รัชกาลที่ 4 ทรงสั่งเครื่องพิมพ์จากอังกฤษ ถวายพระชาวลังกา พิมพ์หนังสือโต้มิชชันนารี

03 ส.ค. 2567 | 22:10 น.

รัชกาลที่ 4 ทรงสั่งเครื่องพิมพ์จากอังกฤษ ถวายพระชาวลังกา พิมพ์หนังสือโต้มิชชันนารี คอลัมน์ สังฆานุสติ โดย บาสก

เหตุการณ์นี้เกิดเมื่อ พ.ศ.2405 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์เรียบร้อยแล้ว (เสด็จครองราชย์ พ.ศ.2394)

 

พณฯฐากูร พานิช อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำศรีลังกา (ตรงกลาง)

เรื่องนี้ไม่มีบันทึกในฝ่ายไทย ยกเว้นในศรีลังกา ผู้เปิดเผยเรื่องนี้คือ พณฯฐากูร พานิช อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำศรีลังกา 2541-2543 (และอีกหลายประเทศ) โดยนำมาเขียนไว้ตอนหนึ่งในหนังสือ เรื่อง
"ไทย -ศรีลังกา กัลยาณมิตร: สัมพันธไมตรี แน่นแฟ้นทางพระพุทธศาสนา ( พิมพ์ครึ่งที่ 3 พ.ศ.2553 ส่วนฉบับแรกพิมพ์ พ.ศ. 2545 เพื่อร่วมฉลอง 250 ปีในการประดิษฐานสยามวงศ์ในลังกา และได้เขียนเพิ่มเติมเรื่องนี้ให้สมบูรณ์ ในหนังสือฉบับใหม่ (กำลังตีพิมพ์) ชื่อคล้ายฉบับแรก ว่าไทยศรี-ลังกากัลยาณมิตร : มุมพินิจเชิงวัฒนธรรม)"

พณฯฐากูร พานิช เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 พระองค์ ทรงสนิทสนม คุ้นเคยกับพระลังกาตั้งแต่ครั้งงผนวช เมื่อทรงลาสิกขาเป็นพระมหากษัตริย์ ก็ยังทรงติดต่อมิได้ขาด

เมื่อทรงทราบว่าพระสงฆ์และชาวพุทธลังกา มีความทุกข์ที่มิชชันนารีใช้หนังพิมพ์ตีพิมพ์ข้อความยกย่องคริสตศาสนา และโจมตีพุทธศาสนาไปพร้อมๆ กัน ส่วนพระสงฆ์ศรีลังกาขาดแคลนทุกอย่าง

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4

จึงพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สั่งเครื่องพิมพ์จากประเทศอังกฤษถวายพระสงฆ์ ศรีลังกาหรือลังกาในสมัยนั้น เพื่อใช้พิมพ์คัมภีร์พระพุทธศาสนาและ คำสอนต่างๆ และพิมพ์บทความตอบโต้คณะมิชชันนารีต่างชาติต่างศาสนาด้วย

พระสงฆ์เมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระเจ้าอยู่หัวของไทยจึงพิมพ์นังสือพิมพ์ "ลังกาโลกา" เป็นภาษาสิงหล เผยแผ่พระธรรม และตอบโต้มิชชันนารี

นับเป็นครั้งแรกที่สงฆ์ลังกามีหนังสือพิมพ์ เป็นของตนเอง พระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เป็นที่ประทับใจพระสงฆ์ลังกาและชาวพุทธลังกามิรู้ลืมถึงปัจจุบัน

 

เครื่องพิมพ์ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 4

ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาเครื่องพิมพ์มากขึ้น เครื่องพิมพ์ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 4 จึงถูกปลดระวางเก็บไว้ที่วัดรันเวลาบูรณะวิหาร เมืองกอลล์

การที่ท่านทูตรับทราบเรื่องนี้สืบเนื่องมาจากนักหนังสือพิมพ์อาวุโส ชาวศรีลังกาคนหนึ่งมาเยี่ยมคารวะ พร้อมทั้งนำหนังสือพิมพ์ที่เคยลงข่าวเกี่ยวกับเครื่องพิมพ์ที่รัชกาลที่ 4 ถวายสงฆ์ลังกาให้ท่านทูตดูว่าสนใจไหม เพราะว่าทางวัดที่เก็บเครื่องพิมพ์จะขายในราคา 25,000 รูปี  หรือเท่ากับ 25,000 บาทตามอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น แต่ไม่มีใครสนใจจะซื้อ ส่วนท่านทูตมีความสนใจ

