ทอท.ตั้งเป้าดัน "สุวรรณภูมิ" Top 30 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก

30 พ.ค. 2566 | 05:14 น.

เอ็มดีใหม่ทอท.“กีรติ กิจมานะวัฒน์” วางเป้าหมาย 4 ปีนี้ ปั้นสนามบินสุวรรณภูมิ ไต่อันดับติดอันดับ 1 ใน 30 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก

เอ็มดีทอท.คนใหม่กีรติ กิจมานะวัฒน์” ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท. หรือ AOT  วางเป้าหมาย 4 ปีของการรับตำแหน่ง ไว้ว่านอกจากขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสารของสนามบินหลักต่างๆ และการนำทอท.กลับมาทำกำไร อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญ คือ การผลักดันให้ “สนามบินสุวรรณภูมิ” ไต่อันดับขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 30 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก

กีรติ กิจมานะวัฒน์

ในอดีตสนามบินสุวรรณภูมิเคยติดอันดับ 1 ใน 10 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก จาก Skytrak เมื่อปี 2553 หลังจากสนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2549 กระทั่งล่าสุดจากการจัดอันดับสนามบินที่ดีที่สุดในโลกปี 2566 สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ในลำดับที่ 68 ขยับขึ้นดีกว่าปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ลำดับ 77

ปั้น‘สุวรรณภูมิ’ Top 30 สนามบินดีที่สุดในโลก

ดังนั้นนโยบายเร่งด่วนที่ผมมองว่าเป็นประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนทอท. คือการเป็นผู้บริหารจัดการท่าอากาศยานที่ดี เพราะเราจะเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดในหน้าที่และธุรกิจของทอท. คือ การให้บริการผู้โดยสาร ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ทอท.ประสบวิกฤตโควิด ซึ่งกระทบทั้งโลก ตอนนี้เราก็ผ่านมาได้แล้ว อยู่ในช่วงฟื้นตัว ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือทำอย่างไงให้ การให้บริการผู้โดยสารกลับมาอยู่ในระดับอินเตอร์เนชั่นแนล สแตนดาร์ดให้ได้

“ผมมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนสนามบินสุวรรณภูมิ ให้กลับมาเป็นสนามบินที่ดีที่สุดของโลกสำหรับนักเดินทางอีกครั้ง ภายใน 2 ปี ต้องกลับมาเป็น 1 ใน 50 สนามบินที่ดีที่สุดของโลก และภายใน 4 ปี จะต้องกลับมาติด 1 ใน 30 สนามบินที่ดีที่สุดของโลกให้ได้”

แก้ปัญหา 3 คอขวดสนามบินแออัด

ตอนนี้ปัญหาสำคัญคือการให้บริการ ทั้งกระบวนการเช็คอิน ตรวจค้นผู้โดยสาร และการตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เป็น 3 กระบวนหลักที่จะเกิดขึ้นใน เทอร์มินัล (อาคารผู้โดยสาร)โดยเฉพาะที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีความล่าช้าโดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน ทำให้ผู้โดยสารเดินทางมาสนามบินก่อน 6-7 ชั่วโมง ล่วงหน้า เพราะกลัวตกเครื่องบิน ขณะที่เคาน์เตอร์สายการบินจะเปิดให้เช็คอินก่อนเดินทาง 3 ชั่วโมง ทำให้สนามบินยิ่งแน่น

ทำให้นโยบายเร่งด่วนที่จะเข้ามาดำเนินการก่อน คือ การแก้ปัญหา 3 จุดคอขวดในสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้แฟกซิลิตี้ของสนามบินที่เรามี อยู่ในปัจจุบันรองรับการเดินทางของผู้โดยสารให้ได้มากที่สุด ซึ่งในส่วนของการเช็คอิน ต้องยอมรับว่าโควิดทำให้ที่ผ่านมาสายการบินลดจำนวนพนักงานลงไปมาก ทำให้สายการบินเปิดเช็คเคาน์เตอร์ได้จำกัด

