โจทย์ใหญ่ ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ใช้งบหลักแสนล้านบาท

14 พ.ย. 2566 | 06:48 น.

โจทย์ใหญ่รัฐบาล ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เป้าหมายคือเริ่มต้น 25,000 บาทต่อเดือน ซึ่งต้องขึ้นทั้งระบบ อาจต้องใช้งบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท ย้อนดู 5 รัฐบาล ปรับเงินเดือนข้าราชการ ใช้งบประมาณเท่าไร?

เรื่องนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมายให้นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ศึกษาความเป็นไปได้การขึ้นเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างรัฐ เพื่อรายงาน ครม.รับทราบภายในเดือน พ.ย.2566 

โดยการศึกษานั้น จะเป็นการทำงานร่วมกัน 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงาน ก.พ. , สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ มีการประชุมนัดแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 10 พ.ย.​66 และจะมีการหารืออีกครั้งก่อนเสนอกลับไปที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีความชัดเจนภายในเดือน พ.ย. นี้ แน่นอน

ทั้งนี้ ไม่มีการปรับฐานเงินเดือนมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว โดยรัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายปรับเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรี 25,000 บาท ภายในปี 2570 เพื่อจูงใจให้บุคลากรคุณภาพมีความสนใจเข้าสู่ระบบราชการมากขึ้น

แหล่งข่าวระบุว่า ในการหารือมีข้อเสนอขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ ครอบคลุมข้าราชการประจำ ลูกจ้างของรัฐ ข้าราชการทหาร ตำรวจ รวมทั้งข้าราชการเกษียณที่รับเงินบำเหน็จ บำนาญ อาจจะต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาท

เพื่อไม่เป็นการใช้งบประมาณที่มากเกินไป จึงมีการเสนอให้ทยอยขึ้นเงินเดือนข้าราชการ โดยในระยะแรกเน้นข้าราชการรายได้น้อย เพราะใช้งบปไม่มาก ส่วนข้าราชการระดับสูงที่เงินเดือนสูงจะปรับขึ้นน้อยกว่าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

กำลังคนภาครัฐรวม 3 ล้านคน

  1. ข้าราชการ 1.75 ล้านคน 
  2. บุคลากรประเภทอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการ (พนักงานจ้าง พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานกระทรวงสาธารณสุข พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานองค์การมหาชน) 1.24 ล้านคน

ขณะที่โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายปี 2567 มีรายจ่ายประจำที่รวมเงินเดือนข้าราชการและเงินเดือนลูกจ้าง รวม 2.61 ล้านล้านบาท จากวงเงินรวม 3.48 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 75.28% ของทั้งหมด หากขึ้นเงินเดือนทั้งระบบ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ตามมาอาจจะอยู่ที่เฉลี่ย 8-10% หรือคิดเป็นเงินมากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี 

ย้อนดู 5 รัฐบาลปรับเงินเดือนข้าราชการ

รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

ปี 2547

ปรับค่าตอบแทนภาคราชการ 3% เท่ากันทุกอัตรา

งบประมาณ 11,000 ล้านบาท/ปี

ปี 2548

ปรับค่าตอบแทนภาคราชการ 5% ให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกประเภท

งบประมาณ 16,400 ล้านบาท/ปี

 

รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

ปี 2550

การปรับปรุงค่าตอบแทนภาคราชการ เท่ากันทุกตำแหน่ง  4%

งบประมาณ 17,000 ล้านบาท/ปี

ปี 2551 

การช่วยเหลือการครองชีพข้าราชการระดับต้น

ขยายเพดานเงินเดือน

 

รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์

ปี 2551

ปรับบัญชีเงินเดือน ขั้นต่ำ-ขั้นสูง และเงินประจำตำแหน่ง 4%

 

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

31 ม.ค.2555 

การปรับปรุงค่าตอบแทนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ตามระดับคุณวุฒิการศึกษา

งบประมาณ 18,000 ล้านบาท/ปี

10 เม.ย.2555

ปรับเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ

งบประมาณปีที่ 1 +5,010 ล้านบาท , ปีที่ 2 +7,135 ล้านบาท

 

รัฐบาล คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ปี 2557 

การยกระดับรายได้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ระบบเงินเดือนแบบขั้น ปรับเพิ่ม 1 ขั้น

ระบบเงินเดือนแบบช่วง ปรับ 4% 

ข้าราชการผู้ได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูง ได้ค่าตอบแทนพิเศษ

งบประมาณ 22,900 ล้านบาท/ปี

 

เทียบกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คนละบริบท

สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สามารถขึ้นเงินข้าราชการได้ทั้งระบบ เพราะได้มีการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ ลดขนาดข้าราชการลงมากพอสมควร ขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทย ณ ขณะนั้น อยู่ระดับ 43.3% ซึ่งถือว่าต่ำมาก (ปัจจุบันอยู่ที่ 62.14% ต่อจีดีพี)

ปัจจุบันผ่านเกือบ 10 ปี มีการขยายหน่วยงานราชการ รวมถึงตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ไม่น้อย ทำให้ต้องมีข้าราชการและลูกจ้างเพิ่มขึ้น จึงทำให้การขึ้นเงินเดือนยากกว่าในอดีต ประกอบกับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ในระดับสูง ทำให้การขึ้นเงินเดือนข้าราชการมีข้อจำกัด

ทั้งนี้ ถ้าเศรษฐกิจโตได้ปีละ 5-6% อย่างต่อเนื่อง รายได้ภาครัฐก็จะเพิ่ม ทำให้การคลังในอนาคตก็จะไม่มีปัญหา แม้จะปรับฐานเงินเดือนข้าราชการขึ้นประมาณ 10% ก็สามารถทำได้

ดังนั้น การลดขนาดระบบราชการและการเพิ่มประสิทธิภาพจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงการขยายเวลาเกษียณอายุราชการ เพื่อควบคุมวงเงินข้าราชการบำนาญไม่ให้แซงวงเงินสำหรับเงินเดือนข้าราชการประจำด้วย และที่สำคัญคือ ต้องทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้