Buzzebees ผลักดัน 5 ค่านิยมองค์กร  สร้าง Next Chapter สู่ยูนิคอร์น

18 ก.พ. 2566 | 05:21 น.

ตลอดระยะเวลา 10 ปี ของ บัซซี่บีส์ ในสนามธุรกิจผู้พัฒนาระบบแพลตฟอร์มในด้าน CRM Privilege & Digital Engagement เพื่อให้ลูกค้าเกิดความจงรักภักดีต่อแบรนด์ “คุณพิงค์ - ณัฐธิดา สงวนสิน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด บอกเลยว่า เหนื่อยมาก แต่ก็สนุกมาก และพร้อมลุยต่อ

เธอเล่าว่า บัซซี่บีส์ (Buzzebees) ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บัซซี่บีส์ปรับเปลี่ยนตัวเองมาตลอด ด้วยการทำงานที่ไม่หยุดนิ่ง เหตุเพราะธุรกิจนี้คือ ธุรกิจที่ต้องนำเทรนด์ หยุดนิ่งไม่ได้ ทีมงานบัซซี่บีส์ ทำแคมเปญเดือนละ 5 ครั้งต่อแบรนด์ ลอนซ์แคมเปญวันละ 120 แคมเปญต่อวัน ตามเทรนด์ตลาดที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากทีมงานในยุคเริ่มต้นที่มีเพียงไม่กี่สิบคน ปัจจุบันขยายไป 500-600 คน ซึ่งล้วนป็นพลังของคนรุ่นใหม่


ยิ่งปีนี้เป็นปีที่ “คุณพิงค์” พยายามโฟกัสตลาดต่างประเทศแบบบุกหนัก พร้อมๆ กับเป้ารายได้ที่ต้องเติบโตขึ้น 60% จากปีที่ผ่านมาที่โตไปแล้ว 40% รายได้รวม 1,800 ล้านบาท ฐานผู้ใช้งานกว่า 130 ล้านบัญชี มีองค์กรธุรกิจที่อยู่ในอีโคซิสเท็มส์กว่า 400 ราย และเกิดการประกอบธุรกรรมราว 2 ล้านบัญชีต่อวัน 

เป้าหมายใหม่ทำให้บัซซี่บีส์ต้องคิดทั้งโซลูชั่นสร้างบิซิเนสโมเดลใหม่ๆ โปรดักต์ใหม่ๆ แบบเต็มแม็ก

Buzzebees ผลักดัน 5 ค่านิยมองค์กร  สร้าง Next Chapter สู่ยูนิคอร์น

“คุณพิงค์” เล่าว่า ทีมงานของบัซซี่บีส์อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 29 ปี มีทั้งเด็ก GEN Z และ GEN X ที่พร้อมบ้าพลังกัน และสร้างบิซิเนสที่เป็นตัวเปลี่ยนโลกธุรกิจ อย่างโปรดักต์ล่าสุด ที่ลอนซ์ในปีนี้ คือ การทำให้ผู้บริโภคสามารถนำคะแนนสะสมที่มีไปใช้จ่ายซื้อของที่ไหนก็ได้ (pay with point) และอีกโปรดักต์คือ การทำให้นักธุรกิจทั้งตัวเล็กตัวใหญ่  สามารถซื้อของได้ในราคาตลาดขายส่ง (Wholesale Market) ซึ่งแนวทางนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ Pain Point ให้กับเอสเอ็มอีที่ไม่มีเครือข่าย เมื่อต้องซื้อของก็ต้องจ่ายแพง แทนที่จะได้ซื้อของในราคาขายส่ง โดยบัซซี่ส์ทำงานรวมกับพันธมิตรธุรกิจ ที่เขาจะได้ปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ซื้อก็จะได้ราคาของที่ถูกลง ส่วนบัซซี่บีส์ก็ได้ค่าทรานซิชั่น

หากถามถึงกลยุทธ์ที่เป็นความสำเร็จของบัซซี่บีส์ในวันนี้ “คุณพิงค์” บอกเลยว่า บัซซี่บีส์ไม่มีกลยุทธ์ที่เป็นหนึ่งแล้วจบ มันคือการที่ต้องทำ 40 อย่างพร้อมๆ กัน ทำกันทั้งโปรโมชั่น ที่ต้องทำแบบนี้ คูปองออนท็อปต้องทำแบบนี้ วิธีการแพลนราคาต้องเป็นแบบนี้ วิธีการเรียงรูปบนมาร์เก็ตเพลสต้องเป็นแบบนี้ เวลาทำอาร์ตเวิร์คเมกะเซล ต้องทำหนึ่งบวกสองบวกสาม โปรดักต์ประเภทนี้ ต้องมีรูปคน โปรดักต์แบบนี้ต้องถ่ายแต่โปรดักต์เท่านั้น...

 

ทุกอย่างไม่มีกฎตายตัว ขึ้นอยู่กับประเทศสินค้า ขึ้นอยู่กับโจทย์ทางการตลาดว่าต้องการแบบไหน   
 

“ยอด conversion rate ของเราขึ้นเท่าหนึ่ง เพียงเพราะแค่เปลี่ยนคำ อย่าง ขาย POS...ทุกอย่างจบในโซลูชั่นเดียว...พอเรา เปลี่ยนเป็น... มีรายงาน เช็ค สต๊อกได้....แค่นี้เอง ก็สามารถเพิ่มยอดขึ้นเท่าตัว...ทำไงถึงจะสำเร็จ ก็เลยตอบได้ว่าไม่รู้ เพราะเราต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ”
 

การที่ต้องทำทุกอย่างเร็ว งานจุกจิก และเยอะแยะไปหมด ทำให้การคัดเลือกทีมงานเข้ามาร่วมทีมสำคัญมากๆ หากไม่มีความชอบจริงๆ ไม่มีความพิเศษจริงๆ ก็ไปยาก เพราะที่ผ่านมา มีถึง 40% ที่อยู่ได้เพียงอาทิตย์เดียวแล้วลาออกไป ดังนั้น หัวใจสำคัญในการคัดเลือกทีม คือการดูคุณสมบัติตาม Core Values ขององค์กร ได้แก่ Be Bold กล้าทำ ทำไปก่อนเลย ผิดไม่เป็นไร, Be Fast ถ้าไม่เร็วคือตายแน่นอน, Be persistent ถ้าผิด แต่ต้องไปต่อได้ อย่ายอมแพ้, Be Inspired เป็นคนนิสัยดีที่มีแรงบันดาลใจ มีเป้าหมาย มีเพอร์เพิร์ส ไม่ได้เป็นยาพิษสำหรับเพื่อนร่วมงาน ฉันสร้างสิ่งที่แตกต่างได้, Beyond Expectation เขาขอเท่านี้ แต่เราทำให้เท่านี้ 
 

นี่คือ Buzzebees Value ที่มาสร้างให้เกิดงานที่มีประสิทธิภาพให้กับลูกค้า
 หากจะบอกว่า การหาทีมงานยากแล้ว การรักษาทีมก็ยากเช่น “คุณพิงค์” บอกว่า คนพวกนี้เก่ง เพราะฉะนั้นการบริหารต้องบริหารตามวิธีของเขา และที่สำคัญต้องมีเวทีให้กับพวกเขา เขาอยากทำ ทำ ทำผิดแล้วถอยออกมานะ ซึ่งโชคดีที่ว่า งานดิจิทัลเป็นงานที่เห็นฟีดแบ็กเร็ว เพราะฉะนั้นทดลองนิดๆ หน่อยๆ ก็จะรู้ว่าเวิร์คหรือไม่ 
 

“เรากระตุ้นเขาในภาพใหญ่ ต้องไกด์เขา และให้เวที...เขาไม่คิดเหมือนเรา เราเก่าไปแล้ว เราต้องฟังเขาเยอะๆ แล้วก็คอมเม้นท์ ในส่วนที่เขาฟุ้ง พยายามจะกำลังใจ เพื่อให้เขาได้ลองทำ” 
 

Buzzebees ผลักดัน 5 ค่านิยมองค์กร  สร้าง Next Chapter สู่ยูนิคอร์น “คุณพิงค์” มีกลยุทธ์ในการดึงกลุ่มคนมีพลังเหล่านี้ด้วยการให้เวที ให้กำลังใจ และยังให้หุ้น ทำให้เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เป็นเจ้าของธุรกิจ และพลังเหล่านี้ คือตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้บัซซี่บีส์ไปสู่เป้าหมาย คือ การก้าวสู่การเป็น Regional Player และเป็นยูนิคอร์นภายใน 2 ปี ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นเค้าลางแล้ว โดยคาดว่าปีนี้จะมีรายได้แตะ 3,000 ล้านบาท
 

หลังจากนี้ เป้าหมายใหญ่คือ การเป็น “เดคาคอร์น (Decacorn)” ที่มีรายได้หลักหมื่นล้าน...เป้าหมายนี้แม้จะไม่ง่าย แต่ด้วยพลังที่มี ทั้งพลังจากผู้บริหารและทีมงาน เชื่อว่าอีกไม่นาน “คุณพิงค์” และทีมจะสามารถเดินสู่เป้าหมายใหญ่ได้แน่นอน 

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,862 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566