เครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย งัด “จำนำ-รักษาเสถียรภาพ”  ป้องพ่อค้ากดราคา

04 ม.ค. 2564 | 11:10 น.

ผู้เลี้ยงกุ้ง ประเมินปิดตลาด ไม่น่ามีผลกระทบ แต่ผวาพ่อค้า-ห้องเย็น โหนกระแส “โควิด-19” ทุบราคาซ้ำ เล็งงัดแผนสำรองป้องเกษตรกร สานนโยบาย “จำนำ-รักษาเสถียรภาพราคา” อุ้ม

ครรชิต เหมะรักษ์

 

นายครรชิต เหมะรักษ์ ประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง สถานการณ์โควิด-19 กับผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไม ทั้งปี โดยมีผลผลิตคาดการณ์ประมาณ 300,000 ตันต่อปี หรือเดือนละ 25,000ตัน หรือ เฉลี่ยวันละประมาณ 800 ตัน การขายกุ้งของเกษตรกร มีตลาดใหญ่ๆอยู่ 2 ตลาด คือ 1.ผลผลิตกุ้งประมาณ30% ต่อวัน หรือ ประมาณไม่เกิน 200 ตัน จะมีการซื้อ-ขายกันที่ตลาดทะเลไทย ซึ่งเป็นการซื้อขายเพื่อการบริโภค ภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ เป็นจุดศูนย์รวมเพื่อกระจายไปยังผู้บริโภค ภาคเหนือ อิสาน และปริมณฑล

 

2.ผลผลิตกุ้งอีกประมาณ70% หรือ ประมาณไม่ต่ำกว่า 500-600 ตันต่อวัน จะมีการซื้อขายกันโดยตรงกับแพกุ้งและห้องเย็นในพื้นที่ แต่ละภูมิภาค ที่มีอยู่ ซึ่งการแจ้งราคาอ้างอิงแต่ละวัน จะได้ข้อมูลจากชมรมผู้ค้ากุ้งสมุทรสาคร เป็นผู้แจ้ง ให้ทราบโดยทั่วกัน โดยไม่เคยมีส่วนราชการใดเป็นผู้ทำหน้าที่แจ้งหรือประกาศเลยที่ผ่านมา จนกระทั่งปลายปี2561 เครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย ได้รวบรวมราคาซื้อ-ขาย จริงจากปากบ่อเกษตรกรแต่ละวันหลังจากที่มีการซื้อขายกันแล้วแจ้งเกษตรกรประมาณช่วงเวลา4ทุ่ม ทุกวันจนถึงปัจจุบัน เพื่อจะได้ทราบข้อมูลราคาซื้อขายที่แท้จริงวันต่อไป ซึ่งเป็นประโยชน์กับเกษตรกรและเป็นธรรมอย่างมาก ทุกพื้นที่

 

 

นายครรชิต กล่าวว่า จากการเกิดปัญหาการแพร่ระบาดรอบใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลาดทะเลไทย แจ้งปิดทำการซื้อขายจนถึงวันที่4มกราคม 2564 ทำให้ผลผลิตกุ้งส่วนหนึ่งต้องชะลอการจับ ส่งผลกระทบถึงเกษตรกรมีความเดือดร้อนไม่มีสถานที่,ผู้ซื้อ-ขายกุ้ง และไม่มีความเชื่อมั่นในสินค้ากุ้งว่ามีผลต่อการแพร่เชื้อหรือไม่?ส่งผลต่อราคาตกต่ำอย่างรุนแรงในบางพื้นที่ จึงมีความจำเป็นต้องผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมการค้าภายใน และ กรมประมง ต้องเร่งหาตลาดใหม่ให้เร็วที่สุดเพื่อเป็นตลาดสำรอง การซื้อขายกุ้ง ซึ่งเกิดจากสถานการณ์ที่ไม่มีความแน่นอนในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ครั้งนี้ต่อไปอีกและต้องมีมาตรการคัดกรอง ป้องกัน ผู้ซื้อผู้ขายรายใหม่รวมทั้งคนงาน อย่างเข้มข้นด้วย

 

เครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย งัด “จำนำ-รักษาเสถียรภาพ”  ป้องพ่อค้ากดราคา

 

