รัฐบาล ประกาศขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ปวช.-ป.ตรี ปรับฐาน 1.1-1.8 หมื่น

28 พ.ย. 2566 | 07:31 น.

โฆษกรัฐบาล ประกาศนโยบาย ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมปรับฐานเงินเดือนผู้เรียนจบ ปวช.-ป.ตรี รายได้น้อยบรรจุใหม่ ตั้งแต่ 1.1-1.8 หมื่นบาทต่อเดือน เช็ครายละเอียดทั้งหมดที่นี่

วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เสนอ มีเป้าหมายการปรับฐานเงินเดือนใหม่ และรายได้ต่าง ๆ ให้กับผู้ที่จบปริญญาตรี และระดับปวช. ที่บรรจุเข้ารับราชการใหม่

ทั้งนี้ตามผลการศึกษาของสำนักงาน ก.พ. แบ่งรายละเอียดออกเป็นกลุ่มดังนี้

1.การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่บรรจุใหม่จะปรับเพิ่มให้ 2 กลุ่ม โดยให้ภายใน 2 ปี จะปรับเพิ่มปีละ 10% ประกอบด้วย

  • ผู้จบปริญญาตรี ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 18,000 บาท
  • ผู้จบ ปวช. ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 11,000 บาท

2.เงินชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วยข้าราชการเดิมที่มีฐานเงินเดือนต่ำกว่าฐานของข้าราชการบรรจุใหม่ จะให้มีการปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยย้อนหลังให้ได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

 

3.เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว โดยมีการปรับฐานเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวจากเพดานเดิม แบ่งเป็น

  • ข้าราชการ ที่มีเงินเดือนต่ำกว่าเดือนละ 13,285 บาท เดิมจะได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวอีก 2,000 บาท แต่ไม่เกินเดือนละ 13,285 บาท โดยจะปรับเพดานใหม่เป็นข้าราชการที่มีเงินเดือนต่ำกว่าเดือนละ 14,600 บาท จะได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวอีก 2,000 บาท แต่ไม่เกินเดือนละ 14,600 บาท
  • เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีเงินเดือนต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท เดิมจะได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว แต่ไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท โดยจะปรับเพดานใหม่เป็น 11,000 บาท หากใครที่ได้รับเงินไม่ถึงจะได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว แต่ไม่เกินเดือนละ 11,000 บาท

 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

นายชัย กล่าวว่า การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการครั้งนี้ จะใช้งบประมาณในปีแรก คือปีงบประมาณ 2567 วงเงินประมาณ 7,200 ล้านบาท ส่วนปีที่ 2 คือ ปีงบประมาณ 2568 วงเงินประมาณ 8,800 ล้านบาท แต่ในการดำเนินการในปีแรกงบประมาณปี 2567 ยังไม่สามารถใช้ได้ ดังนั้นวงเงินที่ใช้จริงจึงใช้แค่ 5 เดือนเท่านั้น ส่วนงบประมาณช่วยเงินค่าครองชีพชั่วคราว ตั้งงบประมาณไว้ปีละไม่เกิน 3,000 ล้านบาท 

“ครม.มีมติเห็นชอบและให้หน่วยงานต่าง ๆ ไปดำเนินการตามที่ครม.อนุมติเริ่มดำเนินการได้เลย เริ่มตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567” โฆษกรัฐบาล ระบุ