AOT คาดผู้โดยสารปีนี้แตะ 95 ล้านคน เปิดอาคารเทียบเครื่องบินหลังใหม่ก.ย.นี้

01 ก.ค. 2566 | 09:26 น.

AOT คาดผู้โดยสารปีนี้แตะ 95 ล้านคน เร่งแก้ปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิแออัด เตรียมเปิดอาคารเทียบเครื่องบินหลังใหม่(SAT-1) ก.ย.นี้ เดินหน้าขยายสนามบินดอนเมืองเฟส3 -สนามบินภูเก็ต รับผู้โดยสารเพิ่ม

วันนี้(วันที่ 1 กรกฎาคม 2566) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ครบรอบ 44 ปี กางแผนพัฒนาศักยภาพสนามบิน เสนอประสบการณ์การเดินทางที่น่าประทับใจให้แก่ผู้โดยสารในสนามบินที่ทันสมัยด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวก และเร่งรัดการขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานให้สามารถรองรับผู้โดยสารในอนาคต

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ AOT หรือ ทอท. กล่าวว่า ตามที่ AOT ได้คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในปี 2566 ไว้ว่าจะกลับมาที่ประมาณ 95 ล้านคนต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 142 ล้านคนต่อปีในปี 2567 หรือเทียบเท่ากับก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น 

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์

ขณะนี้ปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) ในรอบ 8 เดือนของปีงบประมาณ 2566 (1 ตุลาคม 2565 – 31 พฤษภาคม 2566) มีผู้โดยสารใช้บริการทั้งสิ้น 66.38 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 170.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 

แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 34.31 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 635.7 และผู้โดยสารภายในประเทศ 32.06 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.3 ขณะที่มีเที่ยวบิน 422,900 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 79 แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 202,700 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 175.2 และเที่ยวบินภายในประเทศ 220,300 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.4 

สำหรับผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) มีผู้โดยสาร 31.60 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 230.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 23.46 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 575.8 และผู้โดยสารภายในประเทศ 8.14 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.8 และมีเที่ยวบิน 192,000 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.1 แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 131,000 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 118.2 และเที่ยวบินภายในประเทศ 61,000 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 

AOT คาดผู้โดยสารปีนี้แตะ 95 ล้านคน เปิดอาคารเทียบเครื่องบินหลังใหม่ก.ย.นี้

ขณะที่สนามบินดอนเมือง (ทดม.) มีผู้โดยสาร 17.03 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 158.6 แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 5.16 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4,029.3 และผู้โดยสารภายในประเทศ 11.87 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 83.7 และมีเที่ยวบิน 117,300 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 110.3 แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 38,600 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1,080.2 และเที่ยวบินภายในประเทศ 78,700 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.8 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงของเดือนพฤษภาคม 2566 เปรียบเทียบจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันกับช่วงก่อนโควิด-19 พบว่า ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT มีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ย  300,000 คนต่อวัน ฟื้นตัวร้อยละ 76.5 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19

โดยผู้โดยสาร ณ สนามบินสุวรรณภูมิเฉลี่ยที่ประมาณ 140,000 – 150,000 คนต่อวัน ฟื้นตัวร้อยละ 70 ส่วนที่ ทดม.มีผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 90,000 - 100,000 คนต่อวัน ฟื้นตัวร้อยละ 65

ดร.กีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากตัวเลขปริมาณการจราจรทางอากาศที่เกิดขึ้นจริงและการประมาณการของ AOT สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ที่พบว่าปริมาณผู้โดยสารในช่วงปี 2566 – 2567 จะกลับมาเทียบเท่ากับปี 2562 และจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น AOT ในฐานะประตูต้อนรับผู้เดินทางจากทั่วโลก ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัดการขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยาน และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ โดยเฉพาะท่าอากาศยานหลักที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ได้แก่ ทสภ. ทดม. และ ทภก. ซึ่งในส่วนของ ทสภ.มีความพร้อมรองรับผู้โดยสาร

ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาให้บริการ ได้แก่ เครื่อง CUSS (Common Use Self Service) สำหรับผู้โดยสารสามารถเช็กอินด้วยตนเอง และเครื่อง CUBD (Common Use Bag Drop) สำหรับให้ผู้โดยสารสามารถโหลดกระเป๋าสัมภาระได้เอง

รวมไปถึงระบบส่งคืนถาดใส่สัมภาระอัตโนมัติ (Automatic Return Tray System: ARTS) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความคับคั่งในการรอต่อคิว ณ เคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร และบริเวณจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ รวมไปถึงการเชื่อมต่อข้อมูลการบริการต่างๆ ของสนามบินไปไว้บนแอปพลิเคชัน SAWASDEE by AOT เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา

AOT คาดผู้โดยสารปีนี้แตะ 95 ล้านคน เปิดอาคารเทียบเครื่องบินหลังใหม่ก.ย.นี้

ดร.กีรติ กล่าวว่า ในด้านการแก้ไขปัญหาความแออัดของผู้โดยสารบริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทาง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ AOT มีแผนจะติดตั้งเครื่อง Auto Channel เพื่อให้บริการผู้โดยสารขาออก ซึ่งสามารถรองรับ e-Passport ได้ 90 ประเทศทั่วโลก

ขณะที่ผู้โดยสารขาเข้านอกจากผู้โดยสารชาวไทยแล้ว ประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือในด้านการผ่านเข้าประเทศกับประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง  ทำให้ผู้โดยสารของประเทศเหล่านี้สามารถใช้บริการ Auto Channel ได้

ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มนำร่องให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง โดยจะทยอยติดตั้งและให้บริการได้ในปี 2567 ซึ่งจะทำให้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารขาออกจาก 6,200 คนต่อชั่วโมง เป็น 8,800 คนต่อชั่วโมง และรองรับผู้โดยสารขาเข้าจาก 11,000 คนต่อชั่วโมง เป็น 13,300 คนต่อชั่วโมง

ส่วนที่สนามบินดอนเมืองสามารถรองรับผู้โดยสารขาออกจาก 3,000 คนต่อชั่วโมง
เป็น 3,600 คนต่อชั่วโมง และผู้โดยสารขาเข้าจาก 3,100 คนต่อชั่วโมง เป็น 3,600 คนต่อชั่วโมง

สำหรับการแก้ไขปัญหากระเป๋าสัมภาระล่าช้าเนื่องจากผู้ให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นไม่เพียงพอ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ณ ทสภ.ของผู้ประกอบการรายที่ 3 พร้อมกับโครงการให้บริการคลังสินค้า ณ ทสภ.ของผู้ประกอบการรายที่ 3 แล้วเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566

ขณะนี้ AOT อยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน พ.ศ.2562 ในส่วนของการคัดเลือกเอกชน คาดว่าจะได้ผู้ดำเนินการภายในปี 2567 ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาสัมภาระล่าช้าและรองรับสายการบินที่จะทำการบินมายังประเทศไทยได้มากขึ้น พร้อมทั้งเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศไทยต่อไป

ดร.กีรติ กล่าวว่า การดำเนินงาน AOT ในก้าวต่อไป จะยังคงมุ่งสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้ผู้โดยสารได้มา
ใช้บริการสนามบินที่ทันสมัย พร้อมสัมผัสประสบการณ์การเดินทางที่น่าพึงพอใจ โดย AOT จะนำระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System: Biometric) ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition เพื่อใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสาร

โดยเมื่อผู้โดยสารมาเช็กอินที่เคาน์เตอร์เช็กอินปกติ หรือที่เครื่อง CUSS หากผู้โดยสารให้การยินยอมใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ระบบ Biometric จะนำข้อมูลใบหน้าผู้โดยสารผสานรวมกับข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสาร สร้างเป็นข้อมูลสำหรับใช้ในการตรวจสอบยืนยันตัวตน เรียกว่าข้อมูล One ID ซึ่งเมื่อดำเนินการสำเร็จ 

ผู้โดยสารจะใช้เพียงใบหน้าสแกนเพื่อโหลดกระเป๋าสัมภาระที่เครื่อง CUBD รวมถึงใช้ยืนยันตัวตนแทนการใช้ Boarding Pass ณ จุดตรวจค้นและในขั้นตอนการตรวจบัตรโดยสารก่อนขึ้นเครื่อง ณ ประตูทางออกขึ้นเครื่องด้วย โดยระบบ Biometric ใช้เวลาน้อย มีความแม่นยำสูง และช่วยลดระยะเวลาในการรอคิวในการตรวจสอบแต่ละจุดให้บริการ ซึ่งขณะนี้ AOT ได้ติดตั้ง พัฒนาและอยู่ระหว่างทดสอบระบบร่วมกับสายการบิน คาดว่าจะมีความพร้อมให้บริการในช่วงกลางปี 2567

อีกทั้งในเดือนกันยายน 2566 AOT เตรียมเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) ณ ทสภ.อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้อีก 15 ล้านคนต่อปี ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร
ได้เป็น 60 ล้านคนต่อปี อาคาร SAT-1 มีพื้นที่กว้างขวางถึง 216,000 ตารางเมตร มีประตูทางออกเชื่อมต่อกับหลุมจอดประชิดอาคาร (Contact Gate) จำนวน 28 หลุมจอด

