Soft Power เกาหลีใต้ ความสำเร็จที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

08 พ.ย. 2566 | 04:57 น.

Soft Power เป็นแนวทางสร้างและขยายอิทธิพลให้นานาประเทศยอมรับและรู้จักวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศในวงกว้าง รวมถึงเป็นการขับเคลื่อนประเทศไปสู่สากล

การยกระดับ Soft Power ของไทย เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่รัฐบาลใหม่ให้การสนับสนุนและเตรียมแผนผลักดัน มุ่งสร้างชื่อเสียงระดับโลก ตามนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power หรือ OFOS โดยตั้งเป้าที่จะยกระดับทักษะคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน สร้างรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง สร้างอุตสาหกรรมให้เติบโต สร้างเงินเข้าประเทศมหาศาล และสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศชั้นนำของโลกด้านซอฟท์พาวเวอร์ 

ทั้งนี้ ได้มีการก่อตั้งองค์กร THACCA (Thailand Creative Content Agency) เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ผลักดันอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ ให้กลายเป็น Soft Power ของไทย โดย 8 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐเร่งสนับสนุนมีอยู่ด้วยกัน ดังนี้ 1.ภาพยนตร์ 2.ศิลปะ 3.หนังสือ 4.อาหาร 5.ดนตรี เฟสติวัล 6.ท่องเที่ยว 7.กีฬา และ 8.ออกแบบ แฟชั่น

ซึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมที่คาดว่ากำลังแข็งแกร่งขึ้นและสามารถช่วยผลักดัน Soft Power ของประเทศไทยออกสู่สากลได้เป็นอย่างดีก็คือ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ 

นโยบายผลักดัน Soft Power อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย 

รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศจุดยืนว่า นอกจาก THACCA จะดูนโยบายส่งเสริม Soft Power ในภาพรวมแล้ว THACCA ยังต้องลงรายละเอียดทำนโยบายส่งเสริมแต่ละอุตสาหกรรม Soft Power รวมถึงเผยนโยบายเพื่อ “ภาพยนตร์” ไทย ดังนี้

นโยบายเพื่อ ภาพยนตร์ไทย

  • กองทุนภาพยนตร์ - เพิ่มโอกาสคนทำหนัง จะเป็นกองทุนเพื่อสนับสนุนผู้ผลิตหนังที่ครอบคลุมทั้งหนังอิสระและหนังกระแสหลัก
  • เพิ่มช่องทางหาทุนสร้างหนัง - เปิดโอกาสให้คนทำหนังเข้าถึงเงินทุน อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้ง่ายขึ้นโดยให้สามารถใช้สัญญาจ้างสร้างหนังเป็นหลักประกัน และเปิดช่องทางระดมทุนทางอื่นให้คนสร้างหนังสามารถระดมทุนในช่องทางที่หลากหลายได้
  • เลิกมาตรการเซนเซอร์ - ไม่มีคำว่า “ห้ามฉาย” อีกต่อไป ยกเลิกมาตรการเซนเซอร์หนังอย่างเด็ดขาด ปลดปล่อยและคุ้มครองเสรีภาพทำคนหนังอย่างเต็มที่ ผ่านการแก้กฎกระทรวง ทำได้ภายใน 100 วัน
  • ยกระดับคุณภาพงาน คุณภาพชีวิตคนทำงาน - สนับสนุนให้ตั้ง สหภาพคนทำงาน เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจ้างงานให้กับคนกอง เช่น ค่าตอบแทน ชั่วโมงทำงาน และสวัสดิการ เพิ่มทักษะคนกองถ่าย ผ่านศูนย์บ่มเพาะของนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) เพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ รื้อฟื้นทักษะเดิม เติมคนเก่งเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งระบบ THACCA 
  • อำนวยความสะดวกในการถ่ายทำ - THACCA จะอำนวยความสะดวกกองถ่ายเบ็ดเสร็จ ไม่ต้องวิ่งประสานหลายหน่วยงาน ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเลิกเอกสาร ลดขั้นตอน ลัดเวลาในการขออนุญาตถ่ายทำ
  • หนังไทยได้ฉาย ไม่ถูกกีดกัน - หนังไทยและท้องถิ่น ต้องมีรอบฉาย ไม่ถูกกัดกัน โดยรัฐจะเข้าสนับสนุนด้วยการเช่าโรงภาพยนตร์ของเอกชนเพื่อฉายหนังไทย-ท้องถิ่น
  • เพิ่มโอกาสให้หนังไทย - รัฐจะสนับสนุนหนังอิสระ เพื่อให้หนังอิสระเป็นพื้นที่ทดลองเทคนิคการเล่าเรื่องแนวใหม่ บ่มเพาะฝีมือ สร้างความหลากหลาย และเป็น R&D ให้หนังกระแสหลัก รัฐจะช่วยขยายตลาดหนังไทย และสนับสนุนหนังไทยไปเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก
  • ขยายจินตนาการคนสร้างหนัง - ลงทุนสร้าง Virtual Studio และ Virtual Production Stage เพื่อให้ทุกจินตนาการสามารถถ่ายทอดออกมาได้จริง

ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายเพื่อ “ภาพยนตร์ไทย” โดย THACCA จะมีกลไกให้คนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เข้ามาช่วยกำหนดและผลักดันนโยบายที่ควรจะมี เพื่อให้ภาพยนตร์ไทยไปไกลกว่าที่เป็นอยู่

คราวนี้ ลองมาดูตัวอย่างนโยบายและแนวทางในการสร้าง Soft Power ของประเทศเกาหลีใต้ อีกหนึ่งประเทศที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในเรื่องของการผลักดันและชูภาพลักษณ์ประเทศออกมาสู่สากลได้เป็นอย่างดี รวมถึงจุดเริ่มต้นของการริเริ่มสนันสนุน Soft Power ให้กระจายจากเกาหลีใต้ไปสู่นานาประเทศตลอด 26 ปี

จุดเริ่มต้นของการสร้าง Soft Power ประเทศเกาหลีใต้

หลังจากปี 2540 เกาหลีใต้เจอเข้ากับวิกฤตสงครามการเงิน (IMF) อย่างหนัก จึงได้มีการวางแผนจัดทำนโยบาย Hallyu Industry Support Development (Korean Waves) โดยจะเป็นการใช้วัฒนธรรมความเป็นเอกลักษณ์ของเกาหลีในการสร้างภาพลักษณ์แก่ประเทศ ผ่านอุตสาหกรรมสื่อและความบันเทิง ซึ่งในอุตสาหรรมบันเทิงที่เกาหลีใต้เน้นผลักดันออกสู่ตลาดสากลนั้น รวมไปถึงวงการภาพยนตร์ ซีรีส์ (K-Movie, K-Drama) และวงการเพลง (K-pop) ที่ค่อยๆ ยกระดับและขยับขยายอิทธิพลจนเป็น Soft Power ที่ยอมรับในต่างประเทศตลอดมาจนถึงปัจจุบัน 

จากการมุ่งสร้าง Soft Power ผสมผสานไปกับสื่อและความบันเทิงทุกรูปแบบ ทำให้ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ การแต่งกาย เครื่องสำอางค์ สินค้าและบริการ รวมถึงอาหารเกาหลี กลายเป็นเอกลักษณ์ประเทศและจุดเด่นด้าน Soft Power ที่กระจายไปทั่วถึงทุกภาคส่วน และถูกส่งออกมาสู่สายตาทั่วโลก

นั่นจึงทำให้ในปี 2023 เกาหลีใต้ครองอันดับอยู่ใน Top 15 ของโลก ด้าน Soft Power จากการจัดอันดับ Global Soft Power Index ของ Brand Finance ในขณะที่ประเทศไทยรั้งอยู่ในอันดับที่ 41 ของโลก

โดย Brand Finance บริษัทที่ปรึกษาด้านการประเมินมูลค่าแบรนด์ชั้นนำของโลก จะมีดัชนีชี้วัดอยู่ด้วยกัน 4 ข้อหลักๆ คือ ศักยภาพด้านซอฟต์พาวเวอร์โลก ความคุ้นเคยหรือใกล้ชิด ชื่อเสียง และ อิทธิพล ซึ่งจะแตกออกเป็น ดังนี้

1.ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม 2.ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 3.ธรรมาภิบาล 4.ธุรกิจและการส่งออก 5.สื่อและการสื่อสาร 6.คนและค่านิยม 7.ความยั่งยืนในอนาคต และ 8.การศึกษาและวิทยาศาสตร์ รวม 8 ปัจจัย เพื่อประเมินความแข็งแกร่งของแบรนด์ รวมถึงวัดมูลค่าทางการเงินเพื่อช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป