มองฉากทัศน์ของตลาดแรงงานกัมพูชาและเมียนมาในไทย เมื่อชายแดนไทย-กัมพูชาเดือดระอุ!!! 

08 มิ.ย. 2568 | 22:30 น.

มองฉากทัศน์ของตลาดแรงงานกัมพูชาและเมียนมาในไทย เมื่อชายแดนไทย-กัมพูชาเดือดระอุ!!!  คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์


ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาได้กลายเป็นประเด็นที่สื่อและสาธารณชนให้ความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องของความขัดแย้งของการรุกล้ำดินแดน จนทำให้เป็นประเด็นที่ร้อนระอุขึ้นมาทันที ก็มีน้องๆ หลายคนที่สอบถามความคิดเห็นของผมมา ว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบแค่ไหนในมิติของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ซึ่งตัวผมเองไม่ค่อยอยากจะแตะในเรื่องของการเมืองทั้งภายในประเทศเราหรือประเทศเพื่อนบ้าน เพียงแต่อยากจะนำผลกระทบดังกล่าว มาสะท้อนให้เห็นถึงตลาดแรงงานต่างชาติในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานจากประเทศกัมพูชาและแรงงานจากประเทศเมียนมา ที่ถือเป็นกำลังแรงงานสำคัญในหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจไทย วันนี้ผมจึงขอนำทุกท่านมาดูฉากทัศน์ที่กำลังจะเกิดในปัจจุบันและอนาคต เอาแค่เป็นการทำนายสนุกๆ ก็แล้วกันนะครับ

ก่อนอื่นเราต้องมามองแรงงานต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยเรา แน่นอนว่าแรงงานจากประเทศเมียนมาและแรงงานจากประเทศกัมพูชา ถือว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้เลย เพราะเป็นแรงงานที่มีจำนวนมากเป็นอันดับที่หนึ่งและที่สองของไทยเรา

เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยเราพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม ภาคงานก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรมประมง และภาคบริการต่างๆ ที่มีทั้งแรงงานเมียนมาและแรงงานกัมพูชาเข้ามามีบทบาทสำคัญ ด้วยค่าแรงในทั้งสองประเทศต่ำกว่าค่าแรงงานในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน มีความเต็มใจที่จะทำงานในลักษณะที่แรงงานไทยอาจไม่นิยมที่จะทำ

ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ได้เข้ามาเติมเต็มช่องว่างในตลาดแรงงานที่ขาดแคลน ยิ่งไปกว่านั้นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะจากกัมพูชา มีความผูกพันทางวัฒนธรรมและภาษา ที่มีความใกล้เคียงกับคนไทยบางภูมิภาค หรือแรงงานเมียนมาจากรัฐฉานก็เฉกเช่นเดียวกัน ที่มีความผูกพันกับคนเมืองในภาคเหนือของไทยเรา จึงทำให้การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมการทำงานในประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดี

แต่เมื่อชายแดนฝั่งไทย-กัมพูชามีความร้อนระอุขึ้นมาตามที่ได้กล่าวมา แน่นอนว่าผลกระทบต่อการไหลเข้า-ออกของแรงงานกัมพูชา ตามสถานการณ์ความตึงเครียดหรือเหตุการณ์ความรุนแรงตามแนวชายแดน ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเคลื่อนย้ายของประชากรแรงงาน เราจะเห็นภาพข่าวจากสื่อต่างๆ ถึงการอพยพย้ายกลับภูมิลำเนาเดิมตามด่านชายแดน ที่แรงงานบางส่วนอาจตัดสินใจเดินทางกลับเพื่อความปลอดภัย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีความกังวลเกี่ยวกับการถูกจับกุมหรือผลักดันกลับประเทศ ในส่วนของการเดินทางเข้ามา ก็จะไม่ค่อยได้เห็นการเดินทางข้ามพรมแดน ซึ่งอาจจะเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น ทั้งจากมาตรการคุมเข้มของเจ้าหน้าที่ หรือจากความกังวลของตัวแรงงานเอง ส่งผลให้จำนวนแรงงานใหม่ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยลดลงนั่นเองครับ

สาเหตุที่เดินทางเข้ามาน้อยอีกประการหนึ่ง คือ หากเหตุการณ์เกิดมีการบานปลายมากขึ้น ก็จะเกิดความไม่แน่นอนของนายจ้าง อาจจะเป็นเพราะนายจ้างที่พึ่งพาแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะจากกัมพูชา ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในการจ้างงาน หากแรงงานขาดแคลนหรือเดินทางกลับประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตของผู้ประกอบการได้นั่นเอง ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่นายจ้างคงจะต้องมีการสับเปลี่ยนไปใช้แรงงานจากชาติอื่นๆ เช่น แรงงานจากเมียนมา ซึ่งเป็นแรงงานที่เป็นกำลังสำคัญที่มองข้ามไม่ได้เลย ซึ่งก็จะทำให้นายจ้างเพิ่มการจ้างงานที่จะมาทดแทนแรงงานกัมพูชาที่ขาดหายไปในตลาดแรงงานก็ได้

