ไทยผวา ส่งออกไปจีน ต่ำสุดรอบ6ปี

03 เม.ย. 2563 | 02:10 น.

ม.หอการค้าฯประเมินโควิดลากยาวเกิน 9 เดือน ทุบส่งออกไทยไปจีนติดลบ 13% ตํ่าสุดรอบ 6 ปี จาก 5 ปัจจัยฉุดชะลอตัว ขณะตลาดอาเซียนคาดกระทบหนักสุดมูลค่าหดกว่า 1.5 แสนล้าน ส่งออกยางราคาร่วง ห่วงเปิดกรีดยังดิ่ง

ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้คาดการณ์ส่งออกไทยไปตลาดโลกปี 2563 กรณีแย่มาก หรือเลวร้าย หากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ลากยาวเกิน 9 เดือน(มากกว่าเดือน ก.ย. 63) มูลค่าการส่งออกไทยจะติดลบถึง 7.1% ตํ่าสุดในรอบ 10 ปี (จะส่งออกได้ 228,816 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปี 2562 ส่งออกมูลค่า 246,245 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ล่าสุดจากการวิเคราะห์รายตลาด คาดการส่งออกไทยไปจีนปีนี้กรณีแย่มากจะติดลบ 13.5% ตํ่าสุดในรอบ 6 ปี (นับจากปี 2557 ที่ติดลบ 7.8%)

 

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย เผยว่า จากการประเมินกรณีแย่มาก การส่งออกไทยไปจีนปีนี้จะส่งออกได้ที่มูลค่า 25,234 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 13.5% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ส่งออกได้ 29,172 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือลดลงกว่า 3,938 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 126,016 ล้านบาท คำนวณที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยตลาดจีนที่ชะลอตัวมาจาก 5 ปัจจัยคือ 1.รายได้ชาวจีนลดลง 2.การห้ามคนต่างชาติเข้าจีนเพื่อป้องกันโควิด ทำให้ธุรกิจล่าช้า 3.พฤติกรรมการซื้อสินค้าชาวจีนเปลี่ยนไปซื้อผ่าน E-Grocery เพิ่มขึ้น 4.การล็อกดาวน์ทั่วโลกทำให้ภาคการขนส่งสะดุด และ 5.โรงงานผลิตสินค้าในจีนยังผลิตได้ไม่เต็มศักยภาพทั้งด้านวัตถุดิบและแรงงาน

 

ทั้งนี้สินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบส่งออกจีนลดลงมากสุดอยู่ในกลุ่มสินค้าเกษตรที่คาดจะติด -8.3% ถึง -22% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว 42,560 ล้านบาท) ซึ่งนอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว ยังเป็นผลจากสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกไปจีนยังมีการถูกตรวจสอบเข้มเพื่อป้องกันโควิด โดยสินค้ากลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ กุ้งต้มสุกแช่แข็ง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง พืช นํ้ามัน (ถั่วต่างๆ เมล็ดทานตะวัน ปาล์มนํ้ามัน) ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และข้าวที่สต๊อกข้าวในจีนยังมีมากถึง 120 ล้านตัน”

 

อีกหนึ่งตลาดใหญ่ของไทยที่น่าห่วงคืออาเซียน (9 ประเทศ) ที่คาดกรณีสถานการณ์โควิดแย่มากหากเกิน 9 เดือน การส่งออกไทยไปตลาดอาเซียนปีนี้จะหายไปประมาณ 4,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 156,928 ล้านบาท) จากปี 2562 ไทยส่งออกไปอาเซียน 62,904 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดปีนี้จะส่งออกได้ 58,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหายไป 4,904 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

“ตลาดอาเซียนจะได้รับผลกระทบมากสุดเนื่องจาก 1. มีสัดส่วนมากที่สุดสำหรับส่งออกไทย (ปี 2562 สัดส่วน 25.5%) 2. ตลาดอาเซียนพึ่งพิงตลาดต่างประเทศ มีเงินซื้อสินค้าไทยน้อย 3. สินค้าบางรายการพึ่งพิงวัตถุดิบจากไทย เมื่ออาเซียนส่งออกได้ลดลง ความต้องการสินค้าไทยก็น้อยไปด้วย 4. อาเซียนพึ่งพิงตลาดจีนเหมือนไทย เมื่อส่งไปจีนไม่ได้ ก็กระทบไทยด้วย”

 

ไทยผวา  ส่งออกไปจีน  ต่ำสุดรอบ6ปี

 

นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า แม้เวลาสถานการณ์โควิดในจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดของยางพาราไทยจะเริ่มคลี่คลาย การผลิตและการขนส่งเริ่มกลับมาเป็นปกติ แต่การส่งออกยางพาราไทยไปจีนมีปัญหาจากถูกกดซื้อราคาตํ่า หากรับออร์เดอร์ก็ขาดทุน

ทั้งนี้ราคายางพาราปรับตัวลดลง (แม้เวลานี้อยู่ในช่วงฤดูแล้ง ชาวสวนยางหยุดกรีด ไม่มีของราคาน่าจะขยับขึ้น) จากโควิดกระทบเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ส่งผลถึงราคายาง(ณ วันที่ 31 มี.ค. 63 ราคายางแผ่นดิบตลาดท้องถิ่นในไทยเฉลี่ยที่ 35.05 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) และนํ้ายางสด 36 บาทต่อกก. เทียบกับวันที่ 28 ก.พ. 63 ราคาอยู่ที่ 40.60 บาท และ 44.70 บาทต่อกก.ตามลำดับ) ห่วงเปิดกรีดยางช่วงเดือนพฤษภาคมราคายางยังตํ่าจะกระทบเกษตรกร

 

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เวลานี้เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก 3 กลุ่ม คืออเมริกา ยุโรป และจีน สัดส่วนรวมกว่า 60% ของจีดีพีโลกกำลังแย่ ความต้องการสินค้าของผู้บริโภคมีน้อยลง การผลิตสินค้าทำได้น้อยลง สินค้ากึ่งสำเร็จรูปในห่วงโซ่อุปทานทั้งหลายก็มีความต้องการน้อยลง เศรษฐกิจโลกจึงแย่แน่นอน ดังนั้นการส่งออกของไทยต้องถูกกระทบหนักแน่ เวลานี้ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ได้รับการยกเลิกใบสั่งซื้อที่ได้ลงไว้ก่อนหน้า หากเป็นสินค้าประเภทที่ไม่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3562 วันที่ 2-4 เมษายน 2563