พรุ่งนี้! ยางไทยรีบาวด์ ทะลุ 70 บาท/กก.

24 พ.ค. 2564 | 12:55 น.

ผู้ว่า กยท. จับตา ยางไทยรีบาวด์ ร้อนแรง พรุ่งนี้คาดทะลุ 70 บาท/กก. ปัจจัย ค่าเงินบาท-น้ำมันดิบ หนุน เชื่อสัปดาห์นี้ยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์ราคาตลาดกลางยางพารา ราคาประมูลเฉลี่ย ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 64.90 บาท/กก.ราคายางแผ่นรมควันอยู่ที่ 69.46 บาท/กก. ราคายางวันนี้ในภาพรวมปรับตัวสูงขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากค่าเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

 

ประกอบกับภาวะฝนตกหนักในหลายพื้นที่ปลูกยางของประเทศไทยและการขาดแรงงานกรีดยาง ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตยางออกสู่ตลาดน้อย ในขณะที่ความต้องการยางมีมากอย่างไรก็ตาม ราคายางถูกกดดันจากการที่นักลงทุนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการลงทุนอยู่จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด -19 และสต๊อกยางจีนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.29 ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 นักลงทุนยังคงต้องติดตามเศรษฐกิจโลกต่อไป

 

สถานการณ์ราคายางพารา ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2564

 

ส่วนเรื่องของการมีการประกาศ  เรื่อง การอนุญาตให้เจ้าของสวนยางโค่นต้นยางก่อนได้รับอนุมัติการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน พ.ศ. 2564  ความจริงก็มาจากทั้ง 2 เรื่อง ก็คือ 1. ตามกฎหมาย เรื่องการปลูกแทน จากมีการแบ่งเงินเก็บค่าธรรมเนียมการส่งยางออกนอกราชอาณาจักร (เซสส์) มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุน แก่เกษตรกรชาวสวนยางเพื่อการปลูกยางทดแทน โดยแบ่งให้เกษตรกรจำนวน 85% เป็นงบผูกพัน เดิมเรียกว่า ทุน สกย. แต่พอมาควบรวม เป็นทุน กยท. มีเงินสัดส่วนปรับลดลงมาเหลือแค่ 40% ทำให้การบริหารจัดการทำได้ยากขึ้น มีการระบุชัดเจนถึงวัตถุประสงค์การใช้เงินแต่ละหมวด


 

ขณะเดียวกัน 2. มติ คสช.ที่มีนโยบายลดพื้นที่ยางจาก 2 แสนไร่ เพิ่มการปลูกแทนเป็น 4 แสนไร่ รื่องการปลูกแทนที่มีปัญหามาจากนโยบายของรัฐในอดีต ให้เพิ่มการปลูกแทนเป็น 4 แสนไร่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา  ทำให้รอบการใช้เงินเร็วยิ่งขึ้น ในการจ่ายแต่ละปีมากขึ้น ซึ่งทั้งสองปัจจัยมีผลทั้งคู่

 

นายณกรณ์ กล่าวว่า ในขณะที่เงินส่วนต่างที่ กยท.จ่ายเงินเกินไปจากปกติ 1.7 หมื่นล้านบาท ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ กยท.ผ่านบอร์ดไปเรียบร้อยในเรื่องขอเงินส่วนต่าง ก็อยู่ในกระบวนการนำเสนอรัฐบาลว่าจะมีความคิดเห็นอย่างไร แต่ตอนนี้รัฐบาลก็ให้ความสำคัญในการใช้งบประมาณในเรื่องโควิดเป็นลำดับแรก ก็แล้วแต่รัฐบาลจะมีความคิดเห็นอย่างไรก็บเรื่องดังกล่าวนี้ ตอนนี้ทุกคนจะต้องช่วยโควิดก่อน

 

เรื่องเงินไม่พอ เกษตรกรไม่ต้องกังวลเลยว่าเพราะเป็นสิ่งที่ กยท.จะต้องบริหารจัดการ แล้วเรื่องของบประมาณไม่เพียงพอ เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน อย่างไรก็ดูแลเกษตรกรได้อย่างแน่นอน ไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้เพียงแต่ว่าต้องบริหารจัดการ ซึ่งเราจะพยายามดูแลทั้งความต้องการและผลผลิตให้เหมาะสม ไม่ใช่เพื่อราคายางเพียงอย่างเดียว แต่ก็เพื่อราคาไม้ด้วย มองว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด

 

“ราคาไม้ดีมาก น่าจะ 30,000 บาท/ไร่ ด้วยเหตุผลนี้ ทำไมเราถึงออกประกาศให้เกษตรกรสามารถตัดไม้ได้ก่อนเพื่อเกษตรกรจะได้มีเงินมาหมุนเวียนใช้จ่าย เราอยากจะช่วยเกษตรกร ไม่อยากให้เสียโอกาสในเรื่องนี้ จึงจำเป็นปรับทบทวนหลักเกณฑ์ในครั้งนี้”

 

นายณกรณ์กยท.จะต้องดูแลภาคเอกชนด้วย อาทิ อุตสาหกรรมไม้ ซึ่งกลุ่มนี้กำลังฟื้นตัว จะเป็นช่วยทำให้ซัพพลายไม้ดีขึ้น ราคาไม้ดีขึ้น ก็สามารถส่งออกได้มากขึ้น นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำไมเราถึงได้เร่ง ทำอย่างไรก็ได้ให้เกษตรกรมีโอกาสที่ดีขึ้นในเรื่องของการทำกำไรได้ในช่วงนี้ รวมทั้งตัวโรงงานก็จะมีโอกาสได้ทำธุรกิจที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน”