สงครามเบียร์

16 พ.ค. 2568 | 23:30 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ค. 2568 | 02:41 น.

สงครามเบียร์ คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

ในรัฐสภาพักหลังมานี้ คุยและวางแผนกันเพื่อแก้กฎหมายปลดล็อคธุรกิจทำเบียร์ ให้คนตัวเล็กสามารถผลิตเบียร์ขายได้ตามศักยภาพที่น้อย,ที่เล็กของตน โดยไม่ต้องถูกบล็อค_ถูกล็อกด้วยกฎกติกาชนิดว่าต้องผลิตขั้นต่ำ 100,000 ลิตร, ต้องทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 15,000,000 บาท, ต้องห้ามใส่ขวดบรรจุขายจะทำได้ก็เป็นแค่ลักษณะร้านอาหารตวงขายเป็นแก้ว ฯลฯ ฯลฯ

ด้วยว่าสิบปีมานี้เบียร์นอกกระแสอย่างที่เรียกว่า ‘คราฟท์ เบียร์’ (ผลิตโดยคนเล็ก, มีฝีมือ, ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น) กำลังมาแรง ที่ภูเก็ตมีเบียร์ชาลาวันขายดิบขายดี แต่มาเจอข้อกำหนดว่าบรรจุขวดไม่ได้ กำลังการผลิตไม่ถึงเกณฑ์ คนไทยมีฝีมือก็ต้องเร่ไปออสเตรเลีย หอบหิ้ววิชาข้าวของไปทำเบียร์บรรจุขวดที่โน่นแล้วย้อนนำเข้าของตัวเองกลับมาขายในไทย 55(ฮ่าฮ่า) เลอะเทอะ!

แม้วันนี้ชาลาวันจะขยายขนาดและก้าวข้ามสเกลเล็กขึ้นมาใหญ่ได้แล้ว แต่ยังต้องอาศัยการร่วมทุนจากคนใหญ่ในตลาดอยู่ดี_ความเล็กคงไว้ไม่ได้ น่าม’ คาญ (ย่อมาจากน่ารำคาญ)

 

สงครามเบียร์

ตลาดเบียร์คนไทยทำนั้น ตามตำนานเบียร์ไทย ก็ต้องยกให้ผู้บุกเบิกอย่างโรงเบียร์บุญรอด_ตราสิงห์ ของพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด) ซึ่งท่านสู้อุตส่าห์มุ่งหน้าฝ่าฟันไปฝังตัวอยู่ยุโรปเยอรมันศึกษาลู่ทาง แรกทีนั้นจะขนเครื่องจักรมือสองจากโรงเบียร์เก่าเก่าแถวนั้นถอดมาประกอบทำที่เมืองไทย แต่ได้รับพรพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เจ็ด ทรงเตือนว่าตรองให้ดี ใช้ของใหม่น่าจะดีกว่า ที่ว่าแพงนานไปก็จะถูก บ่งนิยามความหมายทำโรงงานมีเครื่องจักรไม่ใช่ง่าย งานเมนเทนแนนซ์ซ่อมบำรุงมีต้นทุนติดตามมาคาดไม่ถึง ของเก่าเสียง่ายค่าดูแลรวมๆเอาจะแพงกว่าของใหม่ พระยาภิรมย์ฯ ก็รับพรพระราชทานใส่เกล้า

หลังจากพบเคล็ดลับว่าเบียร์เมืองนอกเขาอร่อยรสดี จำเป็นจะต้องมีน้ำจากแหล่งคุณภาพ รสของน้ำต้องดีก่อนต้องนิ่งๆไม่มีออกไซด์ของเหล็กมาเจือมาปน ในยุคนั้นวงการวิทยาศาสตร์อาหารของไทยยังไม่ก้าวหน้า เที่ยวไปหาห้อง lab จะวิเคราะห์น้ำก็ไม่มี ต้องเร่หาบน้ำในไทย ส่งไปตรวจวิเคราะห์กันถึงเมืองนอกคือ มหาวิทยาลัยในกรุงเบอร์ลิน แห่งเยอรมนี จนได้ผลแล้วว่าน้ำไทยดีใช้ได้กลับมาเมืองไทยก็ต้องมากราบหารือกับท่านเสนาบดีกระทรวงคลังเรื่องภาษีอีก เพราะสมัยก่อนเบียร์นอกนำเข้าโดนภาษี เบียร์ไทยจะน้อยหน้าอย่างไรได้? ต้องโดนภาษีด้วย!!

