รู้จัก"ซอฟต์พาวเวอร์"หลังเกิดประเด็นดราม่า ต้องเต ผู้กำกับ"สัปเหร่อ"

06 พ.ย. 2566 | 06:00 น.

รู้จัก"ซอฟต์พาวเวอร์"หลังเกิดประเด็นดราม่า ต้องเต ผู้กำกับ"สัปเหร่อ" ฐานเศรษฐกิจรวบรวมไว้ให้หมดแล้ว ระบุกระทรวงวัฒนธรรมมีนโยบายที่จะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ความเป็นไทยใน 5 ด้าน

ซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่เกิดกระแสดราม่าต้องเต ธิติ ศรีนวล ผู้กำกับภาพยนตร์ “สัปเหร่อ” พูดถึงการผลักดันหนังไทยให้เป็น “Soft Power” ตอนหนึ่งในงานเสวนา จากจักรวาลไทบ้านสู่พลังอีสานสร้างสรรค์ ระบุว่า

“ถ้ามีเรื่องอื่นที่ดีแล้วพาเขาไป ให้มาซัพพอร์ตจริงๆ หน่อย ไม่ใช่แค่มาถ่ายรูป คุณอาจไม่เข้าใจหนังสัปเหร่อจริงเลยๆ ก็ได้ แค่มาถ่ายรูปแล้วก็บอกว่าหนังสัปเหร่อเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ตัวผมเองยังไม่รู้ว่าซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร”

หลังจากนั้นนพ.อิราวัต อารีกิจ หรือ หมออั้ม ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความวิจารณ์ในกรณีดังกล่าว โดยแชร์มีมคำพูดของต้องเต ว่า

“ข้อแรก – เพื่อไทย เขาเพิ่งเป็นรัฐบาลครับ ต้องเต

ข้อสอง – ถ้าไม่ให้เขาถ่ายรูป หรือร่วมยินดีด้วยจะให้เขาเพิกเฉย หรือไม่สนใจเหรอ? ในฐานะรัฐบาล

ข้อสุดท้าย – ฟังบทสัมภาษณ์แล้วสรุปว่าไม่เข้าใจ คำว่า Soft Power จริงๆนั่นแหละ จะโกอินเตอร์ รู้ไหมต้องประสานกับอะไรจะไประดับนานาชาติ รู้ไหมว่าต้องผ่านหน่วยงานไหน

ต้องผ่านกรมกองระหว่างประเทศ + งบสนับสนุนอย่างไร

รัฐบาล+คณะรัฐมนตรี กระทรวงต่างๆ เขากำลังช่วย แล้วมาให้สัมภาษณ์แบบนี้ มันไม่ดีต่อภาพรวมเลย แต่ก็ตามสบายเลย ถ้าคิดว่าดี”

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปทำความรู้จักกับคำว่า "ซอฟต์พาวเวอร์" ให้มากยิ่งขึ้น

ซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร

SOFT POWER (ซอฟต์พาวเวอร์) คือการใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม การทำให้คนมีส่วนร่วม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงทางความคิด โดยแนวคิดซอฟต์พาวเวอร์นี้ได้รับการพัฒนาโดย Joseph S. Nye (โจเซฟ เนย์) อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากสถาบันจอห์น เอฟ เคเนดี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตั้งแต่ปี 1977 ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงเรื่องการเมือง การปกครอง นโยบายสาธารณะ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เกิดขึ้นได้กับผู้คนทุกชนชั้นและสังคมการเมืองทุกรูปแบบ ทั้งยังแฝงอยู่ในกิจกรรมต่างๆ และเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม 

Joseph S. Nye ระบุว่าซอฟต์พาวเวอร์ประกอบไปด้วย วัฒนธรรม (culture) ,ค่านิยม (value) และนโยบายต่างประเทศ (foreign policy) ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือการทำให้คนอื่นชื่นชมและหลงใหลด้วยการเชิญชวน ไม่ใช่ด้วยการบังคับขู่เข็ญ อาจยกตัวอย่างในกรณีของสหรัฐอเมริกาที่เสนอวัฒนธรรม ค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และทุนนิยม ผ่านภาพยนตร์ฮอลลีวูด หรือวัฒนธรรมและความเป็นเกาหลีที่ถูกส่งผ่านอุตสาหกรรม K-Pop ของเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นเพลง ซีรีส์ และภาพยนตร์ เป็นต้น

"ซอฟต์พาวเวอร์"จึงเท่ากับอำนาจในการชักจูงหรือโน้มน้าวผู้คนในประเทศอื่นๆ ให้ปฏิบัติตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ ด้วยการสร้างสินค้า ภาพลักษณ์ หรือความชื่นชม ซึ่งอำนาจแบบนี้จะได้รับการยอมรับมากกว่าการออกคำสั่งหรือบังคับขู่เข็ญ หรือที่เรียกว่าฮาร์ดพาวเวอร์ (HARD POWER) ที่เป็นอำนาจเชิงบังคับอย่างอำนาจทางทหาร 

ซอฟต์พาวเวอร์ไทยมีอะไรบ้าง

กระทรวงวัฒนธรรมได้มีนโยบายที่จะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ความเป็นไทย ใน 5 ด้าน หรือที่เรียกว่า “5F” ได้แก่

  • F - FOOD อาหารไทย
  • F - Film ภาพยนตร์ไทย
  • F - Fashion แฟชั่นไทย
  • F - Fighting ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย
  • F - Festicval เทศกาลประเพณีไทย