Kerry ควบ Flash… ยังไม่เกิด

14 ก.ค. 2565 | 22:33 น.

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ by…เจ๊เมาธ์

*** อัตราเงินเฟ้อและแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ยังคงสร้างแรงกดดันไปทั่วโลก ล่าสุดตัวเลข CPI (Consumer Price Index) ซึ่งเป็นดัชนีเงินเฟ้อของสหรัฐที่ออกมา 9.1% ทำให้นักวิเคราะห์การเงินต่างให้ความเห็นว่าเฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75-1.00% ในการประชุมครั้งหน้า
 

ขณะที่ USD Index ก็ขยับขึ้นไปแตะ 108.4 จุดส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมากกว่า 1 ยูโร และการอ่อนค่าลงไปแตะ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็ส่งผลให้เงินทุนสำรองของประเทศเสื่อมค่าลงไปแล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งหาก ธปท. และ กนง. ไม่ทำอะไรเลย ก็จะส่งผลเสียหายกับระบบเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้างจนไม่สามารถควบคุมได้ 
 

ดังนั้น เจ๊เมาธ์จึงเชื่อว่าในเร็วๆ นี้ กนง. จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.อย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ ก็จะปรับขึ้นดอกเบี้ยตามไปด้วย และในที่สุดหุ้นกลุ่มธนาคารใหญ่อย่าง KBANK SCB BBL KTB และ TTB ก็จะได้อานิสงส์จากการขึ้นดอกเบี้ยตามที่เจ๊เมาธ์เคยเน้นย้ำมาตลอด งานนี้ถึงใครจะไม่ชอบหรือไม่อยากเก็บหุ้นธนาคารก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้จับตา...เมื่อดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารก็จะเป็นขาขึ้นเช่นกันค่ะ
 

แม้ดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลดีกับหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน แต่กับหุ้นในกลุ่มนอนแบงก์กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยเฉพาะกับหุ้นลีสซิ่งรายใหญ่อย่าง SAWAD MTC และ TIDLOR ต่างก็จะได้รับผลกระทบหนักอยู่ไม่น้อยทั้งในเรื่องของรายจ่าย และ NPL ที่จะเพิ่มขึ้น โดยส่วนของ TIDLOR ซึ่งราคาหุ้นปรับลงไปแตะจุดที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เข้าตลาด กลายเป็นประเด็นที่ที่ให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นว่าอาจจะมีปัญหามากกว่าหุ้นลีสซิ่ง 2 รายที่เหลือ 

 

แต่โดยส่วนตัวเจ๊เมาธ์กลับมองว่า ผลกระทบของดอกเบี้ยขาขึ้น ต่างก็ส่งผลกับหุ้นลีสซิ่งในระดับที่ใกล้เคียงกันแทบทุกตัว จะแตกต่างกันอยู่บ้างก็คือ ทางด้านของ TIDLOR เป็นหุ้นที่ฐานราคายังไม่แน่น เนื่องจากเข้าตลาดฯ ได้ไม่นาน ดังนั้น จึงทำให้เป็นหุ้นที่จะถูกพิจารณา “ทิ้ง” หรือ Cut loss ออกไปก่อน ส่วนในเรื่องขององค์ประกอบอื่นเจ๊เมาธ์ยังมองว่า TIDLOR ยังพอใช้ได้ ซึ่งถ้าใครชอบจังหวะนี้น่าจะเป็นโอกาสให้เริ่มนับหนึ่งในการเริ่มสะสมได้แล้ว
 

*** ราคาหุ้นของ KEX ปรับขึ้นจากจุดต่ำสุดในเดือนพฤษภาคมแล้ว กว่า 30% ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างมองกันว่า การปรับราคาขึ้นมาในรอบนี้เป็นเพียงการรีบาวด์ทางเทคนิคเพียงเท่านั้น โดยถ้าหากจะเล่นรอบต่อไปก็อาจจะได้พอมีลุ้นอยู่บ้างโดยมองแนวรับเอาไว้ที่ 24 บาท หรือต่ำที่สุดก็ที่ 22 บาท แต่ถ้าหากมองไปที่เรื่องของผลการดำเนินงานนักวิเคราะห์จาก บล.ทิสโก้ มองว่ารายได้ในไตรมาส 2/65 จะลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

