ส่งออก 5 เดือนโตร้อนแรง จะพุ่งต่อได้แค่ไหน เอกชนยังกังวลเรื่องอะไรบ้าง?

27 มิ.ย. 2564 | 02:52 น.

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงมุมมองส่งออกไทยหลังจากนี้จะยังจะโตแบบร้อนแรงได้ต่อเนื่องหรือไม่ และการเปิดประเทศใน 120 วันต้องระวังอะไรบ้าง ดังนี้

จากตัวเลขการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ส่งออกได้มูลค่า 23,058 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 41.59% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกปี 2564 การส่งออกไทยมีมูลค่า 108,635 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3.27 ล้านล้านบาท) ขยายตัว 10.78% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน

เรื่องนี้ไม่ได้แปลกใจเพราะการส่งออกเดือนมีนาคม + 8.3% และเดือนเมษายน +13.1% และเดือนพฤษภาคมขยายตัว +41.59% จากฐานตัวเลขเดือนเดียวกันของปีก่อนต่ำ(ส่งออกเดือนพ.ค.63 มีมูลค่า 16,285 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 22.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2562)

-มองเดือนที่เหลือของปีนี้ส่งออกไทยจะยังโตต่อเนื่องหรือไม่

ก็ยังไปในแนวทางที่ดีอยู่ เพียงแต่ว่า ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นปัญหาเดิม ๆ คือปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน แต่เทรนด์ส่งออกยังไปได้ดี คาดปีนี้ตัวเลขบวกแน่ตามที่เราปรับคือโตได้ 5-7% (คาดการณ์โดย กกร. ณ มิ.ย.64) แต่ยังต้องประเมินอีกทีหลังย่างเข้าไตรมาส 3  ถ้าไตรมาสที่ 3 ยังแข็งแกร่งต่อเนื่อง ยอดส่งออกปีนี้ต้องมาปรับอีกครั้ง แต่เบื้องต้นยังเร็วเกินไปที่จะปรับขึ้น ขอดูในไตรมาสที่ 3 นี้ก่อน

-แนวโน้มจะปรับขึ้นหรือลงอย่างไร

ดูแล้วถ้าเติบโตร้อนแรงอย่างนี้ก็มีโอกาสที่จะปรับขึ้นได้ แต่คงไม่ถึงตัวเลขสองหลัก จาก 5-7% ก็อาจจะเป็น 6-8% หรือ 6-9% อะไรอย่างนี้ เนื่องจากเวลานี้เป็นช่วงที่ทุกประเทศเพิ่งเริ่มเปิดประเทศหลังโควิด เพราะฉะนั้นก็มีเรื่องของสต๊อกสินค้าเดิมหมด ก็ต้องสั่งนำเข้าไปมาก  โดยตัวเลขส่งออกเดือนพฤษภาคม 2563 ติดลบ 22.47% และมิถุนายน 2563 ติดลบ 23.08%  ดังนั้นการที่ตัวเลขส่งออกกลับขึ้นมาบวกในเดือนเมษายนปีนี้ +13.09%  และพฤษภาคม +41.59% จากฐานที่ติดลบมาก็ถือว่าโอเค

ทั้งนี้สอดคล้องกับแนวทางที่ขณะนี้ในหลายประเทศเริ่มเปิดประเทศ และมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินจำนวนมหาศาล เช่นสหรัฐอเมริกา จีนเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ประเทศในยุโรปหลายประเทศก็เริ่มกลับมาเปิดประเทศ ซึ่งสต๊อกเดิมที่ใช้หมดไป จากในช่วงโควิดที่ไม่ได้สั่งและติดลบกันยาว ตอนนี้คำสั่งซื้อก็ขึ้นมา แต่ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร เพราะข้างหน้ายังมีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ เรื่องปัญหาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และที่เห็นชัดเจนคือเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ที่ขาดแคลนก็ยังเป็นอุปสรรคอยู่บ้าง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในภาพรวม หากความร้อนแรงของการส่งออกยังไปต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 ก็คงต้องมานั่งพิจารณาในการที่จะปรับตัวเลข(การส่งออก)ขึ้นไป ถ้าตัวเลขยังร้อนแรง อันนี้ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในภาพรวมด้วย

ส่งออก 5 เดือนโตร้อนแรง จะพุ่งต่อได้แค่ไหน เอกชนยังกังวลเรื่องอะไรบ้าง?

-ขณะนี้คลัสเตอร์โรงงานมีผู้ติดเชื้อ(ณ 23 มิ.ย.) 183 แห่งมีผู้ติดเชื้อกว่า 1 หมื่นคนใน 28 จังหวัด เกรงจะเกิดการสะดุดของการใช้กำลังผลิตหรือไม่

 ใช่ครับ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราได้พูดกันมาก่อนแล้วว่า ปีนี้เราเชื่อว่าเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจทั้งปีนี้ก็คงมาจากภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกซึ่งมีทิศทางโอกาสเพิ่มขึ้นจากตัวเลขใน 5 เดือนแรก แต่สิ่งเรากลัวคือโควิดที่จะลามเข้ามาในคลัสเตอร์ของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ  เพราะโรงงานมีการใช้แรงงานมาก มีทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว เราถึงมีความระมัดระวังตลอดเวลา เพราะถ้าโควิดมาจะกระทบสายการผลิต ถ้ามีผู้ติดเชื้อมาก

อย่างกรณีโรงงานแคล-คอมพ์ฯที่เขาย้อย จ.เพชรบุรี ศรีตรังโกลฟส์ ที่ จ.ตรังที่ทำถุงมือยาง  แม้กระทั่งโรงงานไก่ของซีพีเอฟที่สระบุรี ตอนนี้ที่กระจายตัวไปค่อนข้างเยอะ ถ้าติดไปในคลัสเตอร์โรงงาน หรือในนิคมอุตสาหกรรมก็จะทำให้การผลิตชะลอหรือชะงักลง และการส่งมอบสินค้าก็อาจจะติดขัดปัญหาส่งไม่ได้ตามเวลา ดังนั้นทางสภาอุตสาหกรรมฯจึงพยายามผลักดันเรื่องวัคซีนทางเลือก ซึ่งเป็นเรื่องที่คุยกันมาตั้งแต่ต้น

“ที่ห่วงกันวันก็คือตรงนี้ ถ้าเกิดภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเกิดสะดุดอีกขาหนึ่ง จากที่ภาคท่องเที่ยว ภาคบริการ ภาคค้าปลีกต่าง ๆ มีปัญหา คาดว่ายังต้องใช้เวลาจนกว่าการฉีดวัคซีนจะทำได้ 70% ของจำนวนประชากรจนถึงปลายปีนี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะฉะนั้นปีนี้ทั้งปีคาดว่าภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกจะเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พยุงการจ้างงาน และพยุงอะไรต่างๆ  ดังนั้นทุกฝ่ายจำเป็นที่ต้องช่วยกันรักษาที่มั่นสำคัญตรงนี้ในปีนี้ไว้ให้ดีที่สุด”

สรุปคือประเด็นเรื่องส่งออกอยากเน้นย้ำว่านี่คือเครื่องยนต์สำคัญในปีนี้ในการขับเคลื่อนและพยุงเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นต้องรักษาที่มั่นตรงนี้ให้ดี เพราะขณะนี้ได้เห็นสัญญาณอันตรายมาแล้วว่า การระบาดของโควิดครั้งนี้ระบาดเข้าไปตามโรงงานหลายโรงงาน และก็ทั่วไปหมดแล้ว  เพราะฉะนั้นต้องพยายามรักษาอย่าให้ทะลุเข้าไประบาดในนิคมอุตสาหกรรม และในภาคการผลิต เพราะว่าจะทำให้สายการผลิตต้องหยุด ต้องชะงักลง การส่งออกจะมีปัญหา แล้วบางโรงแม้ไม่ใช่โรงงานผลิตเพื่อส่งออก แต่เป็นซัพพลายให้กับรายอื่นในหลาย ๆ อุตสาหกรรมในประเทศ ที่ต้องเอาไปทำเพื่อส่งออก มันจะติดขัดไปหมด เพราะโรงงานส่วนใหญ่ใช้ทั้งแรงงานคนไทยและแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะทำอย่างไรในการป้องกันคนเหล่านั้น เพราะแม้ทุกโรงงานจะมีมาตรการที่ค่อนข้างรัดกุมอยู่แล้ว แต่ว่าการระบาดครั้งนี้มีสูง  ก็มีโอกาสเล็ดลอดได้ อย่างที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ โรงงาน

ส่งออก 5 เดือนโตร้อนแรง จะพุ่งต่อได้แค่ไหน เอกชนยังกังวลเรื่องอะไรบ้าง?

 -นายกรัฐมนตรีประกาศจะเปิดประเทศใน 120 วัน มองอย่างไร

กรณีที่นายกรัฐมนตรีประกาศจะเปิดประเทศใน 120 วัน ซึ่งจะตกประมาณเดือนตุลาคม ตรงนี้ในมุมนักธุรกิจก็อยากให้เปิดอยู่แล้ว แต่การที่จะเปิดได้ก็ต้องมีเงื่อนไขที่สำคัญ เช่น การฉีดซีนได้ครอบคลุมได้เร็วที่สุดถึงจะเปิดประเทศได้อย่างสบายใจ เปิดได้แล้วจะได้ไม่มีปัญหาต่อเนื่อง เพราะบทเรียนจากหลายประเทศที่เปิดประเทศได้แค่เดือนเดียวก็ต้องปิดอีก สิ่งเหล่านี้ต้องระมัดระวังเพราะการระบาดของไวรัสโควิดมันมีการกลายพันธุ์ สายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ก็ระบาดได้เร็วขึ้น

กรณีนี้ก็เช่นกัน ถ้าไทยยังฉีดวัคซีนได้ใน 120 วันยังไม่ครอบคลุมมาก แล้วเปิดเลยก็มีความเสี่ยงสูงที่มีโอกาสที่จะเกิดการระบาดในระลอกต่อไป ตรงนี้อาจทำให้ยิ่งเสียหายเพิ่มขึ้นก็ได้

ส่งออก 5 เดือนโตร้อนแรง จะพุ่งต่อได้แค่ไหน เอกชนยังกังวลเรื่องอะไรบ้าง?

ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะเปิดประเทศนำร่องที่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มองว่าโอกาสยังดีเพราะลักษณะภูมิประเทศภูเก็ตเป็นเกาะ  มีประชากรตามสำมะโนประชากรประมาณ 5 แสนคน  แต่ใน 5 แสนคนก็มีคนเดินทางทำงานเข้าออกอันนี้เราก็ต้องนับไปด้วย ซึ่งภูเก็ตมีทางเข้า-ออก 3 ทางคือ  ทางเครื่องบิน ทางรถ และทางเรือ แต่ยังควบคุมง่ายกว่ากรุงเทพฯ ที่นอกเหนือจากคนหนาแน่นกว่า และแออัดกว่าแล้ว การเข้า-ออกกรุงเทพฯยังเข้าได้ทุกทิศทาง  เพราะฉะนั้นภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ถ้าทำได้ มีมาตรการที่ดี มีการควบคุมที่ดีทุกอย่างก็มีโอกาสที่จะไปเปิดที่จุดอื่นต่อไป แต่ถ้าเกิดทำไม่ดีก็มีความเสี่ยง อย่างที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูด 120 วันก็มีความเสี่ยง ก็พยายามที่จะบาลานซ์ระหว่างภาคสาธารณสุขกับภาคเศรษฐกิจ เพราะเวลานี้เศรษฐกิจก็แย่ แต่ถ้าไม่เปิดเลยก็ตายกันหมด แต่ถ้าเปิดก็มีความเสี่ยงในการเคลื่อนไหว ในการเคลื่อนย้ายคน โอกาสที่จะมีการระบาดก็มี

เพราะฉะนั้นที่สำคัญกว่า ไม่ว่าจะเปิด 120 วัน หรือ ใน 150 วัน ไม่ได้อยู่ที่เงื่อนเวลา แต่อยู่ที่ ณ เวลานั้นวางแผนและพร้อมแค่ไหน  มาตรการต่าง ๆ มีความพร้อม วัคซีนมีความพร้อมแค่ไหน การฉีดมีความพร้อมแค่ไหน ฉีดได้ครอบคลุมแค่ไหน มีมาตรการย่างอื่นรองรับอะไรบ้าง รัดกุมแค่ไหน สิ่งเหล่านี้มากกว่าที่จะเป็นตัวสำคัญ เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่ที่เราประสบปัญหา เกิดจากการที่การ์ดตก ไม่มีระเบียบวินัย และหย่อนยานในทุกเรื่อง เรื่องเหล่านี้ต้องมานั่งคุยกันว่า ทุกฝ่ายช่วยกันได้มั้ยตรงนี้ และรัฐบาลมีมาตรการที่ชัดเจนแค่ไหนที่ไม่ให้ทำให้เกิดการระบาดระลอกต่อไป เพราะหลายประเทศมีการระบาดระลอกที่ 4 แล้ว เราก็ไม่อยากให้การเปิดประเทศพอเดือนหนึ่งหลังจากนั้นก็มีการระบาดระลอก 4 ตามมา

ขณะที่เวลานี้มีโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่มีพื้นฐานมาจากอินเดีย สายพันธุ์จากแอฟริกา โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้ามาที่กรุงเทพฯแล้ว ซึ่งสายพันธุ์นี้ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าจากอังกฤษ 40% ความน่ากลัว ความรวดเร็วของมันก็เป็นเรื่องที่ท้าทายทั้งสิ้นที่จะต้องมีมาตรการที่เข้มงวด การฉีดวัคซีนต้องให้ได้ตามเป้า จำนวนวัคซีนก็ต้องมีอย่างเพียงพอ และกระจายให้ทั่วถึงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ทั่วประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

โควิดโจมตีโรงงาน ติดเชื้อกว่าหมื่นคน ผวาส่งออกสะดุด

ส่งออกเฮ เดือนพ.ค.โตพรวด 41.59% สูงสุดรอบเกือบ 11 ปี

จับตา รง.น้ำตาลระส่ำ! อ้อยขาด-แข่งแย่งซื้อ ส่งออกต่ำสุดรอบ 10 ปี

สกัดโควิดลามทุบส่งออก ประเดิมเทวัคซีน 8 นิคมใหญ่

สินค้าอาหาร-WFH- ป้องกันโรค ยังเป็นดาวรุ่งส่งออกปีนี้