วันหนึ่งเมื่อเดินทางไปธุระแถวเมืองกอลล์ได้ไปที่วัดดังกล่าวขอพบท่านเจ้าอาวาส ตั้งใจจะขอซื้อมาถวายวัดบวรนิเวศ หรือให้มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชกุมวิทยาลัย แต่ปรากฏว่าท่านเจ้าอาวาสเปลี่ยนใจไม่ขายแล้ว เพราะกรมศิลปากรศรีลังกามาซ่อมแซมวิหารให้โดยมีเงื่อนไขว่าทางวัดต้องดูแลเครื่องพิมพ์ทั้งสองอย่างดี

เมื่อท่านทูตฐากูร ย้ายไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงออสโลว์นอร์เวย์ ได้พบกับ ด็อกเตอร์ปีเตอร์ สกิลลิ่ง ชาวแคนาดา แต่เป็นนักปราชญ์ชาวพุทธ อยู่ในเมืองไทยมา 30 ปี เมื่อทราบเรื่องที่รัชกาลที่ 4 ถวาย เครื่องพิมพ์แก่สงฆ์ศรีลังกา จากหนังสือที่ท่านทูตเขียนก็ดีใจบอกว่าเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยเรื่องนี้เพราะเคยพูดถึงกัน แต่ไม่มีหลักฐานยืนยัน

แท่นพิมพ์ที่ ร.4 ถวายสงฆ์ลังกา มีแผ่นป้ายทองเหลืองติดอยู่ด้านหน้าของเครื่องพิมพ์มีข้อความว่า

Columbian Prefs, Number 1205  H. W.Caslon & Co.

Chriswell Street London 1861

มี 2 เครื่อง ขนาดเล็กและใหญ่ ส่วนขนาดเล็กยังใช้ได้ แต่เครื่องใหญ่ ใช้ไม่ได้แล้ว ทั้ง 2 เครื่องยังเก็บอยู่ที่วัดรันเวลลาบูรณวิหาร เมืองกอลล์

 

เครื่องพิมพ์ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 4

เมื่อเกิดสึนามิ พ.ศ. 2547 เมืองกอลล์ได้รับผลกระทบใหญ่หลวง แต่วัดที่ตั้งเครื่องพิมพ์พระราชทานปลอดภัย หากแต่หลังจากนั้น 8 ปี โชคร้ายเมื่อเกิดอัคคีภัยไฟไหม้กุฏิเจ้าอาวาส ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ทำให้เครื่องพิมพ์ทั้งสองได้รับความเสียหาย แต่วัดก็ยังอุตส่าห์นำชิ้นส่วนมาประกอบไว้ แต่ก็ใช้ไม่ได้ สื่อมวลชนท้องถิ่นเรียกร้องให้รัฐบาลศรีลังกาจัดสรรงบประมาณมาซ่อมแซม แต่เรื่องเงียบหายไป จนกระทั่งท่านจุฬามณี ชาติสุวรรณ ไปรับตำแหน่ง อัครราชทูตไทย ประจำกรุงโคลัมโบ ปี พ.ศ. 2560 ท่านทูตฐากูร ขอให้ไปดูเครื่องพิมพ์ที่ถูกไฟไหม้ ว่าจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง ท่านจุฬามณี เมื่อไปดูแล้วได้ติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศ ว่าจะหาทุนไปซ่อม เครื่องพิมพ์ประวัติศาสตร์ ที่ฝ่ายช่างศรีลังกาได้ตีราคาไว้ประมาณ 100,000 บาท 

กระทรวงการต่างประเทศจึงจัดสรรงบ ประมาณที่ใช้เพื่อสันถวไมตรี พ.ศ.2563 ไปซ่อมแซมวิจนเข้าสู่สภาพเดิม แล้วมอบให้ทางวัดเพื่อฉลองในวาระครบรอบ 65 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่าง ประเทศไทย กับประเทศศรีลังกา

พณฯ ฐากูร บอกว่า เรื่องนี้ จบอย่างมีความสุข หรือ Happy Ending ปัจจุบันทางวัด นำเครื่องพิมพ์มาตั้งแสดง ให้ผู้สนใจทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี นักอักษรศาสตร์ หรือผู้แสวงบุญให้ชม

ท่านที่สนใจไม่ควรพลาด