ทอท.จึงได้นำเทคโนโลยี Self Check-in และ Self-Service Bag Drop มาช่วยสายการบิน ให้ผู้โดยสารเช็คอินด้วยตัวเอง โดยติดตั้งราว 200 จุดทั่วสนามบินสุวรรณภูมิ ทอท.ไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม ผู้โดยสารและสายการ บินก็ได้ประโยชน์ รวมถึงทอท.ก็มีการเพิ่มเจ้าหน้าที่และเพิ่มจุดตรวจค้นผู้โดยสารให้มากขึ้น

ส่วนการตรวจคนเข้าเมือง ก็มีการประสานให้ตม.ช่วยจัดเจ้าหน้าที่มาให้บริการ โดยจัดโอทีให้กับเจ้าหน้าที่ตม. และในระยะยาวทอท.ก็มองที่จะนำระบบ AUTO GATE มาใช้ ที่มีการตั้งงบประมาณเพิ่มเติมที่จะติดตั้งอีก 16 เกท เพื่อให้ผู้เดินทางต่างชาติสามารถใช้บริการได้เหมือนคนไทย

ตอนนี้อยู่ระหว่างหารือกับทางตม.ที่อยากจะนำมาใช้สำหรับผู้โดยสารขาออก ว่าจะใช้ได้กับนักท่องเที่ยวจาก 90 ประเทศได้หรือไม่ โดยแผนระยะสั้นนี้จะต้องอยู่ต่อไปจนกว่าทอท.จะเดินหน้าขยายอาคารผู้โดยสารต่างๆ ในสนามบินหลักแล้วเสร็จ

ถ้าเคลียร์ปัญหา 3 จุดอ่อนนี้ได้ ปัญหาความแออัดในเทอร์มินัลก็จะลดลง ทอท.คาดว่าภายในสิ้นปี 66 ผู้โดยสารจะกลับเข้ามาเท่ากับที่ระดับปี 62 (ก่อนโควิด) ที่เคยรับได้ 2 แสนคนต่อวัน เพราะตอนนี้เส้นทางบินในประเทศกลับมา 100%

ส่วนเส้นทางบินระหว่างประเทศกลับมาอยู่ที่ 70% และปลายปีนี้น่าจะกลับมากันเต็มที่ เราก็จะเห็นสภาพความแออัดเหมือนในปี 62 ที่เกิดขึ้น ซึ่งระยะสั้นนี้จะต้องอยู่ไปจนกว่าการขยายเทอร์มินัลของอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิในเฟสต่างๆ จะแล้วเสร็จ

เปิดใช้อาคาร SAT 1 ก.ย.นี้

ขณะที่แผนระยะกลาง ทอท.จะเปิดอาคารเทียบเครื่องบิน รองหลังที่ 1 (SAT 1) สนามบิน สุวรรณภูมิ เพิ่มพื้นที่อีก 2 แสนตร.ม. ในเดือนก.ย.นี้ ทำให้พื้นที่ในส่วนที่เป็นโถงพักคอยผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่องเพิ่มขึ้นอีก 50%

ส่งผลให้มีสะพานเทียบเครื่องบิน ประตูทางออกขึ้นเครื่องเพิ่มขึ้นอีก 28 GATE จากเดิมที่มีอยู่ 51 GATE ในฝั่งเทอร์มินัล ซึ่ง 1 สะพานเทียบก็รับผู้โดยสารได้ 1 ล้านคนต่อปี การเปิด SAT 1 ก็จะทำให้พื้นที่ในส่วนหลังเทอร์มินัล รองรับเพิ่มได้จาก 51 ล้านคนต่อปีเป็น 80 ล้านคนต่อปี เมื่อรวมกับ BUS GATE ก็น่าจะรับได้ใน 90 ล้านคน

ทอท.ตั้งเป้าดัน \"สุวรรณภูมิ\" Top 30 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก

