จับกุมล่าช้า-จับกุมผิดตัว ฟ้องศาลไหน?

12 ก.พ. 2565 | 23:25 น.

จับกุมล่าช้า-จับกุมผิดตัว ฟ้องศาลไหน? : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,757 หน้า 5 วันที่ 13 - 16 กุมภาพันธ์ 2565

 

คดีที่คุยกันในวันนี้ ... มีประเด็นน่าสนใจกรณีเจ้าหน้าที่ ตำรวจปฏิบัติหน้าที่จับกุมผู้ต้องหาล่าช้า หรือจับกุมผู้ต้องหาผิดตัว ผู้เสียหายจะต้องยื่นฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายต่อศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม? 

 

หลายท่านอาจเคยสงสัยว่า ... การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทหนึ่ง ถือเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง ที่หากเกิดข้อพิพาทขึ้นจะเป็นคดีปกครองและอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองหรือไม่? วันนี้ ... มีตัวอย่างคดีมาไขข้อข้องใจดังกล่าวครับ 

 

คดีแรก ผู้ฟ้องคดีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัว โดยหมายจับได้ออกมาตั้งแต่ 8 ปีก่อน ทั้งที่ระหว่างนั้นได้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกลางตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดในอีกคดีหนึ่ง ซึ่งสามารถขออายัดตัวเพื่อไปดำเนินคดีได้ เพราะเหตุเกิดในท้องที่เดียวกัน รวมทั้งหมายจับก็ขออนุมัติจากศาลจังหวัดเดียวกัน การจับกุมล่าช้าทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียสิทธิในการต่อสู้คดีในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา พยานบุคคลบางคนเสียชีวิตหรือย้ายภูมิลำเนาทำให้ยากแก่การติดตามตัว 

 

 

คดีที่สอง ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เคราะห์ร้ายที่มีใบหน้าคล้ายคลึงกับคนร้าย จึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวไปตามหมายศาล แต่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้ต้องหาตามหมายจับนั้น ทำให้ต้องเสียค่าทนายสู้คดีและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ผู้เสียหายทั้งสองจึงยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ตน 

 

 

จับกุมล่าช้า-จับกุมผิดตัว ฟ้องศาลไหน?

 

 

 

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า ขั้นตอนการจับกุมตัวผู้ต้องหาเพื่อนำตัวส่งฟ้องต่อศาลยุติธรรม เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ อันไม่ใช่การใช้อำนาจทางปกครองที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คร. ๑๘๐/๒๕๖๓ และ ที่ คผ. ๘๓/๒๕๖๐)

 

 

สรุปได้ว่า กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาล่าช้าหรือจับกุมผู้ต้องหาผิดตัว เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ย่อมอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม เพราะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิใช่การใช้อำนาจทางปกครองที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ... นั่นเองครับ

 

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสามารถศึกษาข้อมูลการใช้ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ ระบบบริการปรึกษาคดีปกครองออนไลน์ ได้ที่หน้าเว็บไซต์ของศาลปกครอง www.admincourt.go.th รวมทั้งยังสามารถขอคัดสำเนาคำพิพากษาและคำสั่งของศาลปกครองผ่านแอปพลิเคชัน “ศาลปกครอง” ได้อีกด้วย โดยผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ศาลปกครองเช่นกันครับ)