เปิดศึกซักฟอกรัฐบาล บริหารเศรษฐกิจ ล้มเหลว

17 ก.พ. 2565 | 02:00 น.

รายงาน ซักฟอกรัฐบาล

"เศรษฐกิจตกต่ำและทรุดตัวมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีการยึดอำนาจจนถึงการบริหารของรัฐบาลปัจจุบัน"

 

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 17-18 ก.พ.2565  “รัฐบาลลุงตู่” จะเจอกับศึกหนัก ญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวน 173 รายชื่อ ได้ยื่นอภิปรายเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะรัฐบาล ซึ่งเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา 

 



 

นายกฯ+4รมต.ขึ้นเขียง

สำหรับประเด็นที่จะอภิปรายมี 4 เรื่องใหญ่ คือ 1.วิกฤติเศรษฐกิจในยุคข้าวของแพง ค่าแรงถูก แพงทั้งแผ่นดิน 2.วิกฤติโรคระบาดทั้งโควิด-19 และโรคระบาด ASF ในสุกร 3.วิกฤติการเมือง ปฏิรูปการเมืองที่ล้มเหลว 4.วิกฤติล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน ไร้ประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดปัญหามากมาย


การอภิปราย 2 วัน ได้กำหนดเวลาอภิปรายไว้ 30 ชั่วโมง แบ่งเป็นฝ่ายค้าน 22 ชั่วโมง รัฐบาลได้เวลาชี้แจง 8 ชั่วโม

ทั้งนี้ ตามญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ที่ฝ่ายค้านยื่นนั้น มี 5 รัฐมนตรีที่อยู่ในข่ายถูกอภิปราย ประกอบด้วย 


1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม


2.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์


3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข


4.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย


และ 5.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์


ถล่มแก้ศก.ล้มเหลว

สำหรับญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ที่ฝ่ายค้านได้ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร นั้น หนังสือระบุตอนหนึ่งว่า ปรากฏข้อเท็จจริงว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างรุนแรงที่เข้าทำนอง “ข้าวของแพง ค่าแรงถูก”


อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลวผิดพลาดในทุกด้านของรัฐบาลนี้ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ตกต่ำและทรุดตัวมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีการยึดอำนาจจนถึงการบริหารของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งเป็นรัฐบาลเดียวกัน มีการก่อหนี้สาธารณะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จนต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะ ขณะที่หนี้ครัวเรือนของประชาชนและอัตราการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ก็สูงขึ้น


เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อกว่า 2 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 20,000 คน ขณะที่มาตรการป้องกันและแก้ปัญหาก็ไม่มีความชัดเจนแน่นอนกลับไปกลับมา ยิ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศดิ่งเหว การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง 


ขณะที่รัฐบาลไม่มีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสมประชาชนทุกสาขาอาชีพได้รับความเดือดร้อนอย่างถ้วนหน้า การจัดหาวัคซีนเพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนก็ล่าช้าไร้ประสิทธิภาพ


ต่อมาก็เกิดการแพร่ระบาดของโรคระบาดในสัตว์ รวมทั้งเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรด้วย ทำให้สุกรขาดตลาดและเนื้อสุกรมีราคาสูงขึ้นมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่รัฐบาลกลับปกปิดข้อมูลการระบาดของโรค จนทำให้การแพร่ระบาดกระจายไปทั่วประเทศ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรได้รับความเสียหายและเดือดร้อนในวงกว้าง


ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว กลับมีข้อมูลว่า มีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนรายใหญ่ อันเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้กับประชาชน การแก้ปัญหาโรคระบาดทั้งในคนและสัตว์ ขาดองค์ความรู้และภูมิปัญญา เน้นแก้ปัญหารายวัน


ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ก็ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลกระทบและความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีมาตรการที่จะควบคุมและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ


จัดคิว 6 หัวหน้าพรรคถล่ม 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติว่า จะเริ่มต้นด้วยหัวหน้าพรรคแต่ละพรรค เรียงลำดับดังนี้ 


1.นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย 2.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล 3.พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย 4.พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ 5.นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ และ 6.นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพลังปวงชนไทย


สำหรับเนื้อหาการอภิปรายจะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม 1.เศรษฐกิจปากท้อง 2.ปัญหาโรคระบาดต่างๆ 3.ปัญหาการเมืองการทุจริตคอร์รัปชัน และ 4.เรื่องอื่นๆ โดยในช่วงค่ำของวันที่ 18 ก.พ. นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) จะอภิปรายสรุปปิดท้าย


ตั้ง 6 ข้อให้รัฐบาลตอบ 

นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ระบุว่า ได้รับจัดสรรเวลาให้อภิปราย จำนวน 30 นาที โดยมี 6 ประเด็นที่จะอภิปราย ได้แก่ 1.การทุจริตขึ้นราคาหมู ที่กลุ่มนายทุน ผู้มีอำนาจติดตามราคาเนื้อหมู และคนใกล้ชิดนักการเมืองได้รับประโชยน์  


2.ประสิทธิภาพบริหารงานของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ต่อการกำกับราคาพลังงาน  ราคาน้ำมัน และแก๊สหุงต้ม
 

3.การจัดซื้อวิทยุสื่อสารของกระทรวงมหาดไทย จำนวน 75,986 ชุด พร้อมอุปกรณ์มาตรฐาน 145 ชุด 


4.กรณีที่รัฐบาลมอบหมายให้บริษัทโทรคมนาคม  เป็นผู้ดำเนินการ จัดสัมปทานดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6ที่ไม่มีการประมูล


5.ค่าธรรมเนียมการต่ออายุของแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในไทย เนื่องจากพบว่ามีการเรียกจ่ายเงินคนละ 7,500-8,000 บาทต่อคน โดยมีนายหน้าชาวเมียนมาและเจ้าหน้าที่ไทยร่วมกันดำเนินการ


และ 6.กรณีกระทรวงอุตสาหกรรมรับรองให้ร้านสะดวกซื้อดำเนินการเป็นร้านค้าที่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ได้ แต่ร้านค้าโชห่วยกลับไม่ได้รับการรับรองมอก.จะทำอย่างไร 


"หากเรื่องใดที่มีหลักฐานมากพอ ผมจะยื่นให้กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อไป แม้ว่าการอภิปรายครั้งนี้จะไม่มีการลงมติ แต่ก็สามารถดำเนินคดีต่อไปได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตโดยมิชอบ”  นายมงคลกิตติ์ ระบุ


 

วิปรัฐบาลตั้งทีมมอร์นิเตอร์ 

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของฝั่งรัฐบาล ว่า  วิปรัฐบาลได้หารือและมีข้อสรุปร่วมกัน ว่า จะเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้อภิปรายตามญัตติที่เสนอต่อสภาฯ เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน 


สำหรับการชี้แจงของรัฐมนตรี ที่บางเรื่องอาจเป็นข้อมูลเชิงลึกและมีรายละเอียดที่ไม่สามารถเปิดเผยผ่านที่ประชุมสภาฯ ได้ วิปรัฐบาล ได้หารือว่าจะให้ทีมโฆษกรัฐบาล และวิปรัฐบาล ชี้แจงรายละเอียดแต่ละประเด็นภายหลังการอภิปราย เพื่อให้ประชาชนได้รับความเข้าใจที่ถูกต้องและเกิดประโยชน์ 


สำหรับตัวแทนวิปรัฐบาลที่จะคอยพิจารณาประเด็นนั้น ประกอบ ด้วย ตน, นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานวิปรัฐบาล, นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ, นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย เป็นต้น


“ทีมวิปรัฐบาลนี้ ไม่ใช่ทีมตอบโต้นอกสภา แต่จะทำหน้าที่ติดตามและมอนิเตอร์ประเด็นว่า เรื่องใด หรือมีข้อมูลใดควรเผยแพร่เพิ่มเติม หรือ คู่ขนานจากสิ่งที่รัฐมนตรีได้ชี้แจง ในเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้สังคมเกิดขึ้นเข้าใจ ทั้งนี้เชื่อว่าในการชี้แจงระหว่างการประชุมสภาฯ รัฐมนตรีทุกคนสามารถชี้แจงและตอบคำถามได้” นายชินวรณ์ ระบุ