การบ้านเอกชน ถึงรัฐบาลใหม่ 

31 พ.ค. 2566 | 04:43 น.

บทบรรณาธิการ การบ้านเอกชน ถึงรัฐบาลใหม่ 

เสียงสะท้อนจากเอกชน ภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทั้งจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้เข้าพบผู้บริหารของ ส.อ.ท. ที่มีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท.นำคณะผู้บริหารร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นเมื่อ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา

มีหลายประเด็นที่ผู้บริหาร ส.อ.ท.ได้แสดงความกังวล ไฮไลท์สำคัญ เช่น การเตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าแบบกระชากแรง 450 บาทต่อวันของพรรคก้าวไกล เพิ่มขึ้นจากค่าแรง ณ ปัจจุบันมากกว่า 30% ซึ่งในส่วนของภาคธุรกิจระบุ มีความเข้าใจถึงเจตนาเพื่อช่วยลูกจ้างในยุคค่าครองชีพสูง รายได้ไม่พอรายจ่าย หนี้ครัวเรือนท่วมหัวเกือบ 90% ต่อจีดีพี หากได้ส่วนนี้ไปช่วยเติมก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้อีกระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ดีไม่อยากให้ช่วยฝั่งหนึ่ง แต่ไปเพิ่มภาระมากให้กับอีกฝั่งหนึ่ง เนื่องจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.ที่มีกว่า 1.5 หมื่นบริษัท ในจำนวนนี้กว่าครึ่งหนึ่งยังเป็นอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้น ที่มีกำไรจากการทำธุรกิจไม่มาก หากต้องมาแบกค่าแรงเพิ่ม จากปัจจุบันมีภาระต้นทุนสูงอยู่แล้วทั้งค่าไฟฟ้า วัตถุดิบ ดอกเบี้ย และอื่นๆ บางรายเพิ่งฟื้นตัวจากโควิดอาจไปไม่รอด จึงขอให้ใช้กลไกของไตรภาคีในการปรับขึ้น และต้องมีมาตรการในการชดเชยและช่วยเหลือ SME ด้วย

เช่นเดียวกับในวันที่ 31 พ.ค. 2566 ที่นายพิธา จะนำคณะหารือกับผู้บริหารหอการค้าไทย ที่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยได้เตรียมหยิบยกประเด็นหารือ ซึ่งในประเด็นหลัก ๆ ไม่ต่างจากที่ ส.อ.ท.นำหารือกับนายพิธามากนัก เช่น ข้อกังวลการปรับขึ้นค่าแรง 450 บาท การขอให้แก้ไขต้นทุนค่าพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่แพง กระทบผู้ประกอบการ และค่าใช้จ่ายของประชาชนที่ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้

รวมถึงเอกชนต้องการให้รัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนต่อในเรื่องเศรษฐกิจ BCG การขับเคลื่อนแผนงานและเป้าหมายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การทรานส์ฟอร์มสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่จะมีผลให้จีดีพีไทยขยายตัวอย่างก้าวกระโดด

พร้อมกันนี้ขอให้กิโยติน(ปฏิรูป)กฎหมายที่ล้าสมัยที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจของคนไทยและต่างชาติ ที่ทำให้เกิดความยุ่งยาก ไม่คล่องตัว มีต้นทุนแฝง จากปัจจุบันไทยมีทั้งกฎหมายเก่าที่ยังไม่ถูกทบทวน และกฎหมายใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา ทั้งที่เป็นพระราชบัญญัติ อนุบัญญัติรวมกันกว่าแสนฉบับ ติดอันดับต้นๆ ของโลก

ตัวอย่างเปิดร้านอาหารอย่างถูกต้อง ต้องผ่านถึง 14 หน่วยงาน ก่อให้เกิดระบบเส้นสายในการวิ่งเต้น มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะแลกการอำนวยความสะดวก เรื่องนี้เอกชนสนับสนุนให้กิโยตินกฎหมาย หากยกเลิกหรือเอาออกไปได้ 70-80% ประเทศไทยจะดีขึ้นอีกมาก ซึ่งจากผลศึกษาของทีดีอาร์ไอ หากรัฐทำตามข้อเสนอยกเลิกหรือแก้ไขกฎระเบียบ 1,000 กระบวนงาน จะช่วยลดต้นทุนตรงและค่าเสียโอกาสของภาคธุรกิจได้ถึง 1.3 แสนล้านบาทต่อปี

นี่แค่ปัญหาเก่าที่หมักหมม และประเด็นใหม่ที่ท้าทายเพียงบางส่วน ที่เป็นข้อกังวลและข้อเสนอจากผู้นำภาคเอกชนเท่านั้น ส่วนของจริงจะทำได้แค่ไหน ยังต้องรอว่าที่รัฐบาลใหม่เข้ามาขับเคลื่อนและพิสูจน์ฝีมือ