กระทรวงพระคลังท่านว่าให้ผู้ริเริ่มประกอบการนำแบบแปลนโรงงานมาเสนอพร้อมแผนการผลิต นัยยะว่าท่านจะได้ประเมินภาษีอย่างเป็นธรรม

ท่านเจ้าคุณบุญรอดสตางค์เริ่มร่อยหรอเพราะใช้จ่ายลงทุน feasibility study ไปมาก จนจากความรู้เป็นศูนย์มาถึงจุดนี้มี learning curve จะมาสูญโอกาสเอานาทีนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ คิดซะแล้วจึงหาทางประหยัดงบออกเดินทางไปไซ่ง่อน ในเวียดนาม ซึ่งมีโรงเบียร์อยู่ใกล้กรุงเทพมากที่สุด ใช้คอนเน็คชั่นส์ส่วนตัวเชิญทีมโรงเบียร์ต่างๆมารับประทานกับข้าวมื้ออร่อยโอชา ด้วยจิตเมตตาจริงใจที่มีในไมตรีที่มีต่อกันนั้นแม้ท่านเจ้าคุณได้โอกาสสำรวจโรงเบียร์ไซ่ง่อนเขาโดยละเอียดจด details ทำผังมาได้แล้ว แต่ขั้นปฏิบัติการจะไปสู้คนทำงานคนรู้จริงย่อมไม่ได้อยู่เอง

 

สงครามเบียร์

 

แต่ทว่าอยู่ๆนายช่างทั้งนั้นก็วาดผังมาให้โดยฟรี แถมระบายสีให้เสียสวยงาม ท่านได้เอกสารสำคัญนั้นมาส่งการบ้านท่านเสนาเรียบร้อยทันเวลา มหาเสนาจัดทีมตีราคาภาษีให้ พอท่านรู้ต้นทุนการขายชัดเจนก็ออกเดินทางไปยุโรปเปิดประมูลหาช่างทำโรงเบียร์ วางแผนว่าใครให้ราคาต่ำสุดก็กะจะให้คนนั้น

งานกำลังจะเดินไปได้ดี อีทีนี้กลับมาเกิดเหตุวิบัติ_การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศสยาม โดยคณะราษฎรใช้กำลังยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้กลายเป็นประชาธิปไตย ระบบภาษีแต่เดิมที่ตกลงกันไว้กับท่านมหาเสนาบดีต้องแก้ไขใหม่รวด ตามวิถีการปกครองรูปแบบใหม่

กว่าจะยุติได้ ต้องหาระดมทุนเพิ่มทั้งฝ่ายหุ้นและฝ่ายธนาคาร เงินกู้ วิถีนักธุรกิจก็เป็นอย่างนี้กว่าจะเริ่มประกอบการได้ ต้องทำการรบทัพจับศึกหลายด้าน เผชิญสถานการณ์ไม่คาดคิดนานา

สุดท้ายท่านเจ้าคุณเปิดตัวเบียร์ไทยในงานเลี้ยงของคณะราษฎรเสียเลย โดยขนใส่ถังไป 360 ลิตร คณะราษฎรก็นักเรียนนอกมากันทั้งนั้นกินเบียร์กันชื่นมื่น ท่านเริ่มบรรจุขวดขายในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 77 ราคาขวดละ 32 สตางค์

ต่อข้อถามว่า แล้วเบียร์ไทยมีใหญ่ใหญ่กันอยู่เจ้าเดียวงั้นหรือ? ก็ต้องตัดต่อย่อภาพมาให้เห็นถึงยุคจอมพลเข้าบริหารประเทศบ้าง ยามนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ท่านอารมณ์ไหนไม่ทราบได้ ได้สั่งการให้ส่วนราชการทั้งหลายรวมสรรพกำลัง มาทำโรงเบียร์บ้าง_แข่งกัน เบียร์ที่ผลิตออกมาขายนั้นใช้ชื่อว่า เบียร์ตราหนุมาน ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนระดับจอมพลเขาจะมีตรามัสคอตนำโชคประจำตัวกัน

จอมพลป. พิบูลสงครามใช้ตราไก่เพราะเกิดปีระกา จอมพลสฤษดิ์ใช้ตราหนุมานก็เกิดปีวอก ส่วนพลเอกอัตราจอมพลระดับป๋า เปรม ติณสูลานนท์ใช้สีส้มวันพฤหัสประกอบตรากระบี่พญาลิงเช่นกัน โดยเฉพาะเวลาทำท่านพัดรองส่วนตัวไปถวายวัด จะพบเห็นพัดรองตราพญาลิงพื้นส้มอันนั้นคือพัดของป๋าสร้าง