AOT คาดผู้โดยสารปีนี้แตะ 95 ล้านคน เปิดอาคารเทียบเครื่องบินหลังใหม่ก.ย.นี้

โดย AOT ได้มีการออกแบบอาคารที่ผสมผสานความทันสมัยและมีเอกลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นไทยมาติดตั้งและสอดแทรกในบริเวณต่างๆ ของอาคาร ซึ่งมีความสวยงาม ประณีต สะท้อนมรดกวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวไทยในแต่ละภูมิภาค พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน โดยคำนึงถึงการใช้งานของทุกเพศทุกวัยอย่างเท่าเทียมด้วยการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design)

เช่น ห้องนั่งสมาธิ ห้องละหมาดที่แยกระหว่างหญิง - ชาย ห้องแม่และเด็ก (Babycare Room) รวมทั้งมีห้องและพื้นที่สำหรับเด็กเล่น เก้าอี้พักคอยที่ติดตั้ง
ที่ชาร์จพร้อมอุปกรณ์เสริมเต้ารับไฟฟ้าช่องเสียบ USB แบบ Universal เป็นต้น

ทั้งในอนาคต AOT จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่อีก 60,000 ตารางเมตร

ทำให้ลดความหนาแน่นบริเวณพื้นที่ให้บริการของอาคารผู้โดยสารหลัก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงแบบก่อสร้างเพื่อให้สอดรับกับบริบทการบินที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคาดว่าจะดำเนินการปรับปรุงแบบฯ แล้วเสร็จในปี 2567

ในส่วนของ ท่าอากาศยานดอนเมืองได้รับการอนุมัติโครงการพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 จากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว  ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการออกแบบ โดยคาดว่าจะดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จในปี 2567

โดยจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2568 ซึ่งตามแผนงานจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เพื่อให้บริการผู้โดยสารระหว่างประเทศ มีพื้นที่บริการกว่า 160,000 ตารางเมตร

หลังจากนั้นจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร 1 และอาคารผู้โดยสาร 2 ในปัจจุบัน เพื่อให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศรวมพื้นที่กว่า 240,000 ตารางเมตร ซึ่งจะทำให้ ทดม.รองรับผู้โดยสารได้เป็น 50 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้  จะมีการปรับปรุงระบบจราจรโดยจะก่อสร้างชานชาลารับ-ส่ง เป็น 6 ช่องจราจร

รวมถึงก่อสร้างทางเชื่อมจากทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์เข้าสู่ชานชาลาผู้โดยสารขาออก และก่อสร้างทางขึ้นทางยกระดับฯ จากภายใน ทดม. ตลอดจนก่อสร้างจุดเชื่อมต่ออาคารผู้โดยสารไปยังรถไฟฟ้าสายสีแดงด้วย

สำหรับประตูหลักสู่ภาคใต้ คือ ท่าอากาศยานภูเก็ตซึ่งขณะนี้อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศมีผู้ใช้บริการเต็มศักยภาพ AOT จึงจำเป็นต้องเร่งก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เป็น 18 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะจัดหาผู้ออกแบบได้ในปี 2567

นอกจากนี้ในอนาคตหาก AOT เข้าบริหารท่าอากาศยานกระบี่ที่มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ 6.5 ล้านคนต่อปี จะทำให้ขจัดปัญหาความหนาแน่นของปริมาณการจราจรทางอากาศของภาคใต้ รวมไปถึงการเข้าบริหารท่าอากาศยานบุรีรัมย์และท่าอากาศยานอุดรธานีจะเป็นการเพิ่มโครงข่ายการบินทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะทำให้ AOT สามารถบริหารโครงข่ายทางการบินได้อย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ

ดร.กีรติ กล่าวว่า นอกจากการคำนึงถึงการเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้บริการท่าอากาศยานแล้ว AOT  ยังให้ความสำคัญในการบริหารท่าอากาศยานเพื่อให้เป็นท่าอากาศยานสากลชั้นนำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างยั่งยืน มีนโยบายด้านการจัดการพลังงานให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โดยเริ่มโครงการพลังงานทดแทนในท่าอากาศยาน โดยเฉพาะ ทสภ.ซึ่งมีปริมาณการใช้ไฟฟ้ามาก  ได้มีการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารผู้โดยสาร (Rooftop Solar Cell) ขนาดกำลังผลิต 4.4 เมกกะวัตต์ และในอนาคตจะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ทดแทนแบบเดิมในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น

โดย AOT มีแผนจะติดตั้งระบบ Solar Cell ให้ครบทุกท่าอากาศยาน ตลอดจนมีแผนเปลี่ยนรถและอุปกรณ์ภาคพื้นที่ให้บริการในท่าอากาศยานเป็นระบบไฟฟ้า (Electric Vehicle) เพื่อมุ่งสู่การเป็นสนามบินที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon)