สิทธิของผู้อยู่อาศัย... เมื่อมีสนามบินมาตั้งอยู่ใกล้บ้าน!

09 ม.ค. 2565 | 04:00 น.

สิทธิของผู้อยู่อาศัย...เมื่อมีสนามบินมาตั้งอยู่ใกล้บ้าน! : คอลัมน์ อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,747 หน้า 5 วันที่ 9 - 12 มกราคม 2565

เมื่ออยู่ๆ... ก็มีสนามบินมาตั้งอยู่ใกล้บ้าน คงไม่สนุกเป็นแน่... เพราะต้องเผชิญกับปัญหามลพิษต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะมลพิษทางเสียงที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ รบกวนความเป็นอยู่อย่างปกติสุข จนทำให้เกิดความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ 

 

วันนี้... นายปกครองก็ได้หยิบยกอุทาหรณ์จากคดีปกครอง กรณีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษทางเสียง จากการดำเนินกิจการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และแนวทางการแก้ไขเยียวยาของหน่วยงานภาครัฐมาฝากกันครับ 

 

คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีมีบ้านพักอาศัยอยู่ที่แขวงคลองสามประเวศ เขตลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โดยอาศัยอยู่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ต่อมาได้มีการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิขึ้นและเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 ทำให้บ้านของผู้ฟ้องคดีต้องอยู่ใกล้กับสนามบินไปโดยปริยาย

 

ซึ่งจากรายงานการวิเคราะห์ผล กระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) พบว่า บ้านของผู้ฟ้องคดีอยู่ในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงที่ระดับ NEF มากกว่า 40 ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จึงได้เจรจาซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในราคา 6,974,173 บาท ซึ่งเป็นราคาที่รวมค่าเสียหายอื่นๆ ไว้ด้วยแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดีไม่พอใจในราคาประเมิน จึงตก ลงกันไม่ได้

 

 

กระทั่งได้มีการทดสอบการใช้สนามบินโดยที่ไม่ได้แจ้งให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทราบก่อน โดยเสียงดังจากเครื่องบินทำให้สามีของผู้ฟ้องคดีตกใจจนตกจากเก้าอี้กระแทกพื้นมีแผลที่แขนจนเกิดการติดเชื้อและต่อมาได้เสียชีวิตลง อีกทั้งการเปิดใช้ท่าอากาศยานดังกล่าวได้ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียงและเหตุเดือดร้อนรำคาญ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ฟ้องคดีและคนในครอบครัวยํ่าแย่จึงฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้บริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ซื้อบ้านและที่ดินของผู้ฟ้องคดีในราคา 10,494,620 บาท รวมทั้งให้ ชดใช้ค่ารักษาพยาบาลและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสามีของผู้ฟ้องคดีอันเป็นผลจากการดำเนินกิจการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นเงิน 5,219,283 บาท

 

สิทธิของผู้อยู่อาศัย... เมื่อมีสนามบินมาตั้งอยู่ใกล้บ้าน!

 

คดีมีประเด็นที่น่าสนใจว่า เมื่อบริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ ได้เจรจาขอซื้อบ้านและที่ดินของผู้ฟ้องคดีแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ยอมขายเนื่องจากไม่พอใจในราคาประเมิน กรณีเช่นนี้ บริษัทฯจะต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายอันเกิดจากการดำเนินกิจการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่? เพียงใด? ไปดูคำวินิจฉัยของศาลปกครองกันเลยครับ!

 

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อบ้านของผู้ฟ้องคดีอยู่ในเขตเส้นเสียงที่ระดับ NEF มากกว่า 40 ซึ่ง อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทางเสียงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถอยู่อาศัยในบ้านโดยปกติสุขเช่นเดิม ถือได้ว่าการดำเนินกิจการดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ฟ้องคดีโดยตรง 

 

 

แม้บริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ จะมีฐานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด (จัดทำบริการสาธารณะที่แสวงหาผลกำไรด้วย) แต่ก็ยังมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 โดยจะต้องเจรจาจัดซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของผู้ฟ้องคดี โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีการหักค่าเสื่อมราคา และบวกเพิ่มค่าการตลาด (สูงสุดร้อยละ 30) ซึ่งเป็นการกำหนดหลักการชดเชยความเสียหายเพื่อกลับคืนสู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียงกับสภาพเดิม โดยคำนึงถึงความเดือดร้อนเสียหายของประชาชนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง และถือได้ว่าสอดคล้องกับหลักเกณฑ์กำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนเพื่อกิจการของรัฐตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530

 

บริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ จึงต้องชดใช้ความเสียหายโดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินราคาตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว รวมทั้งค่าทดแทนความเสียหายจากการย้ายที่อยู่ให้แก่ผู้ฟ้องคดี รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นจำนวน 7,790,812.07 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 28 กันยายน 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

 

ส่วนค่าสินไหมทดแทนการรักษาพยาบาลสามีของผู้ฟ้องคดี นั้น ศาลเห็นว่า เสียงเครื่องบินที่ดังกะทันหันย่อมทำให้เกิดความตกใจได้ อีกทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนที่มีบ้านอยู่ในแนวเส้นทางที่เครื่องบินขึ้นลงทราบถึงการทดลองใช้สนามบิน ถือได้ว่าเป็นการไม่ระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ อันเป็นการประมาทเลินเล่อ

 

เมื่อสามีของผู้ฟ้องคดีตกใจเสียงเครื่องบินจนตกเก้าอี้ได้รับบาดเจ็บและเกิดอาการติดเชื้อ จึงถือเป็นความเสียหายโดยตรง ที่เกิดจากการกระทำละเมิดของบริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 ที่ต้องรับผิดชดใช้ค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ฟ้องคดีจำนวน 33,644 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ส่วนการเสียชีวิตของสามีผู้ฟ้องคดีนั้น พบว่าเกิดจากปอดอักเสบติดเชื้อและโรคมะเร็งปอด จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายในส่วนการเสียชีวิตดังกล่าว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 7/2564) 

 

คดีนี้ ... กล่าวได้ว่าศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักปฏิบัติราชการที่ดีให้แก่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐในการจัดทำบริการสาธารณะ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยตรงดังเช่นกรณีตามพิพาทซึ่งหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องแก้ไขเยียวยาหรือชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบให้กลับคืนสู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียงกับสภาพเดิม ตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ นอกจากนี้... ในการดำเนินกิจการที่จะส่งผลกระทบหรืออาจเกิดอันตรายแก่ประชาชน เช่น เสียงดังจากการทดลองใช้สนามบิน ผู้มีหน้าที่ควรประกาศแจ้งเตือนให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบทราบก่อน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นในคดีนี้นะครับ

 

(ปรึกษาคดีปกครองและการ ฟ้องคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และ www.admincourt.go.th)