มีเรื่องให้ทุกข์อีกเยอะ

18 ม.ค. 2565 | 18:11 น.

ผ่านมาสองปีกว่า ๆ ที่โลกหยุดชะงักจากมนต์สะกดของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ความทุกข์ยากเกิดขึ้นทั่วหน้าและเกือบทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบจากเชื้อร้ายนี้ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

และดูเหมือนว่าเรากำลังคุ้นชินและเริ่มจะเข้าใจว่าเราสามารถอยู่ร่วมกับเจ้าโควิดได้ในโลกใบนี้เหมือนกับไวรัสตัวอื่น ๆ ที่เราเคยตกใจและหวาดกลัวมาก่อน และกลายเป็นสิ่งปกติในชีวิตประจำวันของเราในวันนี้

 

 

แม้ว่าเราพอจะทำใจกับเจ้าโควิดได้ แต่สิ่งที่ท้าทายสำหรับเศรษฐกิจโลกและมีผลต่อเนื่องจากโควิดที่เรากำลังจะเจอในปีใหม่นี้ ก็คือสถานการณ์ที่ “อัตราเงินเฟ้อสูง”

 

 

ในขณะที่เศรษฐกิจโลกมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำ หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Stagflation โดยเฉพาะประเทศที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศในยุโรป รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น ที่ตอนนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ราว 5-6% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบหลาย ๆ ปี ในขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็อยู่ประมาณ 1-2% ต่ำกว่าที่คาดไว้อย่างมาก

 

 

 

คำว่าอัตราเงินเฟ้อก็หมายถึงการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้าทั่วไปในตลาดซึ่งตามหลักการแล้วราคาสินค้าทั่วไปจะเพิ่มขึ้นนั้นมาจากสองด้านใหญ่ใหญ่ก็คือ ทางด้านอุปสงค์และอุปทาน

ทางด้านอุปสงค์หรือจากความต้องการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนนั้นจะเกิดจากการที่เศรษฐกิจโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้ความต้องการใช้จ่ายของบุคคลสูงขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลายประเทศในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา พยายามที่จะอยู่กับโควิดให้ได้เป็นปกติ ผู้คนออกมาใช้ชีวิตเหมือนที่เคยเป็น ส่งผลทำให้ความต้องการใช้จ่ายกลับมาสูงขึ้น ส่งผลต่อความต้องการสินค้าที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

 

 

ในขณะเดียวกันนั้นทางด้านอุปทานที่เป็นด้านการผลิตและการบริการก็กำลังฟื้นตัวหลังจากที่ต้องหยุดหรือชะงักงันไปในช่วงโควิด แต่การฟื้นตัวของการผลิตและการบริการไม่ได้ทำได้อย่างรวดเร็วทันกับการฟื้นตัวทางด้านอุปสงค์ ส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้า

 

 

นอกจากนี้ ปัญหาการฟื้นตัวการบริการทางด้านโลจิสติกส์และการผลิตในห่วงโซ่อุปทานที่ฟื้นตัวไม่ทันกับอุปสงค์ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอย่างมากในระยะสั้น 

 

 

ซึ่งคาดว่าปัญหานี้ยังคงอยู่ในระบบเศรษฐกิจอย่างน้อยอีกปีหรือสองปีข้างหน้า โดยต้นทุนทั้งหมดเหล่านี้ถูกส่งต่อไปยังราคาสินค้าในตลาดให้สูงขึ้น ล่าสุดดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) สูงขึ้นถึง 9.5% ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบหลายสิบปี และต้นทุนเหล่านี้ถูกผลักไปสู่ผู้บริโภคเกือบทั้งหมด

แน่นอนครับ ผมเชื่อว่าธนาคารกลางของทุกประเทศก็คงมีวิธีการจัดการกับเงินเฟ้อลักษณะนี้ โดยวิธีการเหมือน ๆ กัน คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งก็เป็นไปตามหลักทฤษฎี เพราะเงินเฟ้อประเภทนี้ นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นเงินเฟ้อชั่วคราวที่มีผลมาจากต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นสถานการณ์ระยะสั้น 

 

 

ดังนั้น การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจะช่วยชะลออุปสงค์ไม่ให้พุ่งขึ้นมากและช่วยกดราคาสินค้าลงไปได้บ้าง รวมทั้งป้องกัน การเคลื่อนย้ายเงินทุน ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน และความยุ่งยากในการดูแลเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศมากขึ้น

 

 

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการแบบนี้แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะธนาคารกลางอยากจะทำ แต่ในโลกความเป็นจริงก็ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะในบ้านเรา เพราะนักการเมืองรู้ดีว่าแม้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยป้องกันความยุ่งยากและซับซ้อนของเศรษฐกิจในภาพรวมได้บ้าง 

 

 

แต่การกดให้อุปสงค์รวมลดลงนั้น จะส่งผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ซึ่งนักการเมืองส่วนใหญ่จะสนใจผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจในระยะสั้น และมองว่าอัตราการขยายตัวคือตัวชี้วัดความสำเร็จในการบริหารเศรษฐกิจของตนเอง ดังนั้นเราคงจะเห็นความขัดแย้งระหว่างธนาคารกลางกับกระทรวงการคลังในเร็ว ๆ นี้แน่ ๆ

 

 

 

ว่าไปแล้วประเทศไทยโชคดีที่เราเป็นประเทศพึ่งพิงอาหารจากต่างประเทศน้อยมาก เลยทำให้อัตราเงินเฟ้อ ในประเทศไทยมีอัตราต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ (ตอนนี้ ราวประมาณ 3%)

 

 

ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ จะวัดจากระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นและถ่วงน้ำหนักด้วยสัดส่วนการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ซึ่งรายการสินค้าส่วนใหญ่ที่มีสัดส่วนสูงในการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยคือ หมวดอาหารและพลังงาน 
ซึ่งประเทศไทยโชคดีที่อาหารของเรานั้น เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศทำให้ราคาสินค้าไม่ผันผวนไปกับราคาสินค้าของโลก

 

 

ส่วนหมวดพลังงานนั้น โครงสร้างราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่าย ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าถูกแทรกแซงโดยนโยบายสารพัด ซึ่งทำให้ระดับราคาไม่ได้สูงตามแนวโน้มของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทะลุ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลไปแล้วแม้ว่าประเทศไทยจะนำเข้าน้ำมันดิบก็ตาม

 

 

การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อธุรกิจอย่างมาก ทั้งทางด้านต้นทุนและการจับจ่าย ใช้สอยของผู้บริโภค ความกังวลจากการระบาดไวรัสยังไม่จาง ยังมาเรื่องต้นทุนสูง เป็นเหมือนทุกข์ซ้ำ ทุกข์ซ้อน ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้การคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจโลกในปี 2565 อยู่ที่ 4% ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิม 5.5% และลามไปถึงปี 2566 ที่จะขยายตัวลดลงเหลือ 3% ในขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็น 5.5%

 

 

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งค่าบริการ ต้นทุนทางการเงิน และผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ต้องมองกลยุทธ์ของธุรกิจของตนให้ขาดทั้งกลุ่มลูกค้า ผลิตภัณฑ์ที่ตลาดให้ตรงกับกลุ่มลูกค้า เพราะต่อไปนี้ กลยุทธ์การใช้ราคาเป็นเครื่องมือที่จะทำให้มีแต่เจ็บตัวเท่านั้น ไม่ว่าจะผลักภาระต้นทุนสูงให้กับผู้บริโภคโดยขึ้นราคา หรือกัดฟันลดราคา ยิ่งไปกันใหญ่ 

 

 

ผมว่าวันนี้ เราต้องหันมามองกลยุทธ์การสร้างสินค้าและบริการให้ลูกค้ารู้สึกถึง “ความคุ้มค่า” คุ้มค่ากับเงินที่เขาจ่ายให้เรา น่าจะช่วยให้เราฝ่าพายุเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและเงินเฟ้อสูงในปีหน้าได้

 

 

 

สถานการณ์เงินเฟ้อนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการแต่ละรายไม่สามารถควบคุมได้ แต่การปรับตัวให้อยู่กับสถานการณ์เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะทำได้ ซึ่งผมว่าเราจำต้องมองที่กลยุทธ์ในการสร้างความคุ้มค่าในความรู้สึกของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าและบริการของเราให้ได้ ซึ่งความคุ้มค่านั้นมาจากรสนิยม และความต้องการที่ต่างกันของลูกค้าแต่ละคน 

 

 

การจัดกลุ่มลูกค้าและออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงใจและความชอบของลูกค้าเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะออกมาเป็นแบบไหนนั้นก็เป็นไปตามจริตและความชอบของลูกค้าเป้าหมายของเรา ที่ผ่านมา ก็พอมีให้เห็น เช่น แม่ค้าสาวสวย ๆ แต่งตัวขายของจนเจ้าหน้าที่วัฒนธรรมจังหวัดต้องมีงานทำ

 

 

แต่ผมไม่แนะนำนะครับ แม้ว่าจะแอบนับถือในใจก็ตาม ผมว่ายังมีหลายวิธีครับที่จะสร้างสิ่งที่เกินคาดหวังและคุ้มค่าให้กับลูกค้า ซึ่งก็เป็นสิ่งที่วัดฝีมือของผู้ประกอบการแต่ละคนว่ามองธุรกิจและลูกค้าของตนเองขาดได้มากน้อยเพียงใด