็นสำคัญ (demand-led)

 

ภาคอาหาร ต้องแก้ไขปัญหารายได้ของเกษตรกรให้ยั่งยืนผ่านเส้นทางการพัฒนาเกษตรกรสู่ความยั่งยืน 4 เส้นทาง ได้แก่ การเกษตรผสมผสาน การเกษตรไฮเทค วิสาหกิจการเกษตร และการพัฒนาภาคเกษตรของทุกภาคส่วน สำหรับธุรกิจอาหารต้องเน้นไปที่คุณภาพ ความปลอดภัย และสำหรับภาคส่งออกต้องเป็นหัวจักรในการนำเสนอสินค้าผ่านการสร้างคุณค่าให้กับสินค้าเดิม เช่น การสร้างคุณค่าภายใต้อุตสาหกรรม Bio Circular Green หรือ BCG การพัฒนาด้านการตลาด เช่น ใช้ Soft power เข้ามาช่วย การหาตลาดเพื่อรองรับสินค้าแห่งใหม่ๆที่มีศักยภาพสูง ตลอดจนการพิจารณาทำข้อตกลงทางการค้าที่เหมาะสม มีการคำนึงถึงผลได้-ผลเสียที่เกิดขึ้นและสร้างกระบวนการเยียวยาผลกระทบอย่างเหมาะสม

อุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมสีเขียว ต้องเร่งพัฒนาแรงงานให้มีทักษะเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น โดยศึกษาทักษะที่อุตสาหกรรม S-Curve ของประเทศไทยมีความต้องการ อาทิ เช่น STEM skills, Technology skills, Non-tech skills รวมไปถึง Soft skills เพื่อนำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น และทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากปัญหาโควิด-19 อย่างยั่งยืน (1)

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องเร่งพัฒนาระบบวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างระบบการวิเคราะห์และจัดการปัญหาโรคระบาด ที่ครอบคลุมในเรื่องของ วัคซีน การตรวจหาเชื้อ ยารักษาโรค การจัดการด้านสาธารณสุขในอนาคต ต้องเปลี่ยนแปลงจากการแข่งขันทางด้านราคาเพียงอย่างเดียว เป็นการเปรียบเทียบความคุ้มค่าในแง่ของงบประมาณและด้านคุณภาพ (price-performance ratio) และดำเนินการอุดช่องว่างของระบบสุขภาพสำหรับการรับมือโรคอุบัติใหม่โดยถอดบทเรียนจากประสบการณ์การจัดการปัญหาโควิด-19 ที่ผ่านมา

กลจักรที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูงข้างต้น ต้องอาศัยกลไกเชิงโครงสร้างที่สำคัญ 2 ส่วนที่ต้องสร้างขึ้นใหม่ ได้แก่

โครงสร้างทะเบียนข้อมูลแรงงาน

ภาครัฐต้องเริ่มต้นจากการปิดช่องว่างของฐานข้อมูลระหว่างรัฐที่ไม่สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ โดยทำการรวมฐานข้อมูลให้เชื่อมโยงกันเป็นทะเบียนข้อมูลแรงงานที่สมบูรณ์พร้อมทั้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง และระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นำไปสู่การออกแบบนโยบายที่เป็นอ้างอิงจากข้อมูล การวิเคราะห์ฐานข้อมูลที่ชัดเจนสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันของตลาดแรงงาน นำไปสู่การออกแบบมาตรการสนับสนุนการเข้าถึงงานที่เหมาะสม ตรงต่อความต้องการของแรงงานแต่ละคน ตลอดจนการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมที่สอดรับกับความต้องการของตลาด

โครงสร้างศูนย์รับมือโรคอุบัติใหม่

การจัดตั้งศูนย์รับมือโรคอุบัติใหม่ ควรมีการจัดตั้งให้เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทางด้านวิชาการและด้านควบคุมโรค ผ่านการดำเนินการติดตามสถานการณ์ในระดับโลกและในประเทศ มีการพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจ การรักษา การผลิตยาและวัคซีนให้ทันต่อเหตุการณ์

องค์ประกอบของศูนย์จะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 ประการ คือ อำนาจในการสั่งการเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ การรักษาความสมดุลระหว่างการจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และโรคติดต่อเรื้อรัง และการพัฒนาระบบสุขภาพบนพื้นฐานวิชาการและมีข้อมูลที่แน่นเพียงพอ

ศูนย์นี้จะช่วยทำหน้าที่ในการประเมินความเสี่ยงของประเทศต่อวิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้นว่าควรจะต้องมีมาตรการจัดการในระดับไหน เช่น ในระดับที่ 1 (ต่ำที่สุด) เน้นการควบคุมโรคระยะสั้น ในระดับที่ 3 (สูงที่สุด) ต้องจัด war room เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำ พร้อมเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวงเป็นคณะทำงาน

การดำเนินงานภายในศูนย์จะมีการสร้างกลไกการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีคุณสมบัติ 3 ประการ ได้แก่ กลไกที่ส่งเสริมให้ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามามีอำนาจในการตัดสินใจ กลไกที่ช่วยให้มีองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จำเป็น พร้อมใช้ และกลไกที่ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งสามกลไกควรเป็นกลไกอัตโนมัติ