อาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวช่วงโควิด แนะผู้ประกอบการแปรรูป

05 พ.ค. 2563 | 05:06 น.

พาณิชย์ ชี้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงยังเติบโตได้ใน ช่วงวิกฤตโควิด-19 หนุนผู้ประกอบการใช้เอฟทีเอช่วยเพิ่มแต้มต่อขยายส่งออก แนะเพิ่มปริมาณและแปรรูปเป็นอาหารสัตว์กระป๋อง เพื่อเพิ่มความสะดวกและยืดระยะเวลาเก็บรักษา

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาหารสัตว์เลี้ยงเป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่ตลาดยังคงมีความต้องการและเติบโตได้ดี แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากสัตว์เลี้ยงมีการบริโภคเป็นประจำ ประกอบกับผู้เลี้ยงมีความเอาใจใส่ให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว ทำให้มีการซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงสำรองไว้เช่นเดียวกับสินค้าจำเป็นอื่นๆ สอดคล้องกับสถิติการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยในไตรมาสแรกของปี 2563 (มกราคม-มีนาคม 2563) ที่มีมูลค่าส่งออกถึง 466 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 พบว่าขยายตัวกว่า 10%

อาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวช่วงโควิด  แนะผู้ประกอบการแปรรูป

 ขณะที่การส่งออกไปประเทศคู่ค้าสำคัญหลายตลาดขยายตัวอย่างน่าพอใจ เช่น อินเดีย ขยายตัว 52% มูลค่าการส่งออก 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐอเมริกา ขยายตัว 19% มูลค่าการส่งออก 104 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาเซียน ขยายตัว 13% มูลค่าการส่งออก 111 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และออสเตรเลีย ขยายตัว 9%  มูลค่าการส่งออก 22.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญในกลุ่ม คือ อาหารสำหรับสุนัขและแมว มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดถึง 81%

“ความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงยังคงเพิ่มขึ้นแม้อยู่ในช่วงวิกฤต ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสขยายการส่งออกได้ โดยเฉพาะในตลาดคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอด้วย เพราะสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากไทยได้แต้มต่อในการแข่งขันจากการปลดล็อคกำแพงภาษีศุลกากร โดยปัจจุบัน 15 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรูและฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยทุกรายการแล้ว มีเพียงญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ที่ยังคงการเก็บภาษีนำเข้ากับไทยในบางรายการสินค้า”

 ทั้งนี้ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกควรศึกษาแนวโน้มและวางแผนการผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด โดยในช่วงโควิด-19 อาจเพิ่มปริมาณ เช่น ขยายขนาดบรรจุภัณฑ์ และแปรรูปสินค้า เช่น ผลิตเป็นอาหารสัตว์กระป๋อง เพื่อเพิ่มความสะดวกและยืดระยะเวลาในการเก็บรักษา นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการ ใช้วัตถุดิบคุณภาพดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง รวมถึงต้องรักษามาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับหลักการสากลด้านสุขอนามัย และปฏิบัติตามกฎระเบียบการนำเข้าอย่างเคร่งครัด ให้สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยสามารถครองใจผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง

 

 

ในช่วง 27 ปี ที่ผ่านมา นับตั้งแต่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลบังคับใช้ การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยกับคู่เอฟทีเอขยายตัวทุกตลาด โดย อาเซียน ขยายตัวสูงสุด 6,306%  รองลงมา คือ จีน ขยายตัว 3,969% เกาหลีใต้ ขยายตัว650% อินเดีย ขยายตัว573% นิวซีแลนด์ ขยายตัว 531% และออสเตรเลีย ขยายตัว 244% ทำให้ในปี 2562 ไทยมีมูลค่าส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงสูงถึง 1,693 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอสูงถึง 954 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นแท่นเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับที่ 4 ของโลก รองจาก สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน และเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขและแมว อันดับที่ 3 ของโลก รองจาก สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา