คืบหน้า “ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ” พร้อมชงครม.จัดงบกลาง เริ่มปี 2567

26 พ.ย. 2566 | 00:40 น.

ความคืบหน้า “ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ” ตามนโยบายนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ล่าสุดพร้อมชงเข้า ครม. 28 พฤศจิกายน 2566 นี้ เล็งจัดงบกลางให้ คาดประเดิมจ่ายปี 2567 เช็ครายละเอียดทั้งหมดที่นี่

ฐานเศรษฐกิจเกาะติดนโยบายรัฐบาลประกาศ “ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ” อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ขณะนี้การพิจารณารายละเอียดของการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการได้ข้อสรุปแล้ว และเตรียมเสนอให้กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 นี้ ซึ่งเป็นไปตามกรอบเวลาที่นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายเอาไว้ก่อนหน้านี้

ล่าสุดในการประชุมร่วมระหว่าง 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงาน ก.พ. , สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ซึ่งมีนายนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณารายละเอียดขั้นสุดท้ายของการ ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และลูกจ้างรัฐ เสร็จสิ้นแล้ว

 

ภาพประกอบข่าวนโยบายรัฐบาล ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และลูกจ้างรัฐ ปี 2567

 

ส่วนวงเงินที่จะนำมาใช้ในการ ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และลูกจ้างรัฐ รอบนี้ แหล่งข่าวยอมรับกับฐานเศรษฐกิจว่า เบื้องต้นจะมีการเสนอที่ประชุมครม.พิจารณาจัดสรรงบกลางมาดำเนินการก่อนในปีแรก นั่นคือปีงบประมาณ 2567 และในปีงบประมาณต่อไปจะตั้งวงเงินเอาไว้อยู่ในงบประมาณ ซึ่งเป็นงบประจำของแต่ละหน่วยงานต่อไป เนื่องจากขณะนี้รายละเอียดของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ที่กำลังอยู่ระหว่างจัดทำยังไม่ได้ตั้งงบไว้รองรับ

“งบประมาณปี 2567 ที่ยังไม่ได้เสนอต่อรัฐสภา ที่ผ่านมาได้ผ่านการเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณจากที่ประชุมครม.ไปแล้ว โดยยังไม่ได้ตั้งงบ ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เอาไว้ จึงจำเป็นต้องขอรับการจัดสรรงบกลางมาใช้ก่อน แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับว่าที่ประชุมครม.จะพิจารณาอย่างไร แต่ก็เชื่อว่าน่าจะได้ข้อสรุป” แหล่งข่าวระบุ

 

ภาพประกอบข่าวนโยบายรัฐบาล ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และลูกจ้างรัฐ ปี 2567

สำหรับการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ รอบนี้นั้น เบื้องต้นแหล่งข่าวย้ำกับฐานเศรษฐกิจว่าแนวทางการขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการจะไม่ได้ขึ้นหมดทั้งระบบ แต่จะขึ้นให้กับกลุ่มข้าราชการระดับล่างที่มีเงินเดือนน้อยก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อให้ข้าราชการกลุ่มนี้ได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐ เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าข้าราชการชั้นผู้น้อยมีเงินเดือนที่ไม่สูงมากนัก สวนทางกับค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้จากการพิจารณาข้อมูลของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รายงานภาพรวมกำลังคนภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2565 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนกำลังคนภาครัฐรวมทั้งสิ้น 3,199,106 คน แบ่งเป็น

  • ข้าราชการ 1,775,812 คน
  • กำลังคนประเภทอื่น 1,423,294 คน (ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานราชการ พนักงานจ้าง พนักงานองค์กรมหาชน พนักงานกระทรวงสาธารณสุข พนักงานมหาวิทยาลัย และพนักงานรัฐวิสาหกิจ)

ทั้งนี้เมื่อจำแนกรายละเอียดเฉพาะข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยแบ่งตามตำแหน่ง ระดับตำแหน่ง มีด้วยกัน 4 ประเภท ดังนี้

  • ประเภทบริหาร จำนวน 1,252 ตำแหน่ง 
  • ประเภทอำนวยการ จำนวน 7,092 ตำแหน่ง 
  • ประเภทวิชาการ จำนวน 352,674 ตำแหน่ง 
  • ประเภททั่วไป จำนวน 107,161 ตำแหน่ง