“ปุ๋ยรัสเซีย” ทำเกษตรกรไทย “กระอัก” ข้าวอ่วมสุด

08 เม.ย. 2565 | 09:03 น.

ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน น้ำมันและก๊าซรัสเซียถูกใช้เป็นเครื่องมือในการตอบโต้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อสหรัฐฯ และพันธมิตร ปุ๋ยรัสเซียก็ไม่ต่างกัน ถูกใช้เพื่อแก้ปัญหาปุ๋ยขาดแคลนภายในประเทศและตอบโต้ทางการค้าในต่างประเทศเช่นกัน

 

“ปุ๋ยรัสเซีย” ทำเกษตรกรไทย “กระอัก” ข้าวอ่วมสุด

 

ก่อนสงครามรัสเซีย-ยูเครน รัสเซียก็ได้จำกัดโควต้าในการส่งออกปุ๋ยไปต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้ปุ๋ยเพียงพอใช้ในประเทศและไม่ให้เกษตรกรในประเทศเดือดร้อนจากราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น เห็นได้จากกลางปี 2564 ราคาปุ๋ยยูเรียในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 60-70% และราคา DAP (Di Ammonium Phosphate) เพิ่มขึ้น 20-25% (Gro Intelligence, 5 Nov 2021)

 

และเมื่อต้นเดือนมีนาคมกระทรวงอุตสากรรมและการค้ารัสเซียก็ได้ออกประกาศว่า ห้ามส่งออกปุ๋ยไปในตลาดโลก (Southeast AgNet Radio Network, March 7,2022) โดยเฉพาะ 48 ประเทศที่ต่อต้านรัสเซีย “Unfriendly Nations” ทั้งนี้เพื่อตอบโต้พันธมิตรสหรัฐฯ ทำให้ราคาปุ๋ยทั่วโลกปรับขึ้นอีกทันที โดยราคาปุ๋ยยูเรีย (Urea) และ DAP (ไดแอมโมเนียมฟอสเฟต) ราคาเพิ่มจาก 400 เหรียญ/ตัน และ 500 เหรียญ/ตัน เพิ่มเป็น 1,200 เหรียญ/ตัน และ 1,300 เหรียญ/ตัน นั้นหมายความว่า “ราคาปุ๋ยในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 160-200%”

 

“ปุ๋ยรัสเซีย” ทำเกษตรกรไทย “กระอัก” ข้าวอ่วมสุด

 

ไม่เฉพาะรัสเซียที่ห้ามส่งปุ๋ยออก ในช่วงสงครามครั้งนี้ ยูเครนก็เช่นกันที่ห้ามส่งออกปุ๋ยเพื่อเก็บไว้ทำการเกษตร เพราะตั้งแต่เดือน มี.ค-พ.ค. ของทุก ๆ ปีจะเป็นปีของเริ่มเพาะปลูก (Irish Examiner, Mar 12, 2022)

 

รัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับต้น ๆ ของโลก สามารถแบ่งออกเป็น ปุ๋ยไนโตรเจน (Nitrogen : N) รัสเซียส่งออกอันดับ 1 ของโลกสัดส่วน 18% ตามด้วยจีน (15%) ปุ๋ยฟอสฟอรัส (Phosphorus : P) รัสเซียส่งออกอันดับ 3 ของโลก สัดส่วน 15% ตามหลังจีนที่ส่งออกอันดับ 1 (สัดส่วน 30%) และปุ๋ยโพแทสเซียม (Potassium : K) รัสเซียส่งออกอันดับ 2 ของโลกสัดส่วน 25% ตามหลังแคนาดา อย่างไรก็ตามข้อมูลปี 2563 โดยรวมแล้วรัสเซียเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก (Tarric Brooker, Nov 20, 2021)

 

“ประเทศใดบ้างที่พึ่งพิงปุ๋ยรัสเซีย” พบว่าปี 2563 ร้อยละ 30% รัสเซียขายปุ๋ยให้กับประเทศในยุโรป หากแยกเป็นรายประเทศพบว่า บราซิลเป็นประเทศหลักในการนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซียสัดส่วน 19% ตามด้วยอินเดียและจีนอย่างละ 7% และสหรัฐฯ 6% ประเทศอาเซียนพึ่งพิงปุ๋ยจากรัสเซียน้อยมาก

 

“ปุ๋ยรัสเซีย” ทำเกษตรกรไทย “กระอัก” ข้าวอ่วมสุด

 

 

สำหรับการ “นำเข้าปุ๋ยของประเทศไทยในปี 2564” แต่ละปีประเทศนำเข้าปุ๋ยปีละ 5-5.5 ล้านตัน ภาพรวมพบว่าร้อยละ 22% นำเข้ามาจากจีนมากที่สุด ตามด้วยซาอุ สัดส่วน 14% มาเลเซีย 7% และรัสเซีย 6% แต่หากแยกออกเป็นประเภทต่างๆ ปุ๋ยไนไตรเจนนำเข้ามามากที่สุด 48.7% โดยนำเข้ามาจากซาอุดิอาระเบีย กาต้า มาเลเซียและจีน รองลงมาเป็นการนำเข้าปุ๋ย NPK สัดส่วน 38% จากประเทศจีนและรัสเซีย ตามด้วยฟอสฟอรัสสัดส่วน 14% จากแคนาดาและเบรารุส (Industry Outlook 2020-2022: Chemicals Fertilizers,29 January 2020, Narin Tunpaiboon)

 

ปุ๋ยเป็นสัดส่วนโดยเฉลี่ย 15% ของค่าใช้จ่ายของสินค้าเกษตรทั้งหมด โดยค่าใช้จ่ายรวมที่เกษตรกรไทยต้องจ่ายในค่าปุ๋ยเพิ่มในปี 2565 ผมประเมินว่าประมาณ 2-3 แสนล้าน โดยคิดจากฐานปี 2558 (ที่เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายด้านปุ๋ยประมาณ 1.1 แสนล้านบาท)หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 แสนล้านบาทในปีนี้

 

กลุ่มเกษตรกรที่ปลูก "ข้าวกระอักมากที่สุด" เพราะต้องจ่ายค่าปุ๋ยเพิ่มขึ้นมากที่สุด ตามด้วยอ้อย ยางพารา ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน เป็นที่น่าสังเกตว่า ค่าใช้จ่ายปุ๋ยของผลไม้มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความนิยมผลไม้ในตลาดต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรจึงเร่งผลิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่หากเทียบต่อไร่พบว่าปาล์มน้ำมันและยางพาราจะมีค่าใช้จ่ายปุ๋ยเคมีมากที่สุดในบรรดาสินค้าเกษตรทั้งหมด

 

“ปุ๋ยรัสเซีย” ทำเกษตรกรไทย “กระอัก” ข้าวอ่วมสุด

 

สำหรับราคาปุ๋ยที่ปรับสูงขึ้นในขณะนี้นั้น โดยปกติราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นทุกปี ๆ ด้วยสาเหตุมาจาก (ก่อนสงครามรัสเซีย-ยูเครน) 1.เกิดจากการ “เร่งผลิตสินค้าเกษตร” ที่ตอบสนองความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นจากประชากรในประเทศตนเองมีมาก โดยเฉพาะสินค้าธัญพืชในอินเดีย และแอฟริกา ทำให้ความต้องการใช้ปุ๋ยก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

 

2.ผลผลิตปุ๋ยจาก “จีนส่งออกไปในตลาดโลกลดลง” ทั้งนี้เพื่อเก็บไว้ในประเทศตนเอง  และยิ่งเมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนยิ่งเป็นตัวเร่งให้ราคาปุ๋ยในตลาดเพิ่มสูงขึ้นมาจาก “การห้ามส่งออกปุ๋ยของรัสเซียและประเทศผู้ผลิตปุ๋ยส่งออกลดลง”

 

สำหรับราคาปุ๋ยขายปลีกภายในประเทศ ราคาปุ๋ยไนโตรเจน (N) ปี 2563 อยู่ที่ 12,000 - 15,000 บาท/ตัน ปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น “30,000 - 35,000 บาท/ตัน” ส่วนราคาฟอรฟอรัส (P) ปีที่แล้วอยู่ที่เฉลี่ย 20,000 บาทต่อตัน ปีนี้ราคาวิ่งไปถึง “38,000 บาท/ตัน” และโพแทสเซียม (K) ราคาปีที่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 9,000 บาท/ตัน ปีนี้ราคาอยู่ที่ “32,000 บาทต่อตัน” จะเห็นได้ว่าราคาปุ๋ยขายปลีกในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเกิน “100%”

 

“ปุ๋ยรัสเซีย” ทำเกษตรกรไทย “กระอัก” ข้าวอ่วมสุด

 

แก้กันอย่างไรดีในสถานการณ์ราคาปุ๋ยที่ปรับขึ้นในปัจจุบัน วันนี้ประเทศไทยต้องคิดเรื่อง 1.ตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยเองภายในประเทศ เหมือนที่อินโดนีเซียและมาเลเซียทำ ที่ใช้วัตถุดิบมาจากก๊าซธรรมชาติ และภาคอีสานของไทยก็มีแร่โปรแตซ (Potash) ที่เป็นสารตั้งต้นในการทำปุ๋ย  2.ใช้ปริมาณลดลง ในรอบปีของการเพาะปลูกสมมุติเดิมใช้ 1 กระสอบ (50 กก.) ใน 1 ไร่ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย แบ่งออกเป็น 20 กก.ต่อ 6 เดือน ทำให้เหลือปุ๋ยอีก 10 กก.ไปใช้ในปีถัดไป   3.ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ในสัดส่วนที่มากขึ้น 4.ใช้ปุ๋ยตรงกับความต้องการต้นไม้ โดยคอยสังเกตอาการว่า ต้นไม้ขาดธาตุอาหารใด ก็ใส่ปุ๋ยบำรุงตรงนั้น