ฉากทัศน์ดังกล่าวมาข้างต้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อแรงงานกัมพูชาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มากพอที่นายจ้างจะหันไปหาแรงงานจากแหล่งอื่น เพื่อเติมเต็มช่องว่าง แน่นอนว่าปัจจุบันนี้ แรงงานเมียนมามีจำนวนมากพอเพียงต่อความต้องการของตลาดแรงงาน เพราะมีช่องทางในการเดินทางเข้ามาประเทศไทยอยู่แล้ว ย่อมจะเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆเมื่อเวลานั้นมาถึง อีกทั้งแรงงานเมียนมาเอง ก็มีความยืดหยุ่นในการเคลื่อนย้ายได้ง่าย จากเหตุผลของพรมแดนเมียนมา ที่ติดกับประเทศไทยเรายาวมากกว่า 2,408 กิโลเมตร แม้สถานการณ์ภายในเมียนมาจะมีความผันผวนไม่แน่นอน                        

แต่ช่องทางการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่ประเทศไทยยังคงมีอยู่ ทั้งในรูปแบบถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ทำให้ Supply ของแรงงานเมียนมาค่อนข้างมีความยืดหยุ่นในการปรับตัว นอกจากนี้แรงงานเมียนมายังมีประสบการณ์และความคุ้นเคยกับตลาดแรงงานในประเทศไทยอย่างมาก เพราะแรงงานเมียนมาจำนวนมาก มีประสบการณ์การทำงานในประเทศไทยมาช้านาน ทำให้มีความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมการทำงานและระบบการจ้างงาน ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการปรับตัวเข้ากับงานใหม่ๆได้ไม่ยากเลยครับ

อีกหนึ่งฉากทัศน์ที่ผมอยากให้มอง นั่นก็คือภาคส่วนของอุตสาหกรรมประเภทไหนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด? เพราะแน่นอนว่าผลกระทบของแต่ละภาคส่วนของอุตสาหกรรมย่อมมีความแตกต่างกันไป และการเข้ามาทดแทนของแรงงานเมียนมา ก็มีแนวโน้มสูงในภาคส่วนดังที่กล่าวมา

ในอันดับแรกคือ ภาคเกษตรกรรม เป็นภาคส่วนที่พึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านสูงมาก โดยเฉพาะแรงงานกัมพูชาที่อยู่ในภาคตะวันออกและจังหวัดที่อยู่ตามชายแดนไทย-กัมพูชา ที่มักจะนิยมใช้งานแรงงานจากกัมพูชามาทำงานในไร่ นา และสวนผลไม้ หากแรงงานกัมพูชาลดลงตามสถานการณ์ แรงงานเมียนมาก็มีศักยภาพสูงที่จะเข้ามาทดแทนได้บ้าง แม้จะไม่ได้มีความชำนาญเหมือนแรงงานกัมพูชาก็ตาม  

อันดับที่สองคือ ภาคงานก่อสร้าง โครงการก่อสร้างต่างๆอาจประสบปัญหาล่าช้า เนื่องจากขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือและกึ่งฝีมือ ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติจากกัมพูชาเป็นหลัก แต่แรงงานเมียนมาบางส่วนก็มีอยู่บ้างในภาคงานก่อสร้าง ซึ่งจะเข้ามาเติมเต็มได้ทันที จึงไม่น่าจะเป็นห่วงเท่าใดนัก ส่วนอันดับที่สามคือ ภาคงานการประมง แรงงานกัมพูชาเป็นกลุ่มสำคัญในภาคการประมง เพราะมีความอึดอย่างมาก และมีความสามารถในการทำงานในสภาพแวดล้อมที่หนักหน่วง การขาดแคลนแรงงานอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงของไทยได้เช่นกัน ซึ่งแม้ว่าแรงงานเมียนมาก็เป็นกลุ่มหลักในภาคประมงเช่นกัน และจะสามารถเข้ามาทดแทนในส่วนที่ขาดไปได้อย่างไม่ติดขัดมากนัก

อีกภาคส่วนหนึ่งคือ ภาคบริการและร้านอาหารขนาดเล็ก ที่มีแรงงานกัมพูชาจำนวนไม่น้อยทำงานในร้านอาหารขนาดเล็ก ร้านค้าปลีก หรือธุรกิจบริการอื่นๆ จากปัจจัยที่มีค่าแรงไม่สูงนัก การขาดแคลนอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเหล่านี้ แรงงานเมียนมาที่มีทักษะและประสบการณ์ในภาคบริการ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นก็เป็นไปได้สูงทีเดียวครับ

แม้ว่าเหตุการณ์ชายแดนจะนำมาซึ่งความท้าทาย แต่ถ้ามองในแง่ดี นี่อาจเป็นโอกาสให้เกิดการปรับตัวและพัฒนาในตลาดแรงงานในประเทศไทยก็เป็นไปได้ครับ เราอาจจะมีการหันมาใช้เทคโนโลยีฯมากขึ้นก็ได้ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ที่อาจถูกกระตุ้นให้ลงทุนในเทคโนโลยีฯและเครื่องจักรกล เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานคนได้ครับ หรืออาจจะมีการพัฒนาแรงงานไทย ให้เกิดการพัฒนาทักษะแรงงานไทยเราเอง ในบางสาขาที่เคยถูกละเลย หรือจูงใจให้แรงงานไทยเข้ามาทำงานในลักษณะที่เคยเป็นของแรงงานต่างชาติ ด้วยการเพิ่มค่าตอบแทนที่เป็นธรรมมากขึ้น และสวัสดิการที่ดีขึ้นครับ ก็แล้วแต่จะมองกันนะครับ