เวลานั้นท่านจอมพลสั่งการโดยอำนาจรัฐให้ร้านค้าและประดาสโมสรของหน่วยราชการขายแต่เบียร์ตราหนุมานเท่านั้น ห้ามขายยี่ห้ออื่นตัดทางโรงเบียร์ท่านเจ้าคุณ ธุรกิจโรงเบียร์ของรัฐนี้ใช้ชื่อว่า บริษัทบางกอกเบียร์ อยู่แถวบางโพก็ใกล้กับโรงเบียร์บุญรอดนั่นแหละ

 

สงครามเบียร์

 

ต่อมา เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกกระทรวงคลังยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ มาเป็นของรัฐ แปรสภาพบางกอกเบียร์เป็นรัฐวิสาหกิจ เปลี่ยนตราหนุมานที่เบียดใจให้เป็น เบียร์ตรากระทิงและ ตราแผนที่ แต่ก็ไม่ประสพผลสำเร็จทางยอดขาย_ก็ตามประสารัฐวิสาหกิจอ่ะนะ ผู้คนทำงานโดยนิยมแสวงเงินเดือนมากกว่าผลสำเร็จของงาน

สุดท้ายกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ไปไม่ไหว หมดสภาพที่จะแบกรัฐวิสาหกิจจ่ายเงินเดือนโดยไม่มีกำไรเข้ากิจการ ก็จำใจต้องประกาศขายหุ้น กลุ่มเจ้าสัวอุเทน เตชะไพบูลย์ สยายปีกเข้าซื้อกิจการบางกอกเบียร์ในที่สุด แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเบียร์อมฤต ใช้ตราสุริยเทพทรงรถ ดูท่าจะไปได้ดีแถมเบียร์นี้ไปได้รางวัลระดับโลก world prize จากอเมริกามาอีก จึงเร่งการผลิตเต็มอัตราส่งวางตลาดทุกหัวระแหง แต่ทว่า_อนิจจาเกิดว่าสถานการณ์โอเวอร์ซัพพลาย สินค้าล้นตลาด ผู้คนซื้อกินไม่ทัน (ยุคนั้นในปี 2515 เบียร์เก็บนานสีจะขุ่นเปลี่ยนสภาพและรสชาติจะเสีย)

ด้วยความที่ได้รางวัลจากอเมริกาเครืออมฤตก็เหไปหาตลาดแถวพัทยา/สัตหีบเพราะยุคนั้นทหารจีไอมาลงอู่ตะเภากันมากกำลังซื้อเยอะ เงินดอลล่าร์แข็ง แต่อยู่ไปได้ไม่นานก็ต้อง แบรนด์ใหม่มาทดแทน หวยจึงไปออกที่ครอสตอร์เบียร์ เลเกอร์รสนุ่มจากเยอรมัน โดยฝ่ายเยอรมันมีเงื่อนไข consistency คือต้องซื้อวัตถุดิบแหล่งจากเขาเท่านั้นเพื่อรักษาคุณภาพที่สม่ำเสมอ เบียร์คลอสเตอร์ในไทยออกตลาดได้ในปี 2521 โดยโรงเบียร์อมฤตเป็นผู้ผลิตให้ ตั้งบริษัทครอสเตอร์ เบียร์ประเทศไทย จัดจำหน่าย วางตำแหน่งสูงกว่าเบียร์สิงห์ โดยราคาแพงกว่า 5 บาท แต่รสชาติอ่อนกว่าหน่อยดีกรี 4% ในขณะที่สิงห์ 4.5% เจาะกลุ่มลูกค้า A,B,C ในขณะที่สิงห์เจาะ A,B,C และ D ใช้เวลาหกปีครอสเตอร์แย่งส่วนแบ่งการตลาดของสิงห์ไปได้ 12%

อยู่มาวันดีคืนดีปี 2528 รัฐขึ้นภาษีเบียร์เป็น 100% จากลิตรละ 14 บาทเป็น 28 บาท สิงห์สะเทือนซางกว่าครอสเตอร์เพราะ ครอสเตอร์แพงอยู่แล้วแพงขึ้นอีกลูกค้าเกรดสูงจ่ายได้ไม่รู้สึกอะไร ตรงข้ามกับสิงห์ที่ลูกค้ากลุ่ม D และกลุ่ม C หันไปกินเหล้าสุราแทนเพราะเมาเหมือนกันแต่จ่ายน้อยกว่าขวดละ 25 บาท กลายเป็น 36 บาท ในขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตกวันละเท่าไหร่ไม่รู้ รู้แต่ทองคำ ตกบาทละ 4,200!จนถึงยุค 2531 ต่อ 32 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณได้อำนาจ เศรษฐกิจบ้านเมืองดีขึ้นโดยทั่วไป สุรากลั่นราคาขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดี ยอดขายของธุรกิจเบียร์ก็กระเตื้องขึ้น ครอสเตอร์เองยอมรับในการขยายตลาดอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่อาจจะหักกับสิงห์ที่คุมอยู่ทุกสายของถนนการจำหน่ายเบียร์

