วิกฤต “แม่น้ำโขง” 3 ชาติแข่งสร้างเขื่อน ระดับน้ำลดลงมากกว่า 1 เมตร

18 ธ.ค. 2566 | 08:51 น.

อาเซียนส่อวิกฤต "จีน ลาว กัมพูชา" แข่งสร้างเขื่อนบนเแม่น้ำโขง-ภาวะโลกเดือด กระทบระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงมากกว่า 1 เมตรจากในอดีต ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา รับเคราะห์ถ้วนหน้า

ผมเพิ่งกลับจากเขตมัณฑะเลย์ เมียนมา พบว่าแม่น้ำอิรวดีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณน้ำที่ลดลง ไม่ต่างจากแม่น้ำโขง 4,909 กม. ที่ยาวเป็นอันดับที่ 12 ของโลก อันดับ 3 เอเชีย รองจากแม่น้ำแยงซียาว  6,300 กม. แม่น้ำเหลืองยาว 5,464 กม.

แม่น้ำเหล่านี้เกิดจากที่ราบสูงทิเบต  หรือ คนจีนเรียก “ที่ราบสูงชิงไห่–ทิเบต” อินเดียเรียก “ที่ราบสูงหิมาลัย” ครอบคลุม 7 ประเทศคือ จีน อินเดีย เนปาล ปากีสถาน และภูฏาน เป็นต้น พื้นที่กว่าร้อยละ 80 อยู่ในประเทศจีน เพราะครอบคลุม 5 มณฑล คือ เขตปกครองตนเองทิเบต มณฑลชิงไห่ มณฑลยูนนาน มณฑลเสฉวน และมณฑลกานซู่ ส่วนอินเดียกินพื้นที่ใน ลาดักและหิมาจัลประเทศ ที่ราบสูงทิเบตขนาด 2.5 ล้าน ตร.กม.

บทความโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด

ชีวิตของคนเอเซีย ขึ้นกับ ที่รามสูงทิเบตเพราะ เป็นแหล่งกำเนิด “แม่น้ำ 8 สายสำคัญ” ของเอเชียคือ แม่น้ำอินดุล (Indus) ในปากีสถาน แม่น้ำคงคาในอินเดีย แม่น้ำอิรวดีในเมียนมา แม่น้ำโขง แม่น้ำแยงซี และแม่น้ำเหลืองในจีน แม่น้ำเหล่านี้เข้าไปเกี่ยวข้องกับประชากรกว่า 1 พันล้านคน (คิดจากเส้นทางแม่น้ำไหลผ่าน)

แม่น้ำทั้ง 8 สาย มีเพียงแม่น้ำโขงเท่านั้น ที่เป็น “แม่น้ำนานาชาติ” เพราะไหลผ่าน 6 ประเทศ คือ จีน ลาว ไทย  กัมพูชา  เวียดนาม  และเมียนมา แม่น้ำโขงครอบคลุมพื้นที่รับน้ำในลุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 496.875 ล้านไร่แล้วไหลลงสู่ทะเลจีนใต้

วิกฤต “แม่น้ำโขง” 3 ชาติแข่งสร้างเขื่อน ระดับน้ำลดลงมากกว่า 1 เมตร

แม่น้ำโขงแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ แม่น้ำโขงตอนบนอยู่ในมลฑลยูนนาน จีนเรียกว่า “แม่น้ำหลานชาง เจียง” (Lancang Jiang) แม่น้ำโขงตอนล่างอยู่ในไทย เมียนมา ลาว กัมพูชา และแม่โขงเดลต้าในเวียดนาม

“ทำไม แม่น้ำโขงวิกฤต”  1.ความร่วมมือ มากเกินไป ปัจจุบันมีกรอบความร่วมมือ 9 กรอบความร่วมมือคือ อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) (1994) ASEAN-Mekong Basin Development Cooperation (1996) the India-led Mekong-Ganga Cooperation (MGC) (2000)  ACMECS (2003) Lower Mekong Initiative (2009) the Mekong-Japan Cooperation (MJC) (2009) the Mekong-Republic of Korea Cooperation (Mekong-ROK) (2011) Lancang-Mekong Cooperation (LMC) (2016)  the Japan-US Mekong Power Partnership (JUMPP).(2019)  ภาพรวมการมีกรอบความร่วมมือน่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำ แต่ในความเป็นจริงแล้วมีผลกระทบคือ  1.จะยิ่งทำให้การพัฒนาช้าลง เป็น “เบี้ยหัวแตก” 2.แต่ละกรอบความร่วมมือก็มีวาระของแต่ละประเทศ ทั้งเศรษฐกิจ และการเมือง 3. กรอบความร่วมใดมีเงินเยอะ จะทำให้กรอบความร่วมมือเงินน้อย หมดความสำคัญลง เช่น ACMECS ตั้งมา 20 ปี ไม่มีผลกระทบเป็นชิ้นเป็นอัน

2.สร้างเขื่อน แม่น้ำโขงในจีนยาว 2,047 กม. (ยูนนาน ชิงไห่) ในไทยยาว 1,500 กม. (เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี) ลาวยาว 777 กม. กัมพูชา 300 กม. เวียดนาม 250 กม. ที่เหลืออยู่ในเมียนมา

มี 3 ประเทศที่สร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในเส้นทางหลัก ทั้งจีน ลาว และกัมพูชา “รวม 23 เขื่อน” การสร้างเขื่อนเพื่อใช้ไฟฟ้าได้ส่งผลกระทบเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ชาวบ้านมากมาย น้ำทำการเกษตร การท่องเที่ยว ปริมาณสัตว์น้ำ ระบบนิเวศน์ จีนมี 12 เขื่อน สร้างอีก 1 เขื่อน

ลาวมีทั้งหมด 9 เขื่อน ที่เปิดดำเนินการคือเขื่อนไชยบุรี ปีหน้าเขื่อนปากแบง (Pak Bang) จะเปิดใช้ เขื่อนแม่น้ำโขงในลาว ร้อยละ 80 ขายไฟฟ้าให้ประเทศไทยในขณะที่เขื่อนในกัมพูชา 2 แห่งอยู่ในแผนของการสร้าง ระหว่างปี 2005-2015 เขื่อนสามารถผลิตไฟฟ้าเพิ่มจาก 9 Gwh เป็น 32 Gwh  ปัจจุบันต้องมากกว่า

3.การขุดทราย ความต้องการเพื่อสร้างอาคารสถานที่   และดูดทรายและกรวดเพื่อไปถมทะเลเพื่อสร้างเมือง ปัจจุบันมีการดูดทรายปีละ 100 ตันต่อปีในกัมพูชา ส่งผลต่อการตลิ่งพังและบ้านเรือนจมน้ำ 4.โลกเดือด ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลง  ในปี 2019 ลดลง 1 เมตร ปัจจุบันน่าจะลดลงมากกว่า

ผลกระทบ 1.วิกฤตโตนเลสาป โตนเลสาปขนาด 7,500 ตร.กม. ใหญ่สุดในอาเซียน ครอบคลุม 5 จังหวัด ในกัมพูชา ได้แก่ กำปงธม กำปงชนัง โพธิสัตว์ พระตะบอง และเสียมราฐ ผลข้างต้นทำให้ในปี 2020 ปริมาณปลา หายไป 40% ปี 2040 คาดว่าหายไป 80%  2.วิกฤตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเวียดนาม กระทบต่อการปลูกข้าว เพราะน้ำทะเลหนุนเนื่องจากไม่มีทรายกั้นไว้ พร้อมกับน้ำโขงที่ลดลง