“กรดซัลฟิวริก” สารเคมีพิษหากดื่ม หรือ สัมผัส อันตรายถึงเสียชีวิตได้

09 เม.ย. 2567 | 02:09 น.

“กรดซัลฟิวริก” สารเคมีพิษอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ภายหลัง สทนช.ออกประกาศเตือนให้เฝ้าระวังผลกระทบคุณภาพน้ำใน แม่น้ำโขง

จากกรณี สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ออกประกาศเตือนให้เฝ้าระวังผลกระทบคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง หลังจากที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แจ้งว่ามีอุบัติเหตุรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำ ส่งผลให้มี “กรดซัลฟิวริก” จำนวน 30 ตัน ไหลลงสู่แม่น้ำคาน บริเวณแขวงหลวงพระบาง เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา และจะไหลลงลุ่มน้ำโขงวันที่ 5 เมษายน ก่อนจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ช่วงวันที่ 8 - 10 เมษายน 2567

พร้อมกับออกประกาศแจ้งเตือนให้จังหวัดที่ติดลุ่มน้ำโขง ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และ อุบลราชธานี ติดตามสถานการณ์คุณภาพน้ำและเฝ้าระวังผลกระทบจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนที่สัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง การประมงสัตว์น้ำ รวมทั้งผู้ที่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าว

ทำความรู้จัก “กรดซัลฟิวริก”

กรดซัลฟิวริก คือ กรดกำมะถัน กรดซัลฟิวริก คือสารเคมี มีคุณสมบัติละลายได้ในน้ำ สามารถใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรมถือว่าเป็นส่วนผสมหลัก ๆ ที่ทำช่วยเร่งปฏิกิริยาได้ดี มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่หากนำกรดซัลฟิวริกเข้มข้น 98% ผสมกับน้ำเพื่อเจือจาง จะก่อให้เกิดความร้อนสูง บ้างครั้งอุณหภูมิ อาจจะสูงถึง 130-180 องศาเซลเซียส(ขึ้นกับความเข้มข้น) ฉะนั้นผู้ที่ทำงานด้านนี้ต้องมีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษ

“กรดซัลฟิวริก” สารเคมีพิษหากดื่ม หรือ สัมผัส อันตรายถึงเสียชีวิตได้

อันตรายของกรดซัลฟิวริก

มีฤทธิ์กัดกร่อนวัตถุเกือบทุกชนิด ทำให้เกิดการระคายเคืองต่ออวัยวะสัมผัส มีพิษเฉียบพลันหากสูดดม ซัลฟิวริกมีฤทธิ์กัดกร่อนอย่างรุนแรง สารละลายของกรดซัลฟิวริก ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ตาและเยื่อบุได้อย่างรุนแรง

ถ้าได้รับทางปาก เยื่อบุทางเดินอาหารตั้งแต่ปาก คอหอย หลอดอาหาร ผู้ป่วยจะปวดอย่างรุนแรงและไม่สามารถกลืนอาหารได้ เซลล์เยื่อบุของอวัยวะที่สัมผัสกับกรดซัลฟิวริกจะตาย โดยแผลที่โดนกรดซัลฟิวริกจะเปลี่ยนเป็นสีขาวเทา แล้วจึงเปลี่ยนเป็นสีดำ

กรดซัลฟิวริก เป็นพิษต่อร่างกาย

ความเป็นพิษต่อร่างกายของกรดซัลฟิวริกมีดังนี้  หากผิวหนังสัมผัสโดยตรง ทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรง ผิวหนังไหม้ ปวดแสบปวดร้อน และ เกิดแผลพุพอง ดวงตา การสัมผัสโดยตรงกับของเหลว ไอ หรือหมอกควันของกรดซัลฟิวริก จะทำให้ดวงตาระคายเคือง พร่ามัว ตาแดง น้ำตาไหล กระจกตาเสียหาย และกรอกตาไปมาไม่ได้ ถ้าหากโดนดวงตามาก ๆ อาจทำให้เกิดการไหม้อย่างสาหัส จนถึงตาบอดได้

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากกรดซัลฟิวริก แต่อย่างใด.