สกัดโควิดลามทุบส่งออก ประเดิมเทวัคซีน 8 นิคมใหญ่

17 มิ.ย. 2564 | 08:05 น.

โควิดลามหนักคลัสเตอร์โรงงาน กระทรวงอุตฯสั่ง 63,000 รง. คุมเข้ม จี้ทำแบบประเมินผลตนเองให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิ.ย. ขณะ 8 นิคมฯใหญ่ ดีเดย์ฉีดวัคซีน 4.3 แสนคนงาน 1ก.ค.นี้ เร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ สภาหอฯ-สภาอุตฯหวั่นกระทบส่งออกจี้รับมือเต็มพิกัด “สมุทรสาคร”ลุ้นวัคซีนทางเลือกฟื้นผลิตเต็มร้อย

 

 

ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรม ณ วันที่ 10 มิ.ย.2564 พบมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในสถานประกอบกิจการโรงงาน 149 แห่ง มีผู้ติดเชื้อ 7,777 คนในพื้นที่ 21 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายหวั่นหากเอาไม่อยู่และมีการขยายวงของการระบาดในคลัสเตอร์โรงงานเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลกระทบการผลิตของหลายอุตสาหกรรมที่อาจหยุดชะงักและส่งผลกระทบต่อการส่งออกที่เวลานี้ยังขยายตัวได้ดี และถือเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่อาจจะสะดุดลงได้

 

จี้ 6.3 หมื่นร.ประเมินเสี่ยง

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดแจ้งไปยังผู้ประกอบการ และให้หน่วยงานในสังกัดติดตามการดำเนินการของสถานประกอบการ ซึ่งตั้งเป้าหมายสำหรับโรงงานขนาดใหญ่ คนงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป (จำนวน 3,304 แห่ง) ต้องทำการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID Plus และ Thai Save Thai ของกรมอนามัยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มิถุนายน และโรงงานทั้งหมดทั่วประเทศ (ประมาณ 63,000 แห่ง) ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งขณะนี้มีโรงงานเข้าสู่ระบบทำการประเมินแล้วประมาณ 20% เท่านั้น หากโรงงานใดไม่ให้ความร่วมมืออาจมีการพิจารณาบทลงโทษต่อไป

 

ดีเดย์ระดมฉีด8นิคมฯใหญ่

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กนอ. จะเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในนิคมฯ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ซึ่งขณะนี้ในนิคมอุตสาหกรรม มีแรงงานที่ต้องการวัคซีนทั้งสิ้น 677,619 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานนิคมฯในพื้นที่สีแดงที่มีการระบาดสูง 438,424 ราย โดยพื้นที่สีแดงนี้ได้จัดจุดฉีดวัคซีนไว้ 8 แห่ง ได้แก่ นิคมฯอมตะซิตี้, นิคมฯบางพลี,นิคมฯมาบตาพุด, นิคมฯสมุทรสาคร, นิคมฯสินสาคร,สวนอุตสาหกรรมบางกระดี, นิคมฯ เวลโกรว์ และนิคมฯลาดกระบัง (นิคมฯนี้ได้เริ่มทยอยฉีดวัคซีนแล้ว)

“ทั้ง 8 จุด คิดเป็นสัดส่วนแรงงานในนิคมฯทั้งประเทศประมาณ 50% และมีมูลค่าการลงทุนกว่า 80% มีศักยภาพการฉีดได้ประมาณ 8,000 คนต่อวัน คาดจะฉีดวัคซีนได้ครบภายในเดือนสิงหาคม หลังจากนั้นจะขยายฉีดในพื้นที่นิคมฯอีก 6 จุดเพื่อให้ครอบคลุมแรงงานในนิคมฯกว่า 80% ในจำนวนแรงงานในนิคมฯเหล่านี้ บางส่วนทางโรงงานได้จัดหาวัคซีนทางเลือกฉีดให้กับแรงงานของตัวเองแล้ว ซึ่ง กนอ. จะสำรวจเพื่อให้ได้ยอดที่แท้จริงของผู้ที่ต้องการวัคซีน และจะเร่งทยอยฉีดให้ทั่วถึงโดยเร็วที่สุด”

 

บิ๊กเอกชนห่วงกระทบส่งออก

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาดเข้าไปในคลัสเตอร์โรงงานมีความน่าเป็นห่วง เพราะหากมีผู้ติดเชื้อมาก ๆ อาจทำให้การผลิตเกิดการสะดุด และจะกระทบตัวเลขการส่งออกในภาพรวมได้ เนื่องจากโรงงานใดมีผู้ติดเชื้ออาจต้องหยุดผลิตชั่วคราวเพื่อดูแลพนักงานและเคลียร์สถานที่

“เวลานี้ภาคส่งออกถือเป็นเครื่องยนต์เดียวที่ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ หากตรงนี้สะดุดก็ยุ่งเลย อย่างไรก็ดีคาดการส่งออกและเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากขึ้นในไตรมาส 4 ปีนี้ หลังเร่งระดมฉีดวัคซีนสร้างความเชื่อมั่นให้คนในประเทศและคู่ค้ามากขึ้น ซึ่ง กกร.ยังคงคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2564 จะขยายตัวได้ 0.5-2% และตัวเลขส่งออกจะขยายตัวได้ 5-7% อย่างไรก็ดียังมีความเชื่อว่าภาคการส่ออกไทยปีนี้อาจจะขยายตัวได้มากกว่า 7% จากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดไม่ให้กระทบภาคการผลิตเพื่อส่งออกได้”

สอดคล้องกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่กล่าวว่า ห่วงโควิดจะระบาดเข้าไปในคลัสเตอร์โรงงานมากขึ้น และกระทบกับการส่งออก ดังนั้นทุกฝ่ายต้องพยายามสร้างป้อมปราการที่จะทำอย่างไรไม่ให้ข้าศึก (โควิด) บุกเข้ามา วิธีที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานทุกคนโดยเร็วที่สุด โดยในส่วนของวัคซีนทางเลือกที่ทางส.อ.ท.ได้รับการจัดสรรจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จำนวน 3 แสนโดสจะเริ่มฉีดได้ในวันที่ 25 มิถุนายนนี้

สกัดโควิดลามทุบส่งออก ประเดิมเทวัคซีน 8 นิคมใหญ่

 

มหาชัย ลุ้นผลิต100%

ด้านนายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร เผยว่า โรงงานในสมุทรสาครบางแห่งยังมีพนักงานติดเชื้อโควิดประปราย ทำให้เวลานี้โรงงานในพื้นที่ (6,082 โรงในหลากหลายอุตสาหกรรม) มีการใช้กำลังผลิต 80% ของภาพรวม นอกจากนี้ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานมากกว่า 5 หมื่นคน เวลานี้แรงงานในพื้นที่รวมกว่า 3.4 แสนคน ในจำนวนนี้อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมกว่า 3 หมื่นคนส่วนใหญ่ ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนซึ่งต้องรอการจัดสรรจากรัฐบาล ขณะที่สถานประกอบการในพื้นที่ส่วนหนึ่งได้จองวัคซีนทางเลือกจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผ่านทางส.อ.ท. จำนวน 1.5 หมื่นโดส คาดจะได้รับวัคซีนมาฉีดให้คนงานในเร็วๆนี้

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,688 วันที่ 17 - 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564