รวมถึงยังมองว่า บริษัทจะยังขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 829 ล้านบาท จากที่ในปี 64 ขาดทุนอยู่ 634 ล้านบาท ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ในช่วงเวลาที่เหลืออีก 2 ไตรมาสของปี 65 บริษัทจะยังไม่สามารถสร้างผลกำไรตีตื้นขึ้นมาเลยนั่นเอง ก็อย่างที่เจ๊เมาธ์เคยบอกไปว่า ถ้ายังไม่มีสัญญาณก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปยุ่งหรือไปสนใจนะคะ 
 

*** หลังจากเจ้เมาธ์ คุยกับแหล่งข่าวระดับสูงใน Flash ที่มีลือกันว่าจะควบรวมกันผ่าน share swap ยังไม่จริง ดังนั้นราคาหุ้น KEX หรือเคอร์รี่ Kerry คือแค่ technical rebound เท่านั้นเองจริงๆ เจ้าค่ะ
 

*** ในที่สุด CBG ก็สามารถก้าวข้ามแนวต้าน 110 บาทขึ้นมาได้ หลังจากที่เล่นรอบในกรอบ 100-110 บาท มาแล้วถึง 7 รอบ ตั้งแต่ช่วงต้นปี ซึ่งโดยส่วนตัวของเจ๊เมาธ์เองมองว่า โดยศักยภาพของ CBG มีโอกาสที่จะไปต่อได้อีกพอสมควร ปัจจัยแรกคือ ยอดขายที่กำลังปรับตัวดีขึ้นจากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งกำลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว
 

ส่วนปัจจัยที่สองเป็นเรื่องของต้นทุนของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งคิดเป็น 60% ของต้นทุนทั้งหมดเริ่มปรับราคาลง โดยเฉพาะราคาของอลูมิเนียม ซึ่งคิดเป็น 20-25% ของต้นทุนทั้งหมด ก็กำลังปรับราคาลง ซึ่งหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มยังทรงตัวต่อไปก็มีความเป็นไปได้ที่ผลการดำเนินงานของ CBG จะกลับไปอยู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิดเลยทีเดียว เจ๊เมาธ์ไม่ได้คาดหวังว่าราคาหุ้นของ CBG จะสามารถดันราคาขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่เคยทำเอาไว้ได้ แต่อย่างน้อยเจ๊ก็มองว่าน่าจะดีกว่าราคา 110 บาทที่พึงจะข้ามมาได้อยู่ดีเจ้าค่ะ
 

*** ราคาหุ้นของ JAS เริ่มกลับมาตั้งหลักได้อีกครั้งด้วยประเด็นปันผลพิเศษที่มาจากเงิน 3.24 หมื่นล้าน จากการขาย 3BB และหน่วยลงทุนของ JASIF ซึ่งเมื่อคำนวณออกมาเป็นเม็ดเงินกลมๆ โดยที่ไม่หักรายจ่ายอย่างอื่นก็จะเป็นเงินปันผลราวๆ 2.25 บาท/หุ้น มองในมุมหนึ่งก็อาจมองได้ว่า JAS เป็นบริษัทที่ดี...มีปันผลก้อนใหญ่แจกให้กับผู้ถือหุ้นอยู่บ่อยๆ แต่หากมองในอีกมุมการที่จ่ายเงินปันผลพิเศษในแต่ละรอบของ JAS ล้วนแล้วแต่แลกมาด้วยการเฉือนเนื้อควักเอาสินทรัพย์ของบริษัทมาขาย ซึ่งกรณีล่าสุดในการขายทั้ง 3BB และหน่วยลงทุนของ JASIF ทำให้ JAS แทบจะกลายเป็นบริษัทที่ไม่เหลือแหล่งที่มาของรายได้เลย 
 

ขณะที่หากมีการจ่ายปันผลในอัตรา 2.25 บาท/หุ้น ขึ้นมาจริง ผู้ที่จะได้เงินปันผลมากที่สุดคือ ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง พิชญ์ โพธารามิก ซึ่งจะได้ปันผลคิดเป็นเงินราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อมองไปที่เงินปันผลที่ได้ก่อนหน้านี้รวมถึงการขายสินทรัพย์ครั้งล่าสุดที่ทำให้บริษัทแทบจะไม่เหลืออะไร ก็ทำให้มองได้ว่าพิชญ์ อาจจะทิ้งเรือเก่าลำนี้เพื่อออกไปแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่อีกครั้งก็เป็นไปได้ ของแบบนี้มันไม่แน่...จะมีใครรู้ 
 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,801 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565