 

สงครามเบียร์

 

ในขณะเดียวกันนั้นหลังจากสู้ศึกรอบทิศทั้งสงครามภาครัฐเก็บภาษี, สงครามภาคจอมพลแสดงฤทธิ์, ยังมาภาคคู่แข่งเอกชนผลิตของสู้กัน สิงห์ก็ต้องเริ่มสู้กับตัวเองเพราะออกผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดในนามว่าสิงห์โกลด์ ไลท์เบียร์ ที่นัยยะหนึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงกับครอสเตอร์พอได้เพราะรสนุ่มลงแอลกอฮอล์ต่ำลง แต่อีกนัยยะหนึ่งก็เข็นให้ดังได้ยาก

ในขณะที่ครอสเตอร์วางตลาดเป็นของดื่มสำหรับคนระดับนักธุรกิจรุ่นใหญ่มีประสบการณ์ใช้ชีวิต, ไปรู้เห็นเมืองนอกเมืองนา, มีอายุ, มีความภูมิฐานสิงห์เองปกติวางตำแหน่งสำหรับคนที่สมบุกสมบัน,เป็นผู้ใหญ่, เจนโลก, ชอบสูบบุหรี่ มันมีช่องว่างพอดีสำหรับผู้บริหารยุคใหม่ที่เรียกว่ายังเอ็กซ์เซ็คคิวทีฟ หรือ พวกยัปปี้ที่ชอบสังคมร่าเริง มีรสนิยมเลือกของเก่ง และวางตัวสบายสบาย

อนึ่งคำว่ายัปปี้ ย่อมาจาก Young Urban & Professionals ซึ่งในยุคปี 2530 ต่อ 2540 นั้นพบผู้คนเหล่านี้มากมายเป็นผู้มีความรู้ดีบางทีเรียนมาจากเมืองนอกเปิดหูเปิดตาเยอะ มีความเปนลูกกรุงสูง ใส่ใจเรื่องสุขภาพ เพราะมีข้อมูลมากกว่าคนอื่น ประสพความสำเร็จแต่ยังอายุน้อย มีรายได้ดี แต่ยังคงเข้าสังคมกับคนระดับใหญ่อย่างผู้กินครอสเตอร์ได้ ในเวลาเดียวกันก็มีพิสัยทำการณ์ไปสมาคมถึงผู้ที่รับประทานเบียร์สิงห์แบบดั้งเดิม กระทั่งชาวลูกทุ่ง

พูดให้เห็นภาพก็คือปวงเขาฟังวิทยุ F.M. คลื่นเพลงฝรั่ง ในขณะที่ชาวลูกทุ่งฟังคลื่น A.M. คนเหล่านี้ต้องการแคลอรี่ที่น้อยลง กลัวอ้วน ต้องการดีกรีแอลกอฮอล์ที่ต่ำลง กลัวฉุโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารรุ่นใหม่ที่เป็นผู้หญิงได้ก้าวทะลุเพดานแก้วอย่างที่เรียกว่า glass ceiling ขึ้นมาคุมตำแหน่งบริหารในองค์กรสำคัญๆของภาคธุรกิจ

ในการไปร่วมงานสังสันทน์ต่างๆในภารกิจหน้าที่การงานนั้นในยุคที่ถือว่าการดื่มเหล้าสูบบุหรี่เป็นการเข้าสังคม พวกเธอไม่มีทางเลือกมากนักทั้งที่มือก็ไกว(เปล) ดาบก็แกว่ง จะให้กินเหล้าเมาหยำเปเหมือนพวกผู้ชายคอแข็ง ย่อมเป็นไปไม่ได้ควรต้องมีเครื่องดื่มในลักษณะเมาน้อยอ้วนน้อยได้เป็นทางเลือกบ้าง

สงครามครั้งนี้มันหยุดลงไม่ได้แต่เนื้อที่หมดเลยต้องขอต่อตอน 2

 

(ขอบคุณภาพ Expressionism ของ @demianfactory ใช้สีขาว,ดำ และฟ้า เพื่อแสดงภาวะมืดมนและความว่างเปล่า หยิบยกมารุต ทองเขียว คนชอบเบียร์ มาเปนแบบวาดแม้ชีวิตจะมืดมนแค่ไหนแต่มีเพื่อนร่วมดื่มอยู่ด้วยก็ไม่เลวครับ-เดเมี่ยนเขาบอก)