กางแผน Cannabis Retreats โมเดลพลิกท่องเที่ยวไทยหลังโควิด

28 มี.ค. 2564 | 04:08 น.

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ ดัน 2 โมเดล Medical Wellness Tourism - Cannabis Retreats ฟื้นท่องเที่ยวไทยหลังโควิด

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงกับการท่องเที่ยวทั่วโลก ภาคการท่องเที่ยวของไทยหยุดนิ่งมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ส่งผลกระทบอย่างหนักกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างสายการบิน โรงแรม บริษัททัวร์ รถเช่า เรือสำราญ ไกด์นำเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหาร 

ส่งผลให้แรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถูกเลิกจ้างไม่ต่ำกว่า 25-30% คิดเป็นจำนวน 1-1.2 ล้านตำแหน่งงาน ถ้าวิกฤติยังคงมีอยู่และยังไม่มีการปรับตัวคาดการณ์ว่าสิ้นปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเหลือเพียง 10 ล้านคนเทียบกับก่อนวิกฤติโควิด – 19 ในปี 2562 ที่มีจำนวนมากถึง 40 ล้านคน 

กางแผน Cannabis Retreats โมเดลพลิกท่องเที่ยวไทยหลังโควิด

ทั้งนี้  ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นจากทั่วโลกในมาตรการการรับมือและป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19ทำให้ประเทศไทยยังเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวและฟื้นฟูสุขภาพในรูปแบบ Medical Wellness Tourism 

จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 13.7% โดยจะมีมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านบาทในปี 2567

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มองเห็นโอกาสในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวหลังโควิด 19 คลี่คลาย ด้วยการสร้างให้ประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวด้านการแพทย์และสุขภาพของโลก ภายใต้ 2 กลยุทธ์หลัก ดังนี้

1.ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ (Medical Wellness Tourism) โดยสร้างหลักสูตรการฝึกอบรมพัฒนาระบบคุณภาพด้านการท่องเที่ยวทางการแพทย์ ( Medical Wellness Tourism Quality) การออกแบบเส้นทางและแพ็คเกจการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ ให้แก่ ผู้ประกอบการการท่องเที่ยว โรงแรม รวมถึงบุคลากรที่ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับการให้บริการและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ

2.ส่งเสริมการนำกัญชาที่เป็นพืชเศรษฐกิจมาใช้ในด้านการแพทย์และสุขภาพ  (Cannabis Retreats) โดยการสร้างมายโอโซน ให้เป็นศูนย์สุขภาพเวชศาสตร์กัญชาระดับโลก ครอบคลุมทั้งในด้านการเป็นศูนย์ฝึกอบรมให้ความรู้ วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นสถานพยาบาลและดูแลสุขภาพครบวงจร เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและทั่วโลกเดินทางมาท่องเที่ยวและฟื้นฟูสุขภาพ เป็นการสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับเกษตรกร ชาวบ้าน รวมถึงวิสาหกิจชุมชน

“จากแนวคิดดังกล่าวเราต้องร่วมจับมือกับภาคเอกชนที่มองเห็นเป้าหมายเดียวกันเพื่อกำหนดแผนการทำงานที่สามารถปฎิบัติได้จริง และมีความพร้อมทั้งสถานที่และองค์ความรู้ในการเป็นศูนย์ฝึกอบรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีศูนย์การดูแลสุขภาพครบวงจร รวมถึงมีแพลทฟอร์มด้านสุขภาพที่สามารถเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้ทั่วโลก การมีภาคเอกชนเข้าร่วมสนับสนุนจะทำให้แผนพลิกฟื้นการท่องเที่ยวของประเทศเป็นจริงและประสบความสำเร็จได้”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :