ไม้ยูคาฯนำร่อง แบงก์ใช้เป็นหลักประกันธุรกิจ

08 พ.ย. 2562 | 04:33 น.

เกษตรกรผู้ปลูกไม้ยูคาลิปตัสได้เฮ ที่ประชุมร่วมกรมพัฒน์-สถาบันการเงินเห็นพ้อง นำร่องใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจประเภทไม้ยืนต้น ภาคเอกชนพร้อมอ้าแขนรับจากเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ  

 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “เมื่อเร็วๆ นี้ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มอบหมายให้เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการส่งเสริมการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ โดยกรมฯ ได้เชิญผู้แทนจากสถาบันการเงิน ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย ธ.กรุงเทพ ธ.กรุงไทย ธ.กรุงศรีอยุธยา ธ.ทหารไทย ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.ธนชาต และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ/ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สมาคมธุรกิจไม้โตเร็ว สมาคมการค้า      ชีวมวลไทย บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด บริษัท ยูคาลิปตัสเทคโนโลยี จำกัด และนักวิชาการป่าไม้เอกชน โดยการประชุมเน้นที่การหารือแนวทางการส่งเสริมการนำไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ปัญหา-อุปสรรคในการให้สินเชื่อของแต่ละสถาบันการเงิน รวมถึง ความเป็นไปได้ในการนำไม้ยืนต้นมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ

ไม้ยูคาฯนำร่อง แบงก์ใช้เป็นหลักประกันธุรกิจ

ทั้งนี้ทุกหน่วยงานเห็นพ้องกันในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินที่รัฐอนุญาตให้ใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ประเทศ และเพื่อการออมในอนาคต รวมถึงเห็นควรปรับเปลี่ยนทัศนคติของเกษตรกรให้มีความเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น เพื่อขยายฐานอาชีพและปรับรูปแบบการประกอบอาชีพให้มีความมั่นคง เนื่องจากการที่สถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อให้แก่เกษตรกร โดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจนั้น สถาบันการเงินจะพิจารณาจากวัตถุประสงค์การกู้เงิน และความสามารถในการชำระเงินต้น พร้อมดอกเบี้ยเป็นหลัก ส่วนหลักทรัพย์ที่นำมาใช้เป็นหลักประกันจะเป็นส่วนประกอบรองลงมา ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรมีความเป็นผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการชำระเงินกู้ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นการเพิ่มโอกาสให้สถาบันการเงินพิจารณาอนุมัติเงินกู้ได้สะดวกขึ้นด้วยเช่นกัน

 

“ที่ประชุมเห็นควรเลือกไม้ยูคาลิปตัสเป็นไม้ยืนต้นนำร่องในการนำมาใช้ เป็นหลักประกันทางธุรกิจ เนื่องจากเป็นไม้ยืนต้นประเภทไม้โตเร็วที่มีรอบตัดฟันสั้น มีระยะเวลาการตัด 3-5 ปี และเป็นที่ต้องการของตลาดไม้ทั้งในและต่างประเทศสูง ราคาซื้อขายค่อนข้างคงที่ รวมถึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเมื่อตัดมาเพื่อใช้งานแล้วต้นสามารถแตกหน่อและเติบโตได้ถึง 3 ครั้ง ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการหาพันธุ์มาเพาะปลูก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น คือ เกษตรกรที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสใน 5 ปีแรกจะยังไม่มีรายได้ (รอบตัดฟันประมาณ 5 ปี) หากสถาบันการเงินสามารถให้สินเชื่อแก่เกษตรกรเหล่านี้ได้จะสามารถช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งการที่สถาบันการเงินรับต้นไม้ (ยูคาลิปตัส) เป็นหลักประกันจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกไม้ยูคาลิปตัสเป็นอย่างมาก”

ไม้ยูคาฯนำร่อง แบงก์ใช้เป็นหลักประกันธุรกิจ

สำหรับบริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด (ธุรกิจในเอสซีจีแพคเกจจิ้ง) ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่ผลิตสินค้าเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ได้แก่ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ (Packaging Business Chain) และ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มาจากต้นไม้ (Fibrous Business Chain) ยินดีคัดกรองเกษตรกรผู้ปลูกไม้ยูคาลิปตัสให้กับสถาบันการเงินในกรณีที่นำต้นยูคาลิปตัสมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เบื้องต้นขอนำร่องกับกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้ทำสัญญาซื้อ-ขายกับทางบริษัทฯ ก่อน เนื่องจากมีตัวตนที่ชัดเจนและมีไม้ยูลาลิปตัสที่ปลูกอยู่แล้ว ทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ การติดตาม และง่ายต่อการนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ

 

ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับบริษัทฯ ประมาณ 1 แสนราย แบ่งเป็นรายใหญ่ (ปลูกไม้ยูคาลิปตัส ตั้งแต่ 20 ไร่ขึ้นไป) ประมาณ 3 หมื่นราย และรายย่อย (ปลูกไม้ยูคาลิปตัส น้อยกว่า 20 ไร่) ประมาณ 7 หมื่นราย  ซึ่งหากการดำเนินการดังกล่าวประสบความสำเร็จด้วยดี คาดว่าสถาบันการเงินก็พร้อมจะรับไม้ยูคาลิปตัสเป็นหลักประกันทางธุรกิจเอง หรือขยายไปยังผู้ประกอบการอื่นที่มีการใช้ประโยชน์จากไม้ยูคาลิปตัสต่อไป

 

เบื้องต้นผู้แทนสถาบันการเงินเห็นด้วยกับความเห็นของบริษัทฯ แต่เนื่องจากสถาบันการเงินอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงต้องนำข้อเสนอนี้ไปหารือในรายละเอียดก่อน ทั้งนี้ กรมฯ ตั้งเป้าว่าสถาบันการเงินพร้อมที่จะรับไม้ยูคาลิปตัสเป็นหลักประกันทางธุรกิจประมาณต้นปี พ.ศ.2563 อย่างไรก็ตามคงต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถาบันการเงินเป็นหลักด้วยเช่นกัน

 

ข้อมูล ณ ปัจจุบัน (4 ก.ค.2559-30 ต.ค.2562) มีผู้มาขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 457,140 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน รวมทั้งสิ้น 7,236,268 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคาร ยังคงเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็น 51.82% (มูลค่า 3,749,943  ล้านบาท) รองลงมา คือ สิทธิเรียกร้องประเภทลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาเช่า สัญญาซื้อขาย คิดเป็นร้อยละ 26.54 (มูลค่า 1,920,280 ล้านบาท)

 

สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ ช้าง คิดเป็น 21.60% (มูลค่า 1,563,257 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็น 0.03% (มูลค่า 1,985 ล้านบาท) กิจการ คิดเป็น 0.01% (มูลค่า 536 ล้านบาท) อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ คิดเป็น 0.002% (มูลค่า 138 ล้านบาท) และไม้ยืนต้น คิดเป็น 0.002% (มูลค่า 129 ล้านบาท) โดยมีผู้รับหลักประกันรับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 35 สัญญา เป็นไม้ประเภทสัก ยาง ยางพารา และยูคาลิปตัส จำนวน 78,105 ต้น ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ และศรีสะเกษ