จากข้อมูลผลผลิตกุ้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตลาดทะเลไทย ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อกิจกรรมการซื้อขายในภูมิภาคมากนัก หากไม่เกิดการฉกฉวยโอกาสในภาวะวิกฤติที่เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว ก็อยากให้ทุกภาคส่วนได้ช่วยกันให้ข้อมูลที่เป็นอยู่จริง ในการบริหารจัดการผลผลิตกุ้งในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีคณะทำงานแก้ไขปัญหาสินค้ากุ้งของกรมประมงอยู่แล้ว ได้ช่วยเหลือแก้ไขเป็นรายกรณีต่อไป ก็คงจะคลี่คลายปัญหาได้ในไม่ช้านี้ เพียงแต่ต้องร่วมมือกันทุ่มเท จริงจังในการแก้ปัญหาต่อไป แต่อย่างไรก็ดีถ้าราคาซื้อขายต่ำกว่าต้นทุน/ทางผมและเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย จะผลักดัน โครงการรับจำนำกุ้งหรือโครงการรักษาเสถียรภาพราคาต่อไป

 

มีศักดิ์ ภักดีคง

 

ด้าน นายมีศักดิ์  ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า  จากสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำ และการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ชาวประมง และอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครเป็นแหล่งการค้าสินค้าประมงที่สำคัญของประเทศ ครอบคลุมทั้งตลาดกลางและกิจการห้องเย็นที่กระจายสินค้าจำหน่ายเข้าสู่ตลาดภายในประเทศและการส่งออก โดยเฉพาะสินค้ากุ้ง ที่เป็นสินค้าหลักของหมวดสินค้าประมง  ซึ่งโดยปกติปริมาณผลผลิตกุ้งทะเลจากฟาร์มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลจากพื้นที่อนุญาตให้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลทั่วประเทศ จะถูกจำหน่ายไปยัง 2 ส่วน คือ (1) โรงงานแปรรูป (ร้อยละ 60) ปัจจุบันยังไม่ได้รับผลกระทบ และ (2) การเข้าสู่การซื้อขายที่ตลาดทะเลไทย จังหวัดสมุทรสาคร (ร้อยละ 40)  ซึ่งสินค้าบางส่วนคงค้างอยู่ในพื้นที่ตลาดก่อนการปิดกั้นพื้นที่ ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตกุ้งทะเล ในเดือนธันวาคม 2563 จะมีปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดอีกราว 18,000 ตัน เดือนมกราคม 2564 ประมาณ 17,000 ตัน และกุมภาพันธ์ 2564 ประมาณ 16,000 ตัน ซึ่งกรมประมงจะต้องเร่งดำเนินการมาตรการเร่งด่วนเพื่อระบายสินค้ากุ้งทะเลออกสู่ตลาดและช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร่งด่วนเพื่อป้องกันการเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา

 

          โดยขณะนี้ กรมประมงได้กำหนดแนวทางในการกระจายผลผลิตกุ้งและสินค้าสัตว์น้ำ ดังนี้

          1. เปิดสถานที่ให้เกษตรกรนำกุ้งมาจำหน่ายโดยตรงแก่ผู้บริโภค พร้อมทั้งเปิดจำหน่ายออนไลน์ผ่านทาง Fisheries Shop ของกรมประมง

         2. มอบหมายให้ประมงจังหวัดทั่วประเทศ นำผลผลิตสัตว์น้ำมาจัดจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งขณะนี้มีจังหวัดนครปฐม  สุพรรณบุรี  นครนายก เป็นต้น ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ซี่งมีประชาชนให้ความสนใจมาเลือกซื้อกุ้งเป็นจำนวนมาก

         3. ขอความร่วมมือห้องเย็นโรงงานแปรรูปในการรับซื้อกุ้ง

         4. ประสานความร่วมมือกับกรมการค้าภายในนำสินค้าปลอดภัยมาจำหน่ายใน Modern Trade  ต่าง ๆ เช่น แมคโคร เพื่อกระจายสินค้า

          5. ประสานความร่วมมือในการหาตลาดใหม่ๆ ในการกระจายสินค้าสัตว์น้ำ เช่น ตลาดไท

          6. ประสานความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) ในการจำหน่ายสินค้าผ่านทาง Call Center และ เว็บไซต์ www.ohlalashopping.com

          7. ประสานความร่วมมือกับกองทัพบก ในการรับซื้อกุ้ง เพื่อนำไปเป็นอาหารให้กับกำลังพล

          8. ประสานความร่วมมือกับกรมอนามัยในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และเป็นแหล่งจำหน่ายกุ้ง

 

อย่างไรก็ดี กรมประมงได้มีการประชุมหารือร่วมกับตลาดไท นำโดยนายโอฬาร พิทักษ์ ที่ปรึกษาตลาดไท และ นายโชคชัย  คลศรีชัย  กรรมการผู้จัดการฯ เพื่อเตรียมหาตลาดอาหารทะเลแหล่งใหม่รองรับและกระจายสินค้าสัตว์น้ำ โดยจะมีการพัฒนาพื้นที่กว่า 2,300 ตารางเมตร เปิดให้เป็นโซนจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำ ปลอดภัยช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำในภาวะวิกฤต COVID-19 ซึ่งจะเปิดให้เกษตรกรที่เดือดร้อนไม่มีช่องทางการขายสินค้ามาจำหน่ายได้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมประมง

เครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย งัด “จำนำ-รักษาเสถียรภาพ”  ป้องพ่อค้ากดราคา

 

ส่วนสถานที่ทางตลาดไท ได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งในเรื่องของการเฝ้าระวังตรวจวัดอุณหภูมิให้กับทั้งค้าและผู้ขายในทุกจุดทั่วตลาดไท และยังมีการสุ่มตรวจ SWAP กับผู้ค้าในพื้นที่ ตลอดจน การหยุดการจำหน่ายสินค้าที่มาจากพื้นที่เสี่ยง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคอีกด้วย ซึ่งกรมประมง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการกระจายและจำหน่ายสินค้ากุ้งและอาหารทะเลต่างๆ ได้ภายในวันที่ 11 มกราคม 2564 เป็นต้นไป  และในอนาคตจะร่วมกันพัฒนาให้เป็นตลาดสัตว์น้ำยุคใหม่ ตลาดกลางสินค้าสัตว์น้ำที่ได้มาตรฐาน ถูกสุขอนามัย สินค้าคุณภาพปลอดภัย เกษตรกรจำหน่ายเอง ซึ่งเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้สามารถเข้าสู่กลไกการค้าได้โดยตรง ลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง และผู้บริโภคก็ได้สินค้าดีราคาไม่แพงด้วย

 

สำหรับสถานการณ์ความตื่นตระหนกต่อการบริโภคกุ้งในขณะนี้ กรมประมงเชื่อมั่นว่าคลายลงแล้ว และประชาชนผู้บริโภครับรู้รับทราบถึงข้อมูลที่ถูกต้องว่า กุ้ง และ สินค้าสัตว์น้ำ ไม่ได้เป็นพาหะของโรคโควิด-19 อย่างแน่นอน  แต่การปนเปื้อนของเชื้อไวรัสนั้น อาจเกิดขึ้นได้จากการขาดสุขอนามัยที่ดี  ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการรับประทานและสัมผัสสัตว์น้ำจึงขอให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและผ่านการผลิตที่มีมาตรฐาน  เน้นให้ความใส่ใจในเรื่องสุขอนามัยเป็นสำคัญ  โดย
ไม่ควรรับประทานอาหารสัตว์น้ำที่ดิบหรือไม่สุก และไม่ควรใช้มือสัมผัสกับสัตว์น้ำโดยตรง อาจใช้ถุงมือหรืออุปกรณ์ในการหยิบหรือตัก  และล้างทำความสะอาดสัตว์น้ำเป็นอย่างดีก่อนทำการปรุงอาหารทุกครั้ง  และดูแลตัวเองให้ดี ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้วเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผู้เลี้ยงเฮ ราคา "กุ้ง" ขยับกิโลฯ ละ 200 บาท ฝันได้ราคาดียาว

วอนรัฐช่วย “ผู้เลี้ยงกุ้ง” ด่วน ขาดทุนยับ

มีแน่ “จำนำกุ้ง” เคาะหลักเกณฑ์วันพรุ่งนี้