“รัสเซีย” บุกยึด “ยูเครน” จะกระทบไทยอย่างไรบ้าง?

15 ก.พ. 2565 | 05:22 น.

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์สถานการณ์ความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะบุกยึดยูเครน มีมากน้อยแค่ไหน และจะส่งผลกระทบกับประเทศไทยอย่างไรบ้าง

 

“รัสเซีย” บุกยึด “ยูเครน” จะกระทบไทยอย่างไรบ้าง?

 

สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน กลายเป็นประเด็นใหญ่ของโลกในขณะนี้ หากรัสเซียบุกและทำสงครามกับยูเครน จะมีผลกระทบต่อโลกในหลายด้านทั้งเศรษฐกิจ  การเมืองระหว่างประเทศ และความมั่นคง (ทหารและพลังงาน) 

 

ยูเครน (Ukraine) เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต (Soviet Union) ตั้งแต่ปี 1919 และเป็นอิสระเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม  พ.ศ.2534 (1991) หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย (สิ้นสุด Cold War) และทำให้เกิดประเทศเอกราชตามมา 15 ประเทศ (ที่เคยเป็นสหภาพโซเวียด) อยู่ในเอเชียกลาง 8 ประเทศคือ คาซัคสถาน (Kazakhstan) คีร์กีซสถาน (Kyrgyzstan) ทาจิกิสถาน (Tajikistan) (ติดมณฑลซินเจียงของจีน) อุซเบกิสถาน (Uzbekistan)  เติร์กเมนิสถาน (Turkmenistan)  จอร์เจีย (Georgia) อาร์เมเนีย (Armenia) และ อาเซอร์ไบจาน (Azerbaijan) และอยู่กับยุโรปตะวันออก 6 ประเทศคือ เอสโตเนีย (Estonia) ลัตเวีย (Latvia) ลิทัวเนีย (Lithuania) เบลารุส (Belarus) ยูเครน (Ukraine) และ มอลโดวา (Moldova) อีกหนึ่งประเทศคือ รัสเซีย

 

“รัสเซีย” บุกยึด “ยูเครน” จะกระทบไทยอย่างไรบ้าง?

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 11 ก.พ. 2565 นาย Jake Sullivan ที่ปรึกษาความมั่นคงสหรัฐฯ เตือนให้คนอเมริกันและเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ ในยูเครน อพยพออกจากกรุงเคียฟ (Kiev) โดยด่วน ระบุว่ารัสเซียอาจบุกยูเครน “วันใดวันหนึ่งภายใน 24 ชม.หรือ 48 ชม. สถานการณ์ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อาจจะก่อนโอลิมปิกฤดูหนาว 2022” ในขณะที่เยอรมัน ญี่ปุ่น อังกฤษ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และนิวซีแลนด์เตือนให้คนของประเทศตนเองรีบออกจากยูเครนด่วน

 

“รัสเซียต้องการบุกยูเครนจริงหรือไม่” (แม้ว่ารัสเซียปฎิเสธ แต่สหรัฐฯ และยุโรปกังวล)

 

ผมวิเคราะห์ว่ารัสเซียจะบุกยึดเป็นเพราะ 1.เส้นทางหลักในการขนส่งก๊าซและน้ำมัน (เบรารุสก็ต้องผ่านยูเครน) 40% ก๊าซของรัสเซีย และ 25% ของน้ำมันจากรัสเซียเพื่อไปยุโรปต้องส่งผ่านยูเครน และต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการส่งก๊าซและน้ำมันให้กับยูเครนปีละ 3 พันล้านเหรียญ ถ้าผ่านทาง Nord Stream 1 หรือ 2 (รัสเซียส่งไปเยอรมันและยุโรปผ่านทะเล Baltic Sea) จะถูกกว่า 37% (Oxford Institute for Energy Studies)

 

“รัสเซีย” บุกยึด “ยูเครน” จะกระทบไทยอย่างไรบ้าง?

 

2.“No NATO” รัสเซียไม่ต้องการให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกของ NATO เพราะจะกระทบต่อความมั่นคงต่อรัสเซีย และกังวลว่านาโต้กำลังปิดล้อมรัสเซียและเข้ายึดไครเมีย 3.เศรษฐกิจ ยูเครนมีพื้นที่ใหญ่อันดับสองของยุโรปรองจากรัสเซีย มีความพร้อมด้านทรัพยากรและอุตสาหกรรมสำคัญทั้งน้ำมัน เหล็ก และเครื่องจักร  4.ความแตกแยก ยูเครนมี 24 จังหวัด มี 9 จังหวัดทางตะวันออกเฉียงใต้ต้องการอยู่ภายใต้รัสเซีย คนยูเครนพูดภาษารัสเซียได้

 

เหมือนปี 2014 ที่รัสเซียบุกยูเครน ด้วยเหตุผลเพราะประชาชนในยูเครนแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคืออยู่กับยุโรปและอยู่กับรัสเซีย ในเดือนพฤศจิกายน 2013 เกิดการประท้วงในกรุงเคียฟ (Kiev) เมืองหลวงยูเครน เมื่ออดีตประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยากูโนวิช (Viktor Yanukovych) ที่รัสเซียสนับสนุน ตัดสินใจไม่ร่วมกับสหภาพยุโรป จึงเกิดการประท้วงหนักในเดือนกุมภาพันธ์ 2014  สภายูเครนปลดประธานาธิบดี และหนีไปรัสเซีย สร้างความไม่พอใจกับรัสเซีย ทำให้วันที่ 27 ก.พ. 2014 รัสเซียจึงบุกยึดคาบสมุทรไครเมีย (Crimean Peninsula) วันที่ 17 มีนาคม 2557 เกิดการลงประชามติ ผลปรากฏว่าไครเมียประกาศเอกราชจากยูเครน  และขอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเต็มตัว  สร้างความไม่พอใจต่ออดีตประธานาธิบดีโอบามาของสหรัฐฯ อย่างมาก นอกจากนี้รัสเซียให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในจังหวัด Donetsk และ Luhansk ทางตะวันออกของยูเครน

 

5.ไม่มีอธิปไตย รัสเซียยอมรับว่ายูเครนเป็นประเทศแต่ไม่ยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีอธิปไตยเพราะอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯและยุโรปมากเกินไป 6.เชื้อสายรัสเซีย ในทุกจังหวัดยูเครนมีคนสัญชาติรัสเซีย โดยสัดส่วนเกิน 50% อยู่ในจังหวัดทางตอนใต้และตะวันออก ความผูกพันจึงมีอยู่กับรัสเซีย คนรัสเซียมองว่ายูเครนเป็นพี่น้อง

 

7.ตำแหน่งที่ตั้ง ยูเครนอยู่ในตำแหน่งเสมือน “แซนวิชและกันชน” เพราะอยู่ระหว่างยุโรปและรัสเซีย ยูเครนจึงเหมือนหน้าบ้านของรัสเซีย แต่หากเกิดสงครามยูเครนจะกลายเป็น “War Zone” ทันที และรายล้อมด้วยกองกำลังนาโต้และพันธมิตรทั้งยุโรปและสหรัฐฯ รวมถึงทหารรัสเซีย กรุงเคียฟห่างจากชายแดนเบรารุส 150 กม. ที่เต็มไปด้วยกองกำลังสนับสนุนรัสเซีย 8.เอียงข้างยุโรปและสหรัฐฯ แม้ว่ายูเครนต้องการวางตัวเป็นกลาง เศรษฐกิจยูเครนพึงพิงยุโรป ยุโรปช่วยเหลือยูเครนหลายด้านเช่น การลงทุนจากยุโรป ช่วยเหลือเงินทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและอีกหลายโครงการ รวมถึงมี FTA กับยุโรป

 

“รัสเซีย” บุกยึด “ยูเครน” จะกระทบไทยอย่างไรบ้าง?

 

สำหรับผลกระทบต่อโลกและไทยคือ 1.ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น JP Morgen คาดว่าราคาน้ำมันจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 150 เหรียญ/บาร์เรล ราคา WTI (West Texas Intermediate) เป็นน้ำมันดิบอ้างอิงที่สำคัญในทวีปอเมริกา ณ วันที่ 13 ก.พ. 2565 อยู่ที่ 93.90 เหรียญ/บาร์เรล และราคา Brent อ้างอิงในตลาดยุโรป ณ วันที่ 12 ก.พ. 2565 อยู่ที่ 95 เหรียญ/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบในสิงคโปร์ (ประเทศไทยใช้อ้างอิงในตลาดสิงคโปร์) ณวันที่ 10 ก.พ. 2565 อยู่ที่ 89 เหรียญ/บาร์เรล ไทยก็ต้องใช้น้ำมันแพงขึ้น

 

2.ราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้น ยูเครน รัสเซีย และยุโรปเป็นประเทศผลิตข้าวโพด ข้าวสาลี เรฟซิด(ราคาน้ำมันปาล์มได้อานิสงส์) ใหญ่ของโลกจะปรับสูงขึ้น ทำให้ราคาอาหารโลกปรับสูงขึ้น  รวมถึงราคา ปุ๋ย เหล็ก ทองคำเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่งผลทำให้เงินเฟ้อโลกเพิ่มขึ้น 7.2%

 

3.GDP โลกลดลง 0.9% จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก การค้าขายโลกจะชะลอตัว การส่งออกไทยไปตลาดโลกได้รับผลกระทบ 4.การส่งออกไทย ไทยส่งออกไปยูเครนและรัสเซียปีละ 800 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 26,000 ล้านบาท โดยส่งออกไปยูเครนปีละ 3 พันล้านบาท ที่เหลือเป็นส่งออกไปรัสเซีย หากเกิดสงครามตัวเลขส่งออกได้รับผลกระทบแน่