เร่งขยายพื้นที่เทอร์มินัล สนามบินสุวรรณภูมิ

แต่จุดที่ยังเป็นปัญหาคือพื้นที่ในเทอร์มินัล ทำให้ทอท.ต้องเร่งรัดการขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสาร ซึ่งเป็นแผนระยะกลางกึ่งยาวที่จะเกิดขึ้น โดยผมจะเร่งรัดลงทุน “ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันออก” (East Expansion) ที่อยู่ระหว่างการทบทวนแบบให้สอดรับกับความต้องการของผู้โดยสารยุคใหม่และมาตรฐานการบินปัจจุบัน

เนื่องจากแบบเดิมทำมา 8-9 ปีแล้ว ที่ปรึกษาจะใช้เวลาในการปรับแบบ 6 เดือน น่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างได้ในต้นปี 67 ใช้เวลาก่อสร้างราว 3 ปี ทำให้มีพื้นที่เพิ่มอีก 6 หมื่นตร.ม. ลงทุนเพิ่มจาก 7 พันล้านบาทเป็น 9 พันล้านบาท ทอท.มีงบลงทุนนี้อยู่แล้ว เพราะอยู่ในงบเฟส 2 ของโครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ

ทอท.ตั้งเป้าดัน \"สุวรรณภูมิ\" Top 30 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก

ถัดจากนั้นก็จะลงทุน “ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันตก” (West Expansion) สนามบินสุวรรณภูมิ คาดลงทุน 9 พันล้านบาท เพราะพื้นที่ใกล้เคียงกันอีสต์ เทอร์มินัล ซึ่งต้องออกแบบให้แล้วเสร็จก่อน แล้วจึงจะนำเสนอครม. ซึ่งการลงทุนส่วนต่อขยายด้านตะวันออกและตะวันตกนี้ เป็นส่วนที่สภาพัฒน์ก็ผลักดันมา โดยตลอด

ผมก็มองว่าการเพิ่มพื้นที่อาคารผู้โดยสารไม่ว่าจะอยู่ส่วนใหญ่ถ้าทำได้ก็ทำก่อน เราปล่อยให้สนามบินสุวรรณภูมิตกอันดับมามากแล้ว และถ้าเราไม่เร่งขยายพื้นที่เพื่อรองรับผู้โดยสารให้ได้เพิ่มขึ้น คุณภาพในการให้บริการเราก็จะตกไปเรื่อยๆ

ดังนั้นเมื่อทุกหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานอนุมัติเห็นชอบไปในทิศทางเดียวกันให้เราขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสารฝั่งอีสต์และเวสต์ได้ ผมก็จะเร่งผลักดันก่อนให้แล้วเสร็จในช่วงที่ผมอยู่ในตำแหน่ง หลังจากเริ่มลงทุนใน 2 ส่วนนี้ไปแล้ว เราก็จะค่อยมาดูเปรียบเทียบหมัดต่อมัดเลยว่าระหว่างการสร้าง “ส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศเหนือ” (North Expansion) กับ “ส่วนต่อขยายด้านทิศใต้” (South Expansion) ของสนามบินสุวรรณภูมิ การลงทุนในส่วน ไหนจะเป็นเหตุเป็นผล

“ตอนนี้ผมยังไม่ได้ปิดประตูเรื่องการขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าต้องมาดูด้วยว่า สนามบินสุรรณภูมิที่เรามี 4 รันเวย์ รับผู้โดยสารได้มากสุดที่ 120 ล้านคน ซึ่งพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลักในปัจจุบัน รวมกับการขยายอาคารด้านทิศตะวันออกและตะวันตก จะรองรับผู้โดยสารได้ 90 ล้านคนแล้ว

การจะเพิ่มอีก 30 ล้านคน ไปสร้างด้านทิศเหนือ ลงทุนที่ 4 หมื่นล้านบาท เปรียบเทียบกับทิศใต้ลงทุน 1.2 แสนล้านบาท แล้วจะลงทุนอะไร คงต้องมาดูเหตุและผลระยะยาวว่าเป็นอย่างไร ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ยังมีการหารือกันได้ และต้องศึกษาแผนแม่บทให้ชัดเจน” นายกีรติ กล่าวทิ้งท้าย