"ไมซ์" สูญรายได้6หมื่นล.“ทีเส็บ” จ่อฟื้นธุรกิจ

25 พ.ค. 2563 | 08:50 น.

โควิดฉุดธุรกิจ ไมซ์ บักโกรก แจง 5 เดือนแรกปีนี้ไทยสูญรายได้ 1 หมื่นล้านบาท หลังการจัดงานระดับนานาชาติขอยกเลิก-เลื่อน ร่วม 118 งาน คาดปีนี้พลาดเป้ารายได้กว่า 6 หมื่นล้านบาท “ทีเส็บ” งัดแผนชูดิจิทัลช่วยธุรกิจ กระตุ้นโดเมสติกไมซ์ หลังรัฐทยอยปลดล็อกดาวน์

โควิด-19 ฉุดอุตสาหกรรมไมซ์ในปีนี้อ่วม เผย 5 เดือนแรกปีนี้การจัดงานระดับนานาชาติในไทย เฉพาะงานที่ ทีเส็บให้การสนับสนุน มีการแจ้งยกเลิกไปแล้ว 28 งาน และเลื่อนการจัดงานไปอีกกว่า 90 งาน จึงคาดเป้าหมายการสร้างรายได้ ธุรกิจไมซ์ ในปีงบประมาณนี้ จะหายไปกว่า 6 หมื่นล้านบาทจากเป้าหมายที่วางไว้ 2.3 แสนล้านบาท ทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากกิจกรรมไมซ์ ในปีนี้ที่เดิมคาดไว้ที่ 5 แสนล้านบาท จะเหลืออยู่ที่ 1.65 แสนล้านบาท

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบให้การจัดงานไมซ์ระดับนานาชาติจะหายไปกว่า 70% ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 ไทยเพิ่งจะมีรายได้จากธุรกิจไมซ์เพียงแค่ (..-..62) เท่านั้น แต่เมื่อเกิดโควิด ก็ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้เกิดการยกเลิกและเลื่อนจัดงานอย่างต่อเนื่อง สูญรายได้ไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ส่งผลให้เป้ารายได้ของธุรกิจไมซ์จะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ขณะนี้รัฐบาลได้ผ่อนผันให้บางกิจกรรมสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์แล้ว โดยเปิดให้มีการจัดประชุมได้ 50 คนไม่เกิน 200 คนสำหรับการประชุมขององค์กรเดียวกันได้ ซึ่งต่อไปก็คาดว่าจะเริ่มทยอยปลดล็อกเพิ่มขึ้น

 

ดังนั้น ทีเส็บจึงต้องเตรียมความพร้อมในการทยอยกลับมาเปิดกิจกรรม โดยจะร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในการระบบติดตามผู้ใช้บริการ (Tracking system) และหลังร่วมงาน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

 

รวมถึงการวางแผนในการส่งเสริมตลาดไมซ์ภายในประเทศ โดยจะเปิดตัวโครงการ ประชุมเมืองไทย ภูมิใจช่วยชาติ ที่จะอัดฉีดงบ 10 ล้านบาท สำหรับสนับสนุนเงินให้ 3 หมื่นบาท สำหรับการจัดประชุมข้ามจังหวัดตั้งแต่ 40 คนขึ้นไป อีกทั้งหากรัฐบาลมีการเปิดให้อากาศยานทำการบินได้เมื่อไหร่ ทีเส็บก็วางแผนจะเดินทางไปทำโรดโชว์ในประเทศเป้าหมายเช่น จีน เกาหลีใต้

 

ด้านนายจิรุตถ์ อิศรางกูร อยุธยา ผู้อำนวยการทีเส็บ เผยว่า ทีเส็บได้จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมไมซ์ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และรองรับสถานการณ์เมื่อทุกอย่างคลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติ โดยทีเส็บได้ร่วมมือพันธมิตร จัดทำแนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE Venue Hygiene Guidelines) สถานที่จัดงาน ผู้จัดงานประชุม นิทรรศการ และงานอีเวนต์ เพื่อป้องกันและควบคุมการติดเชื้อโควิด-19 เน้น 5 มาตรการควบคุมหลักด้านสุขอนามัยสำหรับธุรกิจไมซ์ ครอบคลุมตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน ระหว่างงาน และหลังจบงาน

"ไมซ์" สูญรายได้6หมื่นล.“ทีเส็บ” จ่อฟื้นธุรกิจ

ได้แก่ 1. จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ(1 คนต่อพื้นที่ 2 ตรม.) 2. ตรวจคัดกรองอุณหภูมิร่างกาย (ใช้แอพพลิเคชันดูแล ส่งต่อ และติดตามผู้ป่วย) 3.เว้นระยะห่างในสถานที่จัดงาน 4. ระบบติดตามผู้ใช้บริการ(Tracking system) ในกรณีผู้ใช้บริการป่วย หลังจากมาใช้บริการในสถานประกอบการและจัดระบบคิว โดยแยกพื้นที่รอก่อนใช้บริการ

นอกจากนี้ยังมีโครงการ “จัดประชุมอย่างไร ปลอดภัยไร้ COVID-19” ทีเส็บ สนับสนุนเงินให้ 3 หมื่นบาทต่อองค์กร ถึงเดือนมิ..นี้ ซึ่งตั้งเป้าความช่วยเหลือทั่วประเทศไว้ที่ 216 แห่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) และผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย (TMVS) ทุกประเภท นำเงินไปจัดทำแผน จัดหาอุปกรณ์คัดกรอง ป้องกันโรค ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ด้านการควบคุมและป้องกันไวรัสโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจให้สถานที่จัดงานของไทยที่มีมาตรฐาน

อีกทั้งทีเส็บยังได้ดำเนินโครงการVirtual Meeting Space หรือ VMS” สนับสนุนผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ส่งเสริมการจัดงาน และเพิ่มทักษะความรู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยจะเริ่มสนับสนุนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป โดยจะมีให้เลือก 3 กิจกรรม ได้แก่

1. Webinar หรือ จัดการประชุมสัมมนาเสมือนจริงผ่านออนไลน์ รองรับผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละงานผ่านออนไลน์ได้ตั้งแต่ 10 คน ไปจนถึงสูงสุด 1 หมื่นคน

2. Offline to Online (O2O) เป็นวิธีการจัดงานแสดงสินค้าผ่านออนไลน์ โดยทีเส็บจะจัดหาและบริหารจัดการแพลตฟอร์มออนไลน์ให้แก่ผู้จัดงานแสดงสินค้า

3. E-Learning Platform ที่จะเปิดให้ผู้ประกอบการไมซ์สมัครเข้าอบรม 250 ราย เพื่อเพิ่มทักษะและปูพื้นฐานการใช้เทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการไมซ์ โดยจะเรียนผ่านแพลตฟอร์ม YourNextU จากสถาบัน Southeast Asia Center หรือ SEAC รวม 6 หลักสูตร อาทิ หลักสูตรการบริหาร, หลักสูตรความเป็นผู้ประกอบการ, หลักสูตรการใช้ดิจิทัล ระยะเวลาเรียนออนไลน์ 6 เดือน ระหว่างพฤษภาคม-ตุลาคมนี้

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,577 วันที่ 24-27 พฤษภาคม 2563