พนักงานการบินไทย ยื่นเออรี่รีไทร์ 7 พันคน

19 พ.ค. 2564 | 08:10 น.

พนักงานการบินไทย ยื่นเออรี่รีไทร์กว่า 7 พันคน ขณะที่การประชุมเจ้าหนี้ 19 พ.ค.นี้ เจ้าหนี้โหวตผ่านแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยแล้ว หลังได้กลุ่มหุ้นกู้สหกรณ์ร่วมหนุน เดินสายล็อบบี้แบงก์-คลัง เปิดทางให้แปลงหนี้เป็นทุนต่อลมหายใจธุรกิจ ทั้งตั้ง 5 กรรมการบริหารแผนฟื้นฟู ตามที่ “ชาญศิลป์” มั่นใจเจ้าหนี้โหวตหนุนแผนแน่

ภายใต้ แผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย ภายในปี 2564 การบินไทยจะมีรายจ่ายค่าชดเชยในโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กรเป็นเงิน 15,120 ล้านบาท ซึ่งการบินไทยจะจัดสรรกระแสเงินสดจากการดำเนินงานปกติ รวมถึงกระแสเงินสดจากการขายทรัพย์สินรองและกระแสเงินสดที่ได้จากการติดตามทวงถามหนี้ มาจัดสรรจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปกติเป็นอันดับแรก โดยเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ศาลได้อนุญาตให้การบินไทยขายทรัพย์สินในที่ดินเช่าที่ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาที่อยู่ระหว่างการรื้อถอนอีกทั้งเมื่อแผนฟื้นฟูฯได้รับความเห็นชอบการบินไทยมีแผนจะขายเครื่องบินเก่าในบางเครื่องที่จะไม่บินแล้วด้วย

ทั้งนี้ หลังเปิดให้พนักงานการบินไทยสมัครใจเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองพนักงานเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เพื่อลดจำนวนพนักงานราว 1.9 หมื่นคนเหลือ 1.6 หมื่นคน แหล่งข่าวระดับสูงจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุดมีพนักงานราว 1.1 หมื่นคนที่ผ่านการเข้าสู่ โครงสร้างองค์กรใหม่ และมีที่ยังไม่ผ่าน แต่ต้องนำคนลงโครงสร้างอีกเกือบ 1 พันคน ขณะที่มีอีก 400-500 คน ไม่แสดงความจำนงค์ใดๆ

ขณะเดียวกันมีพนักงานเข้าร่วม โครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร หรือ MSP A -MSP B- MSP C รวมแล้วประมาณ 7 พันคน รวมไปถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ ตั๋วเครื่องบิน การให้พนักงานเสียภาษีเอง การลดค่าใช้จ่ายค่าล่วงเวลา การดำเนินการดังกล่าวทำให้การบินไทยจะลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรลงจากปีละกว่า 3 หมื่นล้านบาท เหลือราว 1-1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี

การบินไทยประสบความสำเร็จในการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรใหม่ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อให้มีตำแหน่งงานและสายบังคับบัญชาที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดธุรกิจการบินได้ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการ จากเดิมที่บริษัทฯ มีจำนวนพนักงานในประเทศไทยก่อนเข้ากระบวนการกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2564 จำนวน 17,078 คน

โดยมีพนักงานแสดงความจำนงเข้ากระบวนการกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ และสมัครใจเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กร (Mutual Seperation Plan - MSP) รวมคิดเป็น 97% ทั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและความเชื่อมั่นของพนักงานที่มีต่อแผนฟื้นฟูกิจการฯ และผู้ทำแผนฯ

ขณะที่พนักงานที่ไม่ประสงค์เข้ากระบวนการกลั่นกรอง ซึ่งรวมพนักงานที่จะเกษียณอายุในเดือนตุลาคม 2564 จำนวน 510 คน หรือคิดเป็น 3% ของจำนวนพนักงานที่เข้าร่วมโครงการของบริษัทฯ

บริษัทฯได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน อีกทั้งเพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการได้รับการยอมรับจากเจ้าหนี้และได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ซึ่งพนักงานการบินไทยทุกคนมีความมุ่งมั่นพร้อมให้ความร่วมมือในการร่วมขับเคลื่อนองค์กรตามยุทธศาสตร์ที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ลดค่าใช้จ่ายไปแล้วกว่า 30,000 ล้านบาท รวมทั้งเจรจาปรับลดค่าใช้จ่ายในทุกๆ ด้าน

ตลอดระยะเวลาของการจัดทำแผนกว่า 6 เดือนที่ผ่านมานั้น ผู้ทำแผนฯ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าร่วมประชุมหารือกับเจ้าหนี้ทุกกลุ่ม เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ มาโดยตลอด ซึ่งเจ้าหนี้จะสามารถใช้สิทธิในการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ

ส่วนการประชุมเจ้าหนี้อีกรอบในวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ทางเจ้าหนี้ได้โหวตเห็นชอบแผนฟื้นฟูของการบินไทยแล้ว หลังจากนอกจากผู้ทำแผนฟื้นฟูฯจะหารือกับเจ้าหนี้กลุ่ม 4 (กระทรวงการคลัง) เจ้าหนี้กลุ่ม5(เจ้าหนี้สถาบันการเงิน) และกลุ่ม 6 (เจ้าหนี้สถาบันการเงินไม่มีประกัน) เพื่อเจรจาถึงแผนเพิ่มทุนและหาแหล่งเงินกู้ใหม่ 5 หมื่นล้านบาท รวมถึงการแปลงหนี้เป็นทุนแล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ทำแผนฟื้นฟูฯได้หารือกับชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.) ซึ่งเป็นตัวแทนของสหกรณ์ออมทรัพย์เจ้าหนี้หุ้นกู้การบินไทยเรียบร้อยแล้ว เพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน

พนักงานการบินไทย ยื่นเออรี่รีไทร์ 7 พันคน

โดยมีข้อสรุปว่า ข้อเสนอที่จะให้การบินไทยลดทุนจดทะเบียนเหลือ 1 สตางค์เป็นไปไม่ได้และกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย และทางชสอ.ได้ยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูอีกครั้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ไปแล้ว ใน 3 เรื่องหลักคือ

1.กรณีดอกเบี้ยตั้งพัก 3 ปีให้มีสิทธิแปลงหนี้เป็นทุนได้

2. การจัดการและหาประโยชน์จากทรัพย์สิน และ

3. เสนอตั้งนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายพรชัย ฐีระเวช นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้บริหารแผนรวมถึงสนับสนุนการแก้ไขแผนฟื้นฟูของธนาคารกรุงเทพฯ ที่ได้เสนอผู้บริหารแผน 2 คน คือ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ และนายไกรสร บารมีอวยชัย ส่วนคณะกรรมการเจ้าหนี้ ทางกลุ่มสหกรณ์ฯจะเสนอรายชื่อ 3 คน

“กรณีดอกเบี้ยตั้งพัก ที่การบินไทยจะเปิดให้มีสิทธิแปลงหนี้เป็นทุนได้นั้น เพื่อความเป็นธรรมกับเจ้าหนี้ทุกราย การบินไทยก็จะให้สิทธิเหมือนกันหมด ประกอบกับการออกมาให้สัมภาษณ์ของนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อยากให้การบินไทยเดินหน้าตามแผนและบริหารแผนก่อน และคงไม่มีใครอยากเห็นการบินไทยล้มละลาย ก็มีนัยยะที่เจ้าหนี้ก็เห็นว่า รัฐบาลมีท่าทีสนับสนุนแผนฟื้นฟูของการบินไทย” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มั่นใจว่า จะได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ในการโหวตแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ในการจัดประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2564  เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ทำแผนฟื้นฟูได้มีการเจรจากับเจ้าหนี้มาโดยตลอด และคิดว่า เจ้าหนี้ก็เข้าใจ การดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ย่อมดีกว่าการปล่อยให้การบินไทยล้มละลายแน่นอน

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,680 วันที่ 20 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง