อากาศแปรปรวน ราคาผัก-เนื้อพุ่ง ผู้ค้าแบกต้นทุน

30 ม.ค. 2564 | 20:00 น.

พ่อค้าแม่ค้าโอดราคาวัตถุดิบทั้งผัก พริก หมู เนื้อ ไก่ ซีฟู้ดพุ่งกระฉูด แบกรับต้นทุนหลังแอ่น ขณะที่เชนร้านอาหารเผยสั่งซื้อรายปีกระทบน้อย ฟากกรมการค้าภายใน เล็งส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบราคา แนะพบแพงเว่อร์ ร้องเรียนได้ทันที

 

นอกจากสถานการณ์โควิด ระลอก 2 ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ เรื่องของปากท้องยิ่งต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะในระยะเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมา พบว่าราคาวัตถุดิบในตลาดหลายชนิดปรับราคาสูงขึ้น อย่างผิดปกติ และมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง จากหลายปัจจัย เช่น สภาพอากาศที่ผันผวนส่งผลต่อปริมาณผลผลิตที่ออก โลจิสติกส์จากการล็อกดาวน์พื้นที่ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ใกล้เทศกาลตรุษจีน ซึ่งเชื่อว่าดีมานต์ความต้องการของผู้บริโภคในตลาดจะเป็นแรงส่งให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอีก ซึ่งระยะเวลาที่ราคาสูงยาวนาน จะทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร แบกรับต้นทุนไม่ไหว และอาจต้องปรับราคาขึ้น

 

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้ลงพื้นที่ตลาดไท พร้อมสัมภาษณ์พูดคุยกับนาย ธนกิจ พิทักษ์ไชยศรี เจ้าของร้านสดสด เปิดเผยว่า ปกติราคาวัตถุดิบสดจะมีการปรับราคาขึ้นลงเป็นปกติตามฤดูกาล แต่ในช่วงระยะเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีการปรับราคาขึ้นแบบไม่ปกติ โดยพบว่า ปกติเนื้อหมูสด จะมีการปรับขึ้นราคาเฉพาะวันพระ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 4 บาท แต่ปัจุบันราคาเนื้อหมูปรับขึ้นสูง 30 บาทต่อกิโลกรัม และราคาจะยังคงปรับขึ้นต่อเนื่องจนไปถึงหลังเทศกาลตรุษจีน

 

โดยปัจุบันราคา “เนื้อแดง” ปรับขึ้นเป็น 180 บาทต่อกก. จากปกติ 120บาทต่อกก. ในขณะที่ “คอหมู” ราคาปรับขึ้นเป็น 220 บาทต่อกก. จากปกติ 180 บาทต่อกก. ส่วน “สามชั้น” ราคาปรับขึ้นเป็น 190 บาทต่อกก. จากปกติ 160 บาทต่อกก. ขณะที่ราคา “ไก่สด” ปัจุบัน 70-80 บาทต่อกก. ปรับขึ้นเล็กน้อยจากราคาเดิม 60 บาทต่อกก. อาหารทะเล ราคาปรับขึ้นเพราะวัตถุดิบขาดตลาด และการปิดตลาดในสมุทรสาคร โดย “กุ้ง” ไซส์กลาง ราคาเฉลี่ย 260 บาทต่อกก. ส่วน “หมึก” ราคา 200 บาทต่อกก. และ “ปูม้า” ราคา 230 บาทต่อกก.

 

ขณะที่ราคาผักที่ปรับสูงขึ้น จะเป็นกลุ่มผักที่ใช้บริโภคบ่อยๆ เช่น ผักใบเขียว กระเพรา ผักชี โหระพา ปัจุบันราคา 100 บาทต่อกก. ซึ่งเป็นราคาที่ปรับลงจนเกือบเท่าราคาปกติ คือ 80 บาท แต่ที่ราคายังสูงคือ “พริกสด” ซึ่งราคาพุ่งขึ้นถึง กิโลกรัมละ 190 บาทจากเดิมราคากิโลกรัมละ 80 บาท แน่นอนว่าเมื่อราคาวัตถุดิบสดปรับตัวสูงขึ้น ย่อมส่งผลต่อต้นทุนของร้านอาหารด้วยเช่นกัน

 

ด้านนางเฮียง (ขอสงวนนามสกุล) เจ้าของร้านอาหารตามสั่ง เจ้เฮียง กล่าวว่า ตั้งแต่ปลายปีก่อนวัตถุดิบต่างๆ ปรับสูงขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู ไก่ รวมถึงราคาไข่ ที่ปรับขึ้นๆ ลงๆ ของทะเล ทั้งกุ้งและปลาหมึก ผักต่างๆ โดยเฉพาะพริกทุกชนิด ราคาสูงมากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้ต้นทุนรวมสูงขึ้น ซึ่งยอมรับว่าในช่วงต้นปีมีการปรับขึ้นราคาอาหารบางเมนู เช่น กะเพราทะเล ปรับเพิ่มขึ้นเมนูละ 5-10 บาท เป็นต้น หากราคาสินค้ายังสูง ก็จำเป็นต้องคงราคานี้ เพราะเชื่อว่าหลังตรุษจีน ราคาผัก เนื้อสด ก็ยังคงราคาสูงต่อไป

 

ขณะที่นายกุลวัชร ภูริชยวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชนัน จำกัด ผู้บริหารร้านโชนัน (ChouNan) กล่าวว่า โชนันวางแผนเรื่องของต้นทุนล่วงหน้า 1 ปีเพื่อป้องกันราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น เช่น วัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ ต้องทำราคาล่วงหน้ารายปี สำหรับราคาวัตถุดิบที่ต้องสั่งซื้อในไทย คือ หมู ไก่ และเนื้อ ซึ่งราคาอาจมีปรับขึ้น ปรับลง ตามช่วงเวลา แต่ไม่กระทบมากนัก 

 

“แม้ว่าราคาวัตถุดิบจะถูกปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงนี้ แต่สำหรับเชนร้านอาหารขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการขนาดกลางที่มีระบบบริหารจัดการทางด้านต้นทุน ก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับผลกระทบเท่ากับรายเล็กที่ต้องพึ่งพาการซื้อวัตถุดิบเข้าร้านแบบวันต่อวัน”

 

แหล่งข่าวจากกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ราคาสินค้า เช่น พืชผัก และเนื้อสัตว์ที่มีการปรับสูงขึ้นในขณะนี้เป็นไปตามฤดูกาล และสภาพอากาศ ซึ่งอาจจะมีผักบางชนิดที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่น พริกสด แต่เชื่อว่าจะเป็นเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น กรมจะส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจลงพื้นที่ตรวจสอบราคาสินค้าและผักต่างๆ อย่างใกล้ชิด หากราคาแพงเกินควร สามารถร้องเรียนมายังสายด่วน 1569 เพื่อได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง 

 

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,649 วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“เกษตรกร” โอด ราคาไข่ไก่ ขึ้น-ลง โดนจับเป็นตัวประกัน

“เฉลิมชัย” เทงบ 400 ล้าน รับมือผลไม้ฤดูกาลใหม่

“ค้าภายใน” ย้ำพริกสดยังไม่ขาดแคลน ชี้เป็นไปตามกลไกตลาดชั่วคราว