สงคราม "รัสเซีย-ยูเครน” ทำราคาเหล็กโลกพุ่งจริงหรือ?

15 มิ.ย. 2565 | 04:16 น.

ผมสามารถฟันธงได้เลยว่าราคาน้ำมันและก๊าซ ราคาสินค้าเกษตรทั้งที่เป็นอาหารคน สัตว์และพืชพลังงาน รวมไปถึงราคาปุ๋ยในตลาดโลกที่สูงขึ้นในขณะนี้ สาเหตุมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

สงคราม "รัสเซีย-ยูเครน” ทำราคาเหล็กโลกพุ่งจริงหรือ?

 

ส่วน “ราคาเหล็ก” ในตลาดโลกที่สูงช่วง 3-4 เดือนที่ผ่าน หรือในครึ่งปีหลัง 2565 นั้น จะเป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนหรือไม่

 

ผมขอเริ่มอย่างนี้ครับ ความต้องการใช้เหล็กในอนาคตจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเพราะเหล็กสามารถนำมารีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ในขณะที่ปูนซิเมนต์ไม่สามารถทำได้ ปัจจุบันเราได้เห็นตึกอาคาร โรงแรม และบ้านเรือนสมัยใหม่สร้างเป็น “โครงสร้างเหล็ก” ที่เห็นชัดเจน (อย่างไรก็ตามต้นทุนในการก่อสร้างสูงกว่าคอนกรีต 30%) บางครั้งเรียกว่า “อาคารสีเขียว”

 

รถยนต์แบรนด์ดังของยุโรปก็ให้ความสำคัญกับการนำเหล็กที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่ รวมถึงมีการใช้เหล็กที่ผลิตโดย  “พลังงานไฮโดรเจนที่ใช้พลังงานชีวมวล” และในอนาคตจะใช้เหล็กสีเขียวที่ผลิตในสวีเดน (H2 Green Steel) โดยสวีเดนมีเป้าหมายเป็นผู้นำการผลิตเหล็กสีเขียวในปี 2573 (กระบวนการผลิตเหล็กชนิดนี้ ไม่ใช้พลังงานฟอสซิลเลย)

 

สงคราม "รัสเซีย-ยูเครน” ทำราคาเหล็กโลกพุ่งจริงหรือ?

 

ด้วยเหตุผลทั้งหมดก็เพื่อ “ลด CO2”  ความต้องการเหล็กที่เพิ่มขึ้นข้างต้น สอดคล้องกับผลผลิตเหล็กโลกที่เพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกันจาก 1.5 พันล้านตัน (2012) เป็น 1.9 พันล้านตัน (2021) ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา

 

จีนยังคงครองเบอร์หนึ่งของโลกในการผลิตเหล็ก (สัดส่วน 50%) อินเดีย (สัดส่วน 6%) ญี่ปุ่น (สัดส่วน 5%) และรัสเซีย (สัดส่วน 4% ปริมาณ 76 ล้านตัน ผลิตอันดับ 5 ของโลก) ส่วนยูเครนผลิตสัดส่วน 1% เป็นอันดับ 14 ของโลก “จีนผลิตมากและความต้องการสูงเช่นกัน” สัดส่วน 53% ของความต้องการโลก ตามด้วยอินเดียและสหรัฐฯ

 

สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ราคาเหล็กในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่ ขอให้พิจารณาดังนี้ 1.ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น น้ำมันมีสัดส่วน 5% ในการผลิตเหล็ก หากเราพิจารณาราคาเหล็กในตลาดโลกของ “steelbenchmarker” พบว่าเหล็กรีดร้อน (Hot-rolled Band) เหล็กรีดเย็น (Cold-rolled Coil) เหล็กเส้น (Rebar) เศษเหล็ก (Steel Scrap)

 

สงคราม "รัสเซีย-ยูเครน” ทำราคาเหล็กโลกพุ่งจริงหรือ?

 

ช่วง ก.พ.-มี.ค. 2565 ราคาเหล็กปรับขึ้น สอดคล้องกับรายงานของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยที่ราคาเหล็กปรับสูงขึ้นเช่นกัน  ราคาน้ำมันดิบ Brent ปี 2565 มีโอกาส $150 ต่อบาร์เรล (Alahdal A. Hussein, the founder of Malaysia-based oil and gas industry analytical and business intelligence platform Oil Industry Insight, 1/06/2022) และ JP Morgan คาดว่าอยู่ที่บาร์เรลละ $185 (Aljazeera, 4 Mar 2022) ราคาน้ำมันดิบก่อนสงคราม (31/12/2021) ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 77 เหรียญ/บาร์เรล (ปี 2020 ราคาน้ำมันในตลาดโลกเฉลี่ย 41 เหรียญต่อบาร์เรล ปี 2021 น้ำมันอยู่ที่ 70 เหรียญต่อบาร์เรล) ราคาวันที่ 9/6/2022 อยู่ที่ 123 เหรียญต่อบาร์เรล

 

นอกจากน้ำมันจะเป็นวัสดุหลักในการผลิตแล้ว น้ำมันยังเป็นต้นทุนในการขนส่งอีกด้วย ส่งผลทำให้ต้นทุนเหล็กจากน้ำมันที่สูงขึ้นกระทบอุตสาหกรรมเหล็กและที่เกี่ยวข้องทั้งต้นทุนการผลิตและการขนส่ง

 

รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และซาอุฯ ผลิตวันละ 11 ล้านบาร์เรล และส่งออกอันดับ 2 ของโลกรองจากซาอุฯ ส่งออก 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน สัดส่วน 60% ส่งไปยุโรป (4.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และ 20% ส่งออกไปจีน  

 

ตั้งแต่วันที่ ก.พ. ถึง พ.ค. 2565 น้ำมันรัสเซียส่งไปยุโรป (เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน โปแลนด์ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส สวีเดน และสเปน) ลดลงไป 80% หรือ 3.6 ล้านบาร์เรล (CNBC, May 31 2022)

 

“ประเด็นนี้น้ำมันมีผลต่อราคาเหล็ก ผมให้น้ำหนัก 20%” ต่อมาเป็น 2.เหล็กรัสเซียหายไปจากตลาดโลก ข้อมูลจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยพบว่าผลผลิตเหล็กโลกปี 2021 อยู่ที่ 1,950 ล้านตัน (รัสเซีย+ยูเครนผลิตเท่ากับ 100 ล้านตัน) ความต้องการเหล็กโลกอยู่ที่ 1,855 ปี 2022 ความต้องการเหล็กโลกลดลงเหลือ 1.8 ล้านตัน (The World Steel Association)

 

สงคราม "รัสเซีย-ยูเครน” ทำราคาเหล็กโลกพุ่งจริงหรือ?

 

สำหรับเหล็กรัสเซียส่งออกไปตลาดโลก 50% ของการผลิตทั้งหมด  โดยส่งออกไปมากกว่า 130 ประเทศ (Global Steel Trade Monitor, March 2019) ส่วนจะหายไปเท่าไรขึ้นกับการร่วมคว่ำบาตรเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เช่น ยุโรปไม่นำเข้าเหล็กจากรัสเซีย 4 ล้านตัน (บริษัท Severstal รายใหญ่ของรัสเซียไปยุโรปไม่ได้ 3 ล้านตัน) ในประเด็นนี้คิดคร่าวๆ “เหล็กรัสเซียกับยูเครนหายไปจากตลาดโลก 60-70 ล้านตัน ถือว่าไม่เยอะมาก ผมให้น้ำหนัก 10%”

 

3.ปัจจัยจีน จีนเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ของโลก ช่วง 2-3 เดือนของสงคราม จีนใช้นโยบาย lockdown ในเซี่ยงไฮ้ทำให้โรงงานหลายโรงในจีนหยุดดำเนินการ ราคาของเหล็กจึงปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2565 ราคาเหล็กในตลาดโลกเริ่มลดลง แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม เป็นเพราะ จีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการ Lockdown โรงงานกลับมาผลิตอีกครั้ง “ผมในน้ำหนักประเด็นจีน 60%”

 

ฉะนั้นในอีก 6 เดือนข้างหน้าของปี 2565 ทิศทางราคาเหล็กจะไปในทิศทางใด น่าจะขึ้นกับ “ปัจจัยจีน” เป็นสำคัญ เพราะจีนมีกำลังการผลิตที่ยังใช้ไม่เต็มศักยภาพ พร้อมที่จะผลิตเพิ่มเมื่อไรก็ได้ รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เหลืออีก 10% เช่น เศรษฐกิจโลกอันเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาสินค้าทั่วโลกปรับสูง และทั้ง IMF และ World Bank ออกบทวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ย่อมทำให้อุตสาหกรรมที่ไปเกี่ยวข้องกับเหล็กชะลอตัวไปด้วย