“ชาญศิลป์”นำทีมยื่นแผนฟื้นฟู"การบินไทย"ต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์วันนี้

01 มี.ค. 2564 | 17:30 น.

“ชาญศิลป์”นำทัพยื่นแผนฟื้นฟู"การบินไทย"ต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ กรมบังคับคดี ช่วง9.00น.วันนี้ (2มี.ค.64)

วันนี้(2มีนาคม2564)เป็นวันเดทไลน์ครั้งสุดท้ายในการยื่นแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย  โดยในช่วงเวลา09.00น.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน)จะยื่นแผนฟื้นฟู"การบินไทย"ต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ ณ กรมบังคับคดี

ส่วนในช่วงเวลา14.00น.การบินไทยจะมีการแถลงข่าวรายละเอียดแผนฟื้นฟูแก่สื่อมวลชนด่วยเช่นกัน หลังจากนัดพนักงานทุกระดับเข้าร่วมประชุมชี้แจงรายละเอียดของแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยในช่วง10.30น.

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การ บินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าการบินไทยจะยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ ได้ในวันที่ 2 มีนาคมนี้

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

การบินไทยจะอยู่ภายใต้การบริหารตามแผนฟื้นฟูกิจการตามกำหนด 5-7 ปี ซึ่งการผลักดันให้การบินไทยพ้นจากการฟื้นฟูกิจการจะมีการเพิ่มทุนที่จะมีแหล่งเงินใหม่เข้ามา 3-5 หมื่นล้านบาท แต่ยังไม่สรุปรูปแบบที่มาของเงินที่จะเพิ่มทุน

ขณะนี้มีความคืบหน้าในการดำเนินการแล้วในหลายเรื่อง อาทิ บมจ.เกียรตินาคินภัทร ได้เจรจากับเจ้าหนี้ต่างๆทั้งเจ้าหนี้หุ้นกู้ เจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้ตั๋วเครื่องบิน สถาบันการเงิน 7-8 ราย 
       
ส่วนแมคคินซีย์แอนด์โค เข้ามาเป็นหลักสำคัญในการเจรจาเรื่องเครื่องบิน โดยใช้เวลาเจรจามากว่า 4-5 เดือน เพิ่งประสบความสำเร็จ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาการบินไทยจะลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent : LOI)กับผู้ให้เช่าเครื่องบิน(Lessor)ที่ยอมลดค่าเช่าเครื่องบินให้บางลำลดให้30% บางลำลดให้ถึง50%

โดยจะคิดค่าเช่าเฉพาะชั่วโมงที่ใช้บินเท่านั้น ถ้าเครื่องบินจอดอยู่ก็จะไม่คิดค่าเช่า ซึ่งหลังจากแผนเสร็จเราก็จะทำสัญญาดังกล่าว

ส่วนลำที่ผู้เช่าไม่ยอมลดราคา ถ้าคิดแล้วไม่คุ้มการบินไทยก็ไม่เอา และจะมีการคืนเครื่องบินเช่าก่อนกำหนด โดยการบินไทยจะดูดีมานต์การเดินทางที่จะเกิดขึ้น  ซึ่งคิดว่าอาจจะมีการพิจารณาคืนเครื่องเช่าก่อนกำหนดอยู่ชุดหนึ่ง คาดว่าอย่างน้อยประมาณ 10 ลำ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา หลังแผนฟื้นฟู

สำหรับจำนวนฝูงบินของการบินไทย จะลดแบบเครื่องบิน จากเดิมมี 8 แบบ เหลือ 4 แบบ(รวมเครื่องบินที่ให้ไทยสมายล์เช่าทำการบิน) ได้แก่ แอร์บัสเอ350-900,โบอิ้ง777-300ER,โบอิ้ง787,แอร์บัสเอ320

นักบินการบินไทย

การลดแบบเครื่องบินก็จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายเรื่องของอะไหล่เครื่องบิน ลดจำนวนนักบินลงจากเดิมมี 5 กลุ่มก็จะเหลือ3-4 กลุ่ม 

อีกทั้งการบินไทยยังจะยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขออนุมัติให้ขายเครื่องบินเก่าจำนวน 30-40 ลำขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด หลังจากก่อนหน้านี้ได้ทำเซอร์เวย์เพื่อหาคนที่สนใจซื้อ ซึ่งก็ยอมรับว่าฟีตแบ็คยังไม่ค่อยดี การขายเครื่องบินเรารู้ว่าไม่ได้ขายง่ายได้ในเวลานี้ แต่มันเป็นทรัพย์สินเดียวที่เราจอดไว้จะเกิดการด้อยค่า หรือถ้าขายไม่ได้ก็มีหลายวิธีที่จะบริหารจัดการ 

อาทิ ทำเครื่องบินคาร์โก้แล้วประมูลขาย การนำเครื่องบินมาทำร้านอาหาร โดยหากศาลอนุมัติให้ขายได้ ก็จะทำให้การบินไทยมีกระแสเงินสดเข้ามาเพิ่มเติมทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดเข้ามา สามารถอยู่ได้อีกไปถึงเดือนมิ.ย.-ก.ค.นี้

จากก่อนหน้านี้ที่ศาลอนุญาตให้การบินไทยขายทรัพย์สินใน 3 รายการ คือ บริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ซึ่งการบินไทยได้ขายหุ้นออกไปแล้วได้เงิน 2.71 พันล้านบาททำให้เพิ่มสภาพคล่องจากเดิมที่จะหมดในเดือนมี.ค.นี้ออกไปเป็นเดือนพ.ค.นี้ 

รวมถึงยังอยู่ระหว่างการเสนอขายอาคารศูนย์ฝึกอบรมลูกเรือ การบินไทย พร้อมที่ดิน บริเวณหลักสี่ ที่ไม่ได้ใช้งาน เพราะปัจจุบันฐานการบินบริษัทอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ขายเครื่องยนต์เครื่องบิน 4-5 ชุด  และขายหุ้นนกแอร์

นายชาญศิลป์ ยังกล่าวต่อว่าสำหรับฝูงบินของการบินไทย ในช่วงแรก จะเหลือฝูงบินอยู่ที่ 50-60 ลำ แต่พอไปอีก 3-4 ปี เมื่อดีมานต์การเดินทางกระเตื้องขึ้นก็อาจจะเพิ่มเป็น70-80 ลำ 

การยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย ไม่มีเรื่องการทำแผนเรื่องการจัดซื้อฝูงบินใหม่20-30ลำในปี68 แน่นอน แม้แต่เครื่องบินโบอิ้ง777-300
ER จำนวน 3 ลำ ที่จะต้องรับมอบก็จะขอเจรจาเลื่อนออกไปก่อน

แต่ในแผนธุรกิจของเราเอง ก็มองไว้ว่าถ้าในอนาคตการบินกลับมาฟื้นก็จะมีการเจรจาที่จะเช่าเครื่องบินเข้ามาเพิ่มเติม การทยอยกลับมาบินตามดีมานต์จริงๆ ซึ่งในช่วง 3-5 ปีนี้เราต้องระมัดระวังและรอบคอบในการดำเนินธุรกิจ

เส้นทางบินไหนขาดทุนก็ไม่บิน  ถ้าเมืองไหนยังคุมโควิดไม่ได้ก็ไม่บิน บินเฉพาะเส้นทางที่มีกำไร ที่จะเริ่มจากนอร์ทเอเชียก่อน เพราะน่าจะฟื้นตัวจากโควิดได้เร็วกว่า รวมถึงยุโรปในบางเมืองที่คุมโควิดได้ โดยจะทำการบินแบบประจำ แต่ความถี่อาจจะยังไม่เท่าเดิม  สิ่งไหนที่มีกำไรถึงทำ 

เพราะเจ้าหนี้มองเราอยู่ และถ้าปรับโครงสร้างหนี้แล้วคุณจะธุรกิจขาดทุนอีกเยอะๆไม่ได้ ซึ่งตอนนี้เราจัดการเรื่องของฝูงบินได้แล้ว

ต่อไปก็จะเป็นเรื่องของการเพิ่มรายได้ ที่จะเน้นปรับวิธีการขายตั๋วใหม่ เน้นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการเป็นหลัก เพื่อสร้างความหลากหลายในการขาย การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ที่ลดระดับชั้นในการบริหารลงจากเดิม 8 ระดับเหลือ 5 ระดับ ลดตำแหน่งบริหารจาก500
อัตราเหลือ240 อัตรา  

มีการเพิ่มหน่วยงานใหม่ด้านคือฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร เพื่อขับเคลื่อนโครงการกว่า 600 โครงการ ที่ขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่าย ที่โครงการเหล่านี้คิดเป็นมูลค่าที่บริษัทจะได้รับถึง 3-5 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี

รวมถึงมีฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาองค์กร มาบริหารจัดการในภาพรวม เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆของบริษํท โดยนอกจากรายได้หลักจากธุรกิจการบิน ที่คิดเป็นสัดส่วนการสร้างรายได้กว่า 90% 

แต่ในแผนฟื้นฟูต่อไปเราจะกระจายการเพิ่มรายได้ในส่วนของธุรกิจรายได้อื่นๆที่เกี่ยวเนื่อง จากปัจจุบันอยู่ที่10% เป็น 50:50 เปอร์เซ็นต์ภายใน5-8 ปีนี้ เพราะการแข่งขันในธุรกิจการบินมีการแข่งขันที่สูงมาก นับจากการเปิดน่านฟ้าเสรี

การจัดโครงสร้างองค์กรใหม่การบินไทยจะมีพนักงานอยู่ที่ 1.3-1.5 หมื่นคนภายในปี64และ65 จากปัจจุบันมีพนักงานอยู่ 1.9 หมื่นคน โดยการบินไทยเปิดโครงการเสียสละเพื่อองค์กร และเราพยายามรักษาคนหนุ่มสาวเอาไว้ เพื่อถ้าการบินฟื้นจะได้กลับมาทำงานได้เหมือนเดิม

 พนักงานบางส่วนเช่นนักบิน ลูกเรือ ในช่วงแรกอาจจะยังไม่ได้ทำการครบเหมือนเดิม เพื่อรักษาการจ้าง คนที่จะอยู่ก็การสลับกันบิน เช่นลูกเรือปีหนึ่งบิน3-4 เดือน ส่วนที่เหลือก็ลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน 

นอกจากนี้การบินไทยยังได้จัดหน่วยธุรกิจการบิน คือ ให้ครัวการบิน คาร์โก้ บริการภาคพื้น MRO ที่จะบัญชีของแต่ละหน่วยธุรกิจให้ชัดเจน ซึ่งยังอยู่ในโครงสร้างของการบินไทยอยู่ เพื่อรองรับการดึงพันธมิตรมาร่วมลงทุน 

เรามองไว้ 3 กลุ่ม คือผู้บริหารสนามบินคือทอท. ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน และลูกค้า โดยการบินไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในการสร้างรายได้ให้แต่ละหน่วยธุรกิจ

ในส่วนของสายการบินไทยสมายล์ จะมีการเขียนในแผนฟื้นฟูว่าจะใช้หลักROIC ( reason /optimization/ integration/ consolidation)ในการพิจารณาการทำงานระหว่างการบินไทยและไทยสมายล์ที่ไม่ยุบ แต่ต้องมีการทำงานร่วมกัน แต่จะควบรวมหรือไม่ต้องพิจารณาว่าจะเป็นประโยชน์กับการบินไทยหรือไม่อย่างแท้จริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: