ธุรกิจไมซ์ซึมถึงปี68 สมาคมแสดงสินค้าจี้รัฐเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจ

05 มิ.ย. 2564 | 01:00 น.

ทีเส็บคาดปี 68 ธุรกิจไมซ์จะกลับมาฟื้นตัวเท่าก่อนเกิดโควิด ทั้งเตรียมแผนดันธุรกิจเดินหน้า ประเดิมรับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ด้านสมาคมการแสดงสินค้า ชี้รายได้หายฮวบ 8 หมื่นล้านบาท ร้องนายกเยียวยา-เสนอแนวทางเร่งด่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ

โควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้เกิดการชะงักของธุรกิจไมซ์ ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 มีแนวโน้มย่ำแย่กว่าปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าในปีนี้จะลดลงกว่า 70% แต่ทีเส็บยังคงส่งเสริมตลาดไมซ์ เพื่อให้ธุรกิจไมซ์เดินหน้าได้เร็วที่สุด

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ กล่าวว่าครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2564  ตลาดไมซ์จากต่างประเทศลดลง 90% ซึ่งลดลงในสัดส่วนใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 2563

เนื่องจากต่างชาติเดินทางเข้ามาไม่ได้ ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ในหลายประเทศ ส่วนโดเมสติกไมซ์ ลดลง 60% จากโควิดระลอก 3 และมาตรการห้ามจัดประชุมเกิน 30 คนของไทย จึงคาดว่าตลอดปีงบประมาณนี้ธุรกิจไมซ์โดยรวมไมซ์จะลดลงราว 70% 

จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

ทั้งนี้ทีเส็บคาดการณ์แนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจไมซ์ไว้ว่าในปี 2564 ธุรกิจจะฟื้นกลับมา 25% ปี 2566 กลับขึ้นมาอยู่ที่ 40-50% ปี 2567 จะอยู่ที่ 70% และในปี 68 จะกลับมาอยู่ที่ 80% ใกล้เคียงกับปี 2562 ช่วงก่อนเกิดโควิด

โดยธุรกิจการจัดแสดงสินค้ากลับมาเร็วกว่าการจัดประชุม อินเซ็นทีฟ คอนเวนชั่น ดังนั้นสิ่งที่ทีเส็บกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ 1.การดูแลคนในอุตสาหกรรมนี้ โดยทำเรื่องฉีดวัคซีน บุคลากรด่านหน้าขององค์กรต่างๆ และ2.การหาโอกาสทำให้ธุรกิจไมซ์เดินหน้าได้เร็วที่สุด

สำหรับการดึงนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากต่างประเทศเข้าไทย จะให้ความสำคัญกับโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ที่จะดึงกลุ่มคอร์ปอเรต และกลุ่มอินเซ็นทีฟ จากประเทศ ที่ 5 สายการบิน

อาทิ เอมิเรสต์ แอร์ไลน์, อิสราเอล แอร์ไลน์ ทำการเปิดบินตรงเข้าภูเก็ต ตามนโยบายที่เปิดให้ต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเข้าภูเก็ตได้โดยไม่ต้องกักตัว

รวมไปถึงการประสานงานกับศบค.เตรียมการดึงงานต่างๆจากต่างประเทศเข้ามาในอนาคต ที่เรามองไปถึงปี 2565 ที่จะดึงงานจากต่างประเทศเข้ามาจัดในไทย อย่างงานประชุมเอเปกในเดือนพ.ย.นี้ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ การดึงเมกกะอีเว้นท์ต่างๆมาจัดในไทย

ส่วนการกระตุ้นตลาดไมซ์ในประเทศก็ใช้โครงการประชุมเมืองไทยปลอดภัยกว่า ที่ทีเส็บสนับสนุนงบให้บริษัทต่างๆ จัดประชุม ที่จะดำเนินการได้ในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้มี 148 โครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้ว รวมถึงการเข้าไปสนับสนุนเทคโนโลยีแบบเวอร์ชัลและไฮบริด เพื่อให้จัดงานแสดงสินค้าได้

รวมถึง 10 เมืองไมซ์ซิตี้ ก็ให้เข้าศบค.เพื่อใช้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดจัดงานได้ ซึ่งไม่ใช่พื้นที่สีแดงก็สามารถจัดงานได้ ไฮบริด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานแสดงสินค้า อย่าง การจัดงานประชุมไลอ้อน ที่โคราช ที่ก็ได้จัดไปแล้ว หรืองานเวิลด์ฮาลาล ที่จะจัดในวันที่ 26-29ส.ค. ที่สงขลา

นายประวิชย์ ศรีบัณฑิตมงคล นายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) กล่าวว่า จากผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ กระทบต่อการจัดกิจกรรมด้านการแสดงสินค้า ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ตามคำสั่งของรัฐบาลที่ให้ระงับการจัดกิจกรรม และปิดสถานที่จัดงานชั่วคราว

ทำให้กิจการของสมาชิกต้องพักกิจการ หรือเลิกกิจการไป ทำให้มีแรงงานต้องตกงานไปกว่า 50-60% จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วนได้แก่

1.การเพิ่มแหล่งเงินกู้ระยะสั้น

2.การจัดหาวัคซีนให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรมการแสดงสินค้า เป็นลำดับต้นๆ เพื่อสร้างความพร้อมและกลับมาจัดงานแสดงสินค้าได้อย่างปลอดภัย ทั้งผู้จัดงาน ผู้ออกงาน ผู้เข้าชมงาน และ บุคลากรที่เกี่ยวข้องต่างๆ

3.ยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นระยะเวลา 6 เดือน  เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในการรักษาแรงงานที่มีทักษะเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้า ซึ่งเป็นทักษะเฉพาะที่ต้องอาศัยประสบการณ์ในการทำงาน และสมาชิก

รวมทั้งสมาคมฯพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้การจัดกิจกรรม และงานแสดงสินค้า สามารถกลับมาดำเนินการจัดได้อีกครั้งโดยเร็ว ภายใต้มาตรการปกติใหม่ และ มาตรการเพิ่มเติม ที่เตรียมเปิดรับนักเดินทางธุรกิจจากต่างประเทศโดยไม่ต้องกักตัว ตามแผนเปิดประเทศที่ตั้งไว้

อีกทั้งยังเตรียมเสนอแผนเร่งด่วน เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากการแพร่ระบาดได้ทุเลาลง และเมื่อการจัดกิจกรรมงานแสดงสินค้า สามารถกลับมาจัดกิจกรรมได้ อย่างเร่งด่วน ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าการจัดงานแสดงสินค้า เป็นช่องทางการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่มีประสิทธิภาพ ได้ในระยะเวลาอันสั้น

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,684 วันที่ 3 - 5 มิถุนายน พ.ศ. 2564   

ข่าวเกี่ยวข้อง: