วัดปรอทธุรกิจ ‘สายการบิน’ของไทยอาการโคม่าดิ้นหนีตาย

09 ส.ค. 2564 | 07:34 น.

ธุรกิจสายการบินของไทยเมื่อถูกสั่งหยุดบินในพื้นที่สีแดงเข้ม ที่ยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ทำให้สายการบินทุกสายต่างดิ้นหนีตายทุกทาง เพื่อลดอาการโคม่าที่เกิดขึ้น

ที่ผ่านมาแม้ธุรกิจสายการบินของไทยต้องแบกภาระการขาดทุนจากผลกระทบของโควิด-19 แต่ก็ยังได้บินพอมีกระแสเงินสดประคองตัวมาได้แม้จะขาดทุนแต่ก็ยังพอมีรายได้เข้าบ้าง

 

แต่เมื่อถูกสั่งหยุดบินในพื้นที่สีแดงเข้ม ที่ยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ทำให้สายการบินทุกสายต่างดิ้นทุกทาง เพื่อลดอาการโคม่าที่เกิดขึ้น

 

 

กว่า 17 เดือนแล้วที่ธุรกิจสายการบินของไทย ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะระลอก 3 ที่ยังคุมไม่อยู่ ยอดผู้ติดเชื้อต่อวันทะลุ 2 หมื่นคนไปแล้ว ทั้งๆ รัฐบาลได้ออกมาตรการเข้มข้น

วัดปรอทธุรกิจ ‘สายการบิน’ของไทยอาการโคม่าดิ้นหนีตาย

 

โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) สั่งห้ามสายการบินในประเทศเข้า-ออกพื้นที่สีแดงเข้ม ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 64 ล่าสุดขยายพื้นที่สีแดงเข้มจาก 13 จังหวัดเป็น 29 จังหวัด มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 64

 

มาตรการเหล่านี้ทำให้สภาพคล่องของสายการบินวิกฤติ เมื่อรายได้เป็นศูนย์แต่มีรายจ่ายทุกเดือนเครื่องบินไม่ตํ่ากว่า140 ลำจอดนิ่งสนิทในเดือนส.ค.นี้ สายการบินต่างๆ ล้วนเข้าขั้นโคม่า

 

บางสายอย่าง ไทยแอร์เอเชียและไทยไลอ้อนแอร์ ต้องหยุดให้บริการชั่วคราว ไม่จ่ายเงินเดือนในเดือนส.ค.นี้ เพื่อให้พนักงานไปใช้สิทธิ์ชดเชยจากประกันสังคม ไทยเวียตเจ็ท ลดเงินเดือนเพิ่มจาก 30% เป็น 40% 

 

 

ความไม่ชัดเจนว่าจะได้กลับมาบินเมื่อไหร่ หากนานกว่า 1 เดือน สายการบินต่างๆ ก็คงขาดใจ ไม่อาจประคองการจ้างงานไว้ได้เท่าเดิม

 

หากซอฟต์โลนที่ 7 สายการบินร้องขอจากรัฐบาลยังแห้วอยู่ ทั้งๆที่ขอไปตั้งแต่ปีที่แล้ว จาก 2.4 หมื่นล้านบาท ลดลงเหลือ 5 พันล้านบาท เพื่อจ่ายเงินเดือนให้พนักงานกว่า 2 หมื่นคน

 

 

อย่างไรก็ตามสายการบินส่วนใหญ่ต้องการรอเงินกู้จากรัฐบาลก่อน แต่ขณะเดียวกันแต่ละสายการบินก็มีแผนหาทางรอดตัว จากเดิมที่ดาวน์ไซส์อยู่แล้วก็ต้องลดลงไปอีก

 

สายการบินไหนหาแหล่งเงินกู้ได้ก็ต่อลมหายใจไปได้ ถ้าสายไหนไม่มีเงินกู้เข้ามา และสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ก็คงไปต่อไม่ได้ในช่วงสั้นนี้

เพราะการหยุดบินไปถ้าจะ กลับมาเปิดบินใหม่ตามกฏของกพท.สายการบินต้องมีเงินสดหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 90 วัน และด้วยดีมานต์ผู้โดยสารที่จำกัด การดำเนินธุรกิจก็ไม่ใช่เรื่องง่าย บินไปก็ขาดทุน แต่อย่างน้อยสายการบินก็ยังพอมีรายได้เข้ามาหมุนได้บ้าง

 

วัดปรอทธุรกิจ ‘สายการบิน’ของไทยอาการโคม่าดิ้นหนีตาย

วันนี้เมื่อดูจากสถานการณ์ “บางกอกแอร์เวย์ส” ที่จัดว่ามีทุนหนาแม้แบ้งก์พร้อมปล่อยกู้ ธุรกิจก็ยังลำบาก จากกำไรตลอด มาขาดทุนครั้งแรกช่วงโควิด มีการเปิดเออร์รี่รีไทร์ไปแล้วล็อตใหญ่ ยกเลิกสัญญาเช่าสนามบินสมุยที่ยังเหลืออีก 15.5 ปี

 

โดยยอมจ่ายเงินให้กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย (SPF) 18,050 ล้านบาท เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กองทุนโดยที่ธุรกิจบริหารสนามบินสมุยก็ไม่ค่อยดีในช่วงนี้

 

 

ส่วน “นกแอร์” ทางกลุ่มจุฬางกูรซัพพอร์ตเต็มที่ และน่าจะเป็นสายการบินที่ยังพอมีกระแสเงินสดในมืออยู่ เพราะก่อนหน้านี้ผู้ถือหุ้นใหญ่ปล่อยกู้มาให้แล้วกว่า 2,700 ล้านบาท และยังใช้ไม่หมด แต่ก็ยังต้องดิ้นเพื่อขอผ่อนผันให้สามารถเปิดบินอู่ตะเภาได้ต่อ 

 

สำหรับ “ไทยแอร์เอเชีย” ก็เดินหน้าตามแผนหาผู้ร่วมทุน-แหล่งเงินกู้ใหม่ นำไทยแอร์เอเชีย (TAA) จดทะเบียนในตลท.แทน AAV ซึ่งคาดหวังว่าจะได้รับเงินก้อนใหม่เข้ามาในเดือนก.ย.นี้

ขณะที่ “ไทยไลอ้อนแอร์” แม้จะขาดทุนมาโดยตลอด แต่ได้บริษัทแม่ ไลอ้อนแอร์ อินโดนีเซีย คอยอุ้ม แต่ตอนนี้ไลอ้อนแอร์ก็ยํ่าแย่ เมื่อนำเครื่องบินมาล็อตใหญ่ที่ซื้อทีละหลายร้อยลำเพื่อให้ได้ราคาถูก และนำไปปล่อยเช่า

 

แต่เมื่อเกิดโควิดการให้เช่าเครื่องบินก็ชะงัก มีแต่การถูกคืนเครื่องบิน ที่แม้แต่ไทยไลอ้อนแอร์ก็คืนเครื่องบินกลับไปจาก 21 ลำ ปัจจุบันเหลืออยู่แค่ 11 ลำ

 

“ไทยเวียตเจ็ท” ก็ขาดทุนต่อเนื่องแต่ก็ยังมีแผนรับมอบเครื่องบินอยู่ เพราะได้เวียตเจ็ทแอร์ของเวียดนามหนุน ซึ่งเวียตเจ็ทก็มีโมเดลธุรกิจที่มุ่งทำกำไรจากตลาดหุ้นในเวียดนามที่ยังไปได้อยู่ 

 

การบินไทยอย่างน้อยก็ยังมีทรัพย์สินให้ขาย ทำการบินระหว่างประเทศและคาร์โก้ได้อยู่ ถึงแม้จะยังกลับมาได้ไม่เหมือนเดิม แต่ก็พอจะประคองตัวไปได้สักพักระหว่างรอการใส่เงินใหม่ที่จะเข้ามา

 

ตอนนี้จึงดิ้นกันทุกสายแต่จะไปต่อกันได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะผ่อนผันให้กลับมาบินได้เมื่อไหร่ ถ้าลากยาวก็คงสิ้นใจตามๆ กันไป ทั้งตอนนี้จากเงินบาทอ่อนค่า ทำให้สายการบินต้องแบกรับการจ่ายค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นมรสุมอีกลูกที่กำลังถาโถมธุรกิจการบินอยู่ในขณะนี้