‘เฮลท์ลีด’ เภสัชกรนักบริหาร ผลักดันนวัตกรรม งานวิจัยคนไทยสู่ตลาดโลก

21 ม.ค. 2566 | 07:16 น.

 นับจากเกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด -19 ทำให้ทั่วโลกที่สนใจเรื่องสุขภาพอยู่แล้ว ยิ่งตื่นตัวมากขึ้นอีก รวมถึงคนไทยด้วย ดังนั้น ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการแพทย์จึงกลายเป็นบูลโอเชี่ยน ที่นักวิจัยนักพัฒนาต้องหานวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาตอบโจทย์ตลาดอย่างต่อเนื่อง

และนั่นคือโอกาสทางธุรกิจของบริษัท เฮลท์ลีด จำกัด (มหาชน) ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะ

 

“ภก.ธัชพล ชลวัฒนสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮลท์ลีด จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ธุรกิจร้านขายยาของเฮลท์ลีด เกิดมาเกือบ 30 ปี จนวันนี้มีแบรนด์ร้านขายยา 4 แบรนด์ คือ PharMax, VitaminClub, Super Drug และ I Care รวมจำนวนกว่า 36 สาขา ที่พร้อมขยายสาขาเพิ่มขึ้นทุกปี และยังมีอีกหนึ่งธุรกิจในกลุ่ม ภายใต้บริษัท เฮลทิเนส จำกัด คือ การคิดค้น และพัฒนาร่วมกับทีมวิจัยภายนอก รวมทั้งว่าจ้างผู้ผลิต เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ ภายใต้ 2 แบรนด์ อาทิ PRIME และ Besuto
 

‘เฮลท์ลีด’ เภสัชกรนักบริหาร ผลักดันนวัตกรรม งานวิจัยคนไทยสู่ตลาดโลก

เฮลท์ลีด เป็นบริษัท โฮลดิ้ง คอมปานี ที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (MAI) เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) เมื่อปลาย 2564 ด้วยเป้าหมายสำคัญคือ การสร้างความเชื่อถือและเชื่อมั่นสำหรับแบรนด์นวัตกรรมสุขภาพของคนไทย ที่ “ธัชพล” มีเป้าหมายในการผลักดันให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก 
      ‘เฮลท์ลีด’ เภสัชกรนักบริหาร ผลักดันนวัตกรรม งานวิจัยคนไทยสู่ตลาดโลก

“ธัชพล” บอกว่า ธุรกิจร้านขายยา เป็นธุรกิจที่เกิดก่อน และเติบโตมาอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 20% และในปี 2565 สามารถขยายตัวได้กว่า 20% จากยอดขายปี 2564 อยู่ที่ 1,200 ล้านบาท 
 

ช่วงแรกๆ ของการเปิดร้านยา เป็นช่วงของการเรียนรู้ ดังนั้น การเติบโต และการขยายสาขาจึงทำแบบค่อนเป็นค่อยไป จนช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ลงทุนระบบใหม่ ทำการเชื่อมต่อข้อมูลให้เป็นเรียลไทม์ทุกสาขา พร้อมทั้งทำ Data Analytics วิเคราะห์ข้อมูลการตลาด และผู้บริโภค ทำให้สามารถขยายสาขาได้ถึง 11 สาขาในปีที่แล้ว และปี 2566 จะขยายได้อีก 14 สาขา ในทั้ง 4 แบรนด์ที่มี ซึ่งแต่ละแบรนด์มีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันอยู่แล้ว
    

ส่วนของบริษัท เฮลทิเนส ที่ทำพวกงานวิจัยนวัตกรรมต่างๆ อาทิ เจลแอลกอฮอล์  อาหารเสริม ยา เครื่องมือทางการแพทย์ โดยการทำงานของ เฮลทิเนส ทุกชิ้นงานจะมีงานวิจัยซัพพอร์ต และมีการส่งผลงานไปประกวดต่างประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อถือและการยอมรับในระดับสากล 
    

ส่วนของงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ทำอยู่ 2-3 ปี ยอดขายก็เติบโตแทบจะสองเท่าทุกปี ถือเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะบริษัทเน้นการพัฒนาโปรดักต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด โดยการต่อยอดจากงานวิจัยของนักคิดนักพัฒนา 
    

“เราโฟกัสทั้งสองธุรกิจไปพร้อมๆ กัน อย่างกลุ่ม Besuto ปี 2564 ยอดขายอยู่ที่ 6 ล้านกว่า ปี 2565 คาดว่าน่าจะอยู่ที่ 20-30 ล้านบาท ถ้ารวม 2 แบรนด์ ปี 2565 เราขึ้นมาเกือบ 53 ล้านบาทแล้ว ปิด 6 เดือน ก็น่าจะมากกว่า 2563 แล้ว อนาคตน่าจะทำนิวไฮท์ ทั้งยอดขายและกำไร ตอนนี้โตกว่า 20% แน่นอน”
    

คีย์ซัคเซสของการทำธุรกิจทั้งเชนร้านขายยา และงานคิดค้นพัฒนานวัตกรรม “ธัชพล” บอกว่า ด้านหนึ่งคือเรียนเภสัชฯ และอีกด้านคือเรียนทางด้านบริหาร ทำให้เข้าใจการทำธุรกิจ และเข้าใจเภสัชกร การทำธุรกิจร้านขายยา สิ่งสำคัญคือต้องมีเภสัชกรประจำร้าน ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีปัญหา เพราะตัวเองเป็นอาจารย์สอนด้านเภสัชฯ อยู่ 5 มหาวิทยาลัย สามารถรับน้องๆ มาฝึกงานได้ และยังเป็นสถาบันสมทบของเภสัชจุฬาฯ ที่สามารถอบรมคนได้ เรามีเภสัช 70-80 คน และยังมีซัพพลายเออร์ที่ดี ทำให้ธุรกิจเชนร้านขายยาไม่มีปัญหา 
    

“ฝั่งงานวิจัย เราต่อยอดได้เยอะ มุมหนึ่งเราคุยกับนักวิจัยรู้เรื่อง เพราะเราเป็นเภสัชกรเหมือนกัน และเราเข้าใจผู้บริโภค แบบไหนผู้บริโภคต้องการ เราทำมาร์เก็ตรีเสิร์ซ เมื่อนำมาประกอบร่างกัน ก็ได้ความสมบูรณ์แบบ เราไปหางานวิจัยที่มาต่อยอดตอบโจทย์ผู้บริโภคได้”
    

“ธัชพล” เล่าอีกว่า ในอนาคต จะมีงานวิจัยออกมาทุกปี เป้าหมายขององค์กรคือ การเข้าตลาดฯ เพราะต้องการความน่าเชื่อถือ บริษัทพยายามพัฒนาโปรดักส์ และคุยกัยต่างประเทศมาระยะหนึ่ง เพราะต้องการนำงานวิจัยดีๆ ของคนไทยไปขายต่างประเทศให้ได้ ตอนนี้เป้าหมายคือ จีน รัสเซีย มาเลเซีย หลังจากนั้น ก็มีเกาหลีใต้ ซึ่งมีการส่งผลงานไปชิงรางวัล เมื่อได้ ก็จะทำตลาดที่เกาหลีใต้ทันที
    

ผู้บริหาร “เฮลท์ลีด” บอกอีกว่า ธุรกิจร้านยามันเป็นปัจจัย 4 ที่คนต้องใช้ เป็นตลาดที่ใหญ่มากและเป็นนิวเอสเคิร์ฟ ถ้างานออกมาแล้วตอบโจทย์ ตลาดก็ไปเร็ว
‘เฮลท์ลีด’ เภสัชกรนักบริหาร ผลักดันนวัตกรรม งานวิจัยคนไทยสู่ตลาดโลก     

จากการระดมทุนในตลาดฯ ทำให้ “เฮลท์ลีด” มีเงินพร้อมสำหรับการลงทุนกว่า 700 ล้านบาท ที่สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจได้ทันที ซึ่งการขยายสาขาก็ใช้เงินไม่มาก ดังนั้นเงินจำนวนนี้อาจนำไปใช้เพื่อการซื้อกิจการต่อยอดจากธุรกิจที่ทำอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมในทุกรูปแบบ หากพร้อม ก็สามารถดำเนินการได้ทันที 

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,854 วันที่ 19 - 21 มกราคม พ.ศ. 2566