เต่าบิน... เต่าอ้วนแล้ว บินไม่ไหว

05 ก.ค. 2565 | 22:30 น.

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ By…เจ๊เมาธ์

การหาเงินผ่านตลาดหลักทรัพย์เป็นวิธีการที่ทำได้ง่ายและนิยมมากที่สุด ยิ่งในจังหวะที่สัญญาณความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เข้มข้นจนตลาดหุ้นเป็นสีแดงเถือกแบบนี้ ยิ่งทำให้หลายฝ่ายต้องเร่งตุนกระสุนดินดำกันหนักหน่วง
 

แต่ที่เจ๊เมาธ์ ไม่เชื่อ และยังเกาะติดอยู่คือข่าวคราวของบริษัท FORTH และ FSMART ซึ่งถือหุ้นอยู่ใน บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด เจ้าของตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติ “เต่าบิน” ที่มีกระแสร้อนแรงมาตั้งแต่ต้นปี อยู่ในข่ายความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองไปกับเค้าด้วยนี่สิ มันทำให้คันและคาใจ

ประเด็นแรกคือ การที่ทั้งหุ้น FORTH และ FSMART ต่างก็ถูกดันราคาหุ้นขึ้นแรงมาก่อนที่จะถูกทยอยเทขายจนราคาหุ้นของทั้งคู่ร่วงไปกว่า 30% จากจุดที่ราคาสูงที่สุดในเวลาเพียงเดือนกว่าๆ 
 

ทั้งๆ ที่ราคาหุ้นและผลการดำเนินงานหลายปีที่ผ่านมาของทั้งสองบริษัทต่างก็ไม่มีอะไรโดดเด่น แต่กลับถูกดันขึ้นมาอย่างถูกที่ถูกเวลาด้วยสตอรี่การเป็นเจ้าของ “ตู้เต่าบิน” 
 

ขณะที่ บ. ฟอร์ท เวนดิ้ง ซึ่งเป็นเจ้าของ “ตู้เต่าบิน” ตัวจริงเองก็ยังไม่เคยมีกำไรเลยนับตั้งแต่ตั้งบริษัท 

ประเด็นที่สองคือ ข้อสงสัยที่มาจากสินค้า ซึ่งก่อนหน้านี้ “ตู้เต่าบิน” เคยขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับส่วนผสมของกัญชาที่ใครก็สามารถกดสั่งซื้อได้ แม้แต่เยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี และแม้ว่าปัจจุบันจะเลิกขายไปแล้ว  แต่ในตอนที่ขายก็สามารถทำได้ทั้งที่ในตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับอันนี้แหละเป็นข้อครหาที่หนัก 
 

ทุกคนตั้งข้อสงสัยเหมือนกันคือ ของแบบนี้ ถ้าไม่เส้นใหญ่จริงก็ไม่น่าจะทำได้ นี่จึงเป็นปมราคาหุ้นถูกถล่มลงมาหลังจากเลิกขาย
 

ประเด็นที่สามคือ เรื่องที่ บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง ซึ่งเป็นเจ้าของ “ตู้เต่าบิน” มีกลุ่มของผู้เกี่ยวข้องกับนักการเมือง มีเส้นสายการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องก็เป็นที่รู้กันดี พรรคไหน ใครคุม เจ้เมาธ์ไม่อยากจะฟื้นฝอยหาตะเข็บ ไปดูรายชื่อก็ร้องอ๋อกันทั้งบาง
 

แถมผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทก็เคยได้ดิบได้ดี มีตำแหน่งแห่งหนในรัฐวิสาหกิจ ภายใต้กระทรวงในสังกัดมาแล้วหลายที่ในระยะ 3-4 ปี ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ก็ว่าไปตามข้อมมูลที่พอจะหาได้ 
 

ส่วนที่ว่า ทั้ง FORTH และ FSMART จะเกี่ยวข้องกับนักการเมืองและการระดมทุนแค่ไหน เจ๊เมาธ์ก็ไม่ระบุหรือไม่ฟันธงนะคะ แค่นำเอาข้อมูลมาตีแผ่ให้ได้รับรู้เท่านั้นเจ้าค่ะ
 

ความโลภไม่เข้าใครออกใคร ยิ่งเป็นผู้บริหารและผู้ถือหุ้นซึ่งสามารถรู้ความเคลื่อนไหวภายในของบริษัทด้วยแล้วยิ่งกระตุ้นต่อมความโลภของคนได้ง่ายขึ้น 


อย่างกรณีล่าสุดที่ทาง กลต.มีมติให้ลงโทษโดยการปรับเงินจำนวน 13 ล้านบาทของบุคคล 2 ราย ได้แก่ นายสิทธิลาภ ทรัพย์สาคร ขณะดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและกรรมการบริหารของ TASCO ที่ได้ขายหุ้น TASCO โดยอาศัยข้อมูลภายใน (Inside) และน.ส.ภนิดา เกิดธูป ในความผิดฐานยินยอมให้ นายสิทธิลาภ ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเพื่อปกปิดตัวตนของนายสิทธิลาภ 


โดยในส่วนของ นายสิทธิลาภ ทรัพย์สาคร นอกจากจะเกี่ยวพันไปถึงเรื่องของ  “ธรรมาภิบาล” ของบริษัทใหญ่ระดับโลกอย่าง TASCO ก็ยังพบว่านอกจาก “กลุ่มทรัพย์สาคร” จะมีตำแหน่งเป็นกรรมการและถือหุ้นใน TASCO แล้วยังเกี่ยวพันเป็นเครือญาติกับตระกูล “เศรษฐิน” 


ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารของ TASCO ขณะเดียวกันก็พบว่า “กลุ่มทรัพย์สาคร” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPCO เป็นบริษัทแม่ที่ถือหุ้น TASCO อยู่ถึง 23.43% 


โดยนายสิทธิลาภ ทรัพย์สาคร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน TIPCO อยู่ถึง 11.40% ซึ่งหมายความว่าจริงๆแล้ว “กลุ่มทรัพย์สาคร” คือเจ้าของตัวจริงของทั้ง TIPCO และ TASCO นั่นเอง
 

ไม่รู้ว่าการปรับเงิน 13 ล้านบาทจะมากหรือน้อยไปหรือเปล่านะคะ เพราะถ้าดูจากทั้งโปรไฟล์และสิทธิประโยชน์ของผู้ที่ถูกปรับเงินมันทำให้เจ๊เมาธ์รู้สึกได้เลยว่าอัตราส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ เงินค่าปรับเล็กน้อยจำนวนแค่ไม่น่าจะเยียวยาได้แน่นอนนะคะ 
 

กรณีการที่ ADVANC ลงทุน 32,420 ล้านบาท ในการซื้อ 3BB มูลค่า 19,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 99.87% จาก JAS และจะเข้าซื้อ JASIF จาก JAS คิดเป็นสัดส่วน 19% ในราคาหน่วยละ 8.5 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 12,920 ล้านบาท 


เป็นอีกหนึ่งในสมรภูมิของการต่อสู้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ ADVANC ตกเป็นผู้เสียเปรียบหลังจากการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC ซึ่งการซื้อ 3BB ในครั้งนี้จะทำให้ AIS ของ ADVANC สามารถสู้กับ TRUE ในตลาดต่างจังหวัดซึ่ง TURE เป็นเจ้าตลาดได้อย่างสูสี 


ขณะที่การซื้อ JASIF ก็จะทำให้ ADVANC ได้รับประโยชน์ทางตรง ทั้งในส่วนการได้ของในราคาถูกกว่าตลาด (8.50 บาท/หน่วยลงทุน) และการได้มาซึ่งอำนาจต่อรองในการขอลดค่าเช่าโครงขายเคเบิ้ลใยแก้วของ JASIF ลงโดยแลกกันกับการต่ออายุสัญญาไปจนถึงปี 2580 จากเดิมที่จะสินสุดลงในปี 2575 ซึ่งดูแล้วงานนี้ ADVANC มีแต่ได้กับได้ จะเสียบ้างก็ตรงที่ต้องจ่ายเงินสดเป็นจำนวนมากเท่านั้นเอง
 

ในส่วนของ JAS การขาย 3BB รวมถึง JASIF ที่มีอยู่ทั้งหมดให้กับ ADVANC อาจจะดูเหมือนว่าจะทำให้ JAS ซึ่งเป็นบริษัทที่เริ่มมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาขาดรายได้มากขึ้นไปอีก 


แต่หากมองย้อนหลังกลับไปก็จะเห็นได้ว่า JAS ได้มีการเปลี่ยนสินทรัพย์มาเป็นเงินสด...และนำเงินสดที่ได้มาแจกเป็นปันผลให้กับผู้ถือหุ้นมาโดยตลอด โดยพบว่าที่ผ่านมา JAS ได้มีการปันผลให้กับผู้ถือหุ้นออกมาแล้วเป็นเงินกว่า 42,914 ล้านบาท 


ขณะที่หากมีการนับเอารายได้ที่มาจากการขายทั้ง 3BB และ JASIF รวมเข้าไปด้วยก็จะทำให้เงินปันผลที่ JAS จะจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นในอนาคตขยับขึ้นไปถึง 75,000 บาทเลยทีเดียว 


ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจแปลงสินทรัพย์เป็นเงินปันผลคือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีชื่อ “พิชญ์ โพธารามิก” ซึ่งถือหุ้น JAS อยู่ถึง 53% เพราะกำไรจากการดำเนินกิจการมันน้อยและได้ช้ากว่าการขายของเอามาแจกเป็นปันผลมากนั่นเองเจ้าค่ะ 


หน้าที่ 